ภาพโดย OpenClipart-Vectors จาก Pixabay Tennis Elbow ..ใคร ๆ ก็มีได้ หากฟังดูผ่าน ๆ แล้วคำว่า ‘Tennis Elbow’ คงเป็นคำที่ดูน่ารักดี ข้อศอกนักเทนนิสคือชื่อที่ฟังดูไม่รุนแรงและไร้พิษสง แต่ในความเป็นจริงแล้ว Tennis Elbow นั้นเป็นอีกโรคหนึ่งที่ร้ายแรงและสร้างความเจ็บปวดได้ไม่น้อย Tennis Elbow นั้นเกิดขึ้นจากการอักเสบของเอ็นข้อต่อบริเวณข้อศอกด้านนอกซึ่งเป็นจุดที่ต่อกันระหว่างกระดูกแขน 3 ขิ้น คือ humerus ที่เป็นกระดูกท่อนแขนส่วนบน กับ radius และ ulna ที่เป็นกระดูกท่อนแขนส่วนล่าง ซึ่งมันไม่ใช่เพียงแต่โรคนี้ แต่สามารถเกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณศอกด้านในได้ด้วยเช่นกัน โดยจะถูกเรียกว่า โรคข้อศอกนักกอล์ฟ Golfer’s elbow ภาพโดย IAOM-US จาก Pixabay Tennis Elbow มักเกิดจากท่าทีการสะบัดข้อมือแรง ๆ บ่อย ๆ ติดต่อกันซ้ำ ๆ และจะเกิดขึ้นได้มากขึ้น หากขาดการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เพียงพอ การบาดเจ็บนั้นจะพบได้ที่ข้อศอกด้านนอกมากกว่าข้อศอกด้านใน เพราะส่วนมากอิริยาบถในการเล่นกีฬานั้นมักจะทำให้เกิดการสะบัดข้อมือและการเหยียดนิ้ว ซึ่งมีจุดกำเนิดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องบริเวณปุ่มกระดูกที่ข้อศอกด้านนอกมากกว่าด้านใน ด้วยความที่กล้ามเนื้อในบริเวณศอกด้านนอกนั้นมักจะไม่แข็งแรงนักจึงอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้โดยง่าย นักกีฬาจึงจำเป็นต้องหมั่นเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณนี้ให้แข็งแรง เพื่อก่อให้เกิดทักษะในการแข่งขันร่วมด้วย ภาพโดย Анастасия Гепп จาก Pixabay สาเหตุ 1. การใช้งานกล้ามเนื้อในการออกแรงบริเวณมือจนถึงศอกมากเกินไป 2.พฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะกับนักเทนนิส แต่พฤติกรรมอื่น ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น บิดผ้า วาดภาพ สีไวโอลีน 3.อายุที่มักพบคือ 30-50 ปี แม้ว่าจะสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัยที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็ตาม อายุก็ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย อาการ - หลัก ๆ คือ มีอาการปวดแบบปวดแสบปวดร้อนหรืออาการบวมที่บริเวณศอกด้านนอก ซึ่งอาจจะเจ็บปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นต้นกำเนิดของอาการได้ เช่น การถือของ การยกของ - เจ็บบริเวณปุ่มกระดูกของข้อศอกด้านนอก เมื่อต้องกระดกมือขึ้นหรือลง และการเกร็งกล้ามเนื้อในส่วนนั้นจะยิ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรงขึ้นได้ - มีแรงในการยึด กำ สิ่งของที่น้อย ภาพโดย Andre Mcenroe จาก Pixabay การรักษา - ควรพักผ่อนการใช้งานกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นให้น้อยลง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้นที่หนักหน่วง - รับประทานยาแก้ปวดจำพวก Non-steroid - การฉีดยาที่มีส่วนผสมของ steroid - การประคบน้ำแข็งหรือเจลทำความเย็น - การใช้อุปกรณ์ในการช่วยพยุงแขนไว้เพื่อลดการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ผิดท่าผิดทางลง อย่างที่ได้รับรู้กันไปกับข้อมูลเบื้องต้นของโรคนี้ หากใครเกิดข้อสงสัยหรือสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ให้มีการวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง รู้แบบนี้แล้วคงไม่มีใครอยากมี ‘ข้อศอกนักเทนนิส’ อยู่ในครอบครองหรอก จริงไหม?