ช่วงชีวิตที่ก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างจริงจัง ทำให้หลาย ๆ คนได้รับผลกระทบจากช่วงวัยนี้ทางเรื่องสุขภาพไม่มากก็น้อย หากในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น มีพื้นฐานทางร่างกายสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับแรงกดดัน ความเครียดและพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพในช่วงวัยทำงานอาจทำให้ร่างกายพอที่จะปรับตัวได้และไม่เจ็บป่วยได้ง่าย ๆ โดยทันที แต่หากใครที่มีสุขภาพพื้นฐานไม่ดีมาตั้งแต่ต้น ยิ่งก้าวเข้าสู่ช่วงของการทำงาน ร่างกายของเราอาจสะสมความเจ็บป่วยที่เป็นบ่อเกิดของโรคประจำตัวในวัยสูงอายุ ทำให้ต้องไปโรงพยาบาล สูญเสียเงินทองที่ใช้รักษาโรคและสูญเสียโอกาสดี ๆ ในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยร่างกายไปอีกมากมาย ขอบคุณภาพจาก : StartupStockPhotos จาก Pixabay เข้าถึงจาก https://pixabay.com/th/photos/849825/ ทำไม...เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้วจึงมีการสะสมความเจ็บป่วย ? 1. ภาวะกดดัน ความเครียดหรือภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ ในที่ทำงาน สถานที่ทำงานถือเป็นสังคมสังคมหนึ่งที่มีคนหลากหลายมารวมกัน ฉะนั้นการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมก็ย่อมต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น บางครั้งอาจลามไปถึงเรื่องส่วนตัว ทัศนคติต่าง ๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับอุดมการณ์ขององค์กร เพื่อนร่วมงาน หรือตามความต้องการของเจ้านาย หรือการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงาน เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดของภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ มากมาย หลาย ๆ คนต้องประสบกับปัญหาความเครียดสะสม จะลาออกก็ไม่ได้เพราะจำเป็นต้องมีงานเพื่อความมั่นคงของชีวิตในระยะยาว ขอบคุณภาพจาก : Lukas Bieri จาก Pixabay เข้าถึงจาก https://pixabay.com/th/photos/youtuber-2838945/ 2. ความชื่นชอบ/รักในงานที่ทำ ไม่เพียงแต่ความไม่ชอบหรือไม่ถูกใจในงานที่กำลังทำอยู่เท่านั้นที่ก่อให้เกิดการสะสมปัญหาสุขภาพ ความรักในงานที่ทำก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพที่กำลังจะตามมาเช่นกัน หลายคนทุ่มเทกับงานที่รักจนละเลยกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความมุ่งมั่นกับงานที่รัก สุดท้าย เมื่อผลงานสำเร็จดังหวัง ความเจ็บป่วยก็ได้คืบคลานเข้ามาหาเราโดยไม่ทันได้ตั้งตัว 3. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลายคนในที่ทำงาน มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารจุกจิกทั้งวัน เรียกได้ว่ามือทำงานไป ปากก็เคี้ยวไปอย่างเอร็ดอร่อย ทั้ง ๆ ที่การรับประทานอาหารระหว่างมื้อนั้น ที่จริงควรลดหรือรับประทานแต่น้อยให้พอหายหิวก่อนที่จะถึงมื้อหลัก บางคนจากที่ไม่เคยทานจุกจิกระหว่างวัน แต่เมื่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ชักชวนก็เกิดความอ่อนไหว ต้องร่วมวงรับประทานด้วยทุกที ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม หลาย ๆ คนจึงบ่นเรื่องน้ำหนักขึ้นแม้ทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญ อาหารที่รับประทานกันในหมู่คนทำงานก็มักจะไม่ค่อยมีประโยชน์ เช่น อาหารหรือผลไม้หมักดองทั้งหลาย ชานมไข่มุก ขนมหวานต่าง ๆ รับประทานแต่พอดีเพื่อผ่อนคลายความเครียดก็ไม่เป็นไร แต่การรับประทานบ่อย ๆ ย่อมสะสมทำลายสุขภาพในระยะยาวแน่นอน ขอบคุณภาพจาก : pencil parker จาก Pixabay เข้าถึงจาก https://pixabay.com/th/illustrations3042581/ นอกจากเหตุผลในข้างต้นที่ทำให้คนวัยทำงานสะสมความเจ็บป่วยแล้วก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมาก พฤติกรรมของคนวัยทำงานหรือลักษณะของงานที่บังคับให้ต้องมีพฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวแน่นอน หรือแสดงอาการของความเจ็บป่วยทันที เช่น อาการปวดศีรษะที่อาจเกิดจากปัญหาความเครียดจากที่ทำงาน ปวดหลัง เนื่องจากนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารเนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา หากคนวัยทำงานรู้จักปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมให้มีความเหมาะสม อาจยังพอรักษาสุขภาพให้ดีขึ้นได้ แต่หากปล่อยปละละเลย เมื่ออายุมากขึ้น จะต้องสะสมกลายเป็นโรคประจำตัวอย่างแน่นอน ผู้สูงอายุโดยส่วนมากมักเจ็บป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องไปโรงพยาบาลเป็นประจำ นอกจากเรื่องของช่วงวัย หรือพันธุกรรมที่มีผลทำให้เป็นโรคแล้ว ชีวิตช่วงวัยทำงานก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความเจ็บป่วยเช่นกัน ขอบคุณภาพจาก : Malachi Witt จาก Pixabay เข้าถึงจาก https://pixabay.com/th/photos/2284501/ ฉะนั้นหากใครยังอายุน้อย ๆ ก็ควรใส่ใจเรื่องสุขภาพให้มาก ๆ ในวัยทำงานก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคสะสมในร่างกาย เชื่อว่าทุกคนต้องมีหนทางแก้ไขเป็นของตัวเอง ที่สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะลงมือทำหรือไม่ต่างหาก หลาย ๆ องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีการส่งเสริมเรื่องสุขภาพให้พนักงานเป็นอย่างมาก เช่น ชวนกันออกกำลังกายตอนเช้า หรือการจัดให้มีการตรวจสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สุขภาพดีหรือไม่ล้วนเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องกระทำเอง หากใครอยากมีสุขภาพที่ดียืนยาวต้องหมั่นดูแลตัวเอง ไม่ปล่อยปละให้ชีวิตการทำงานกลืนกินชีวิตที่เหลือของเราไปจนหมดสิ้น การใช้ชีวิตควรมองถึงระยะยาว เพื่อชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคตนั่นเอง ภาพปก : Andrian Valeanu จาก Pixabay เข้าถึงจาก https://pixabay.com/th/photos/1280537/