สวัสดีค่ะ เพื่อน ๆ เราเชื่อว่าเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ไม่ตัวเองหรือคนที่เรารักกำลังประสบพบเจอกับการที่มีก้อนเนื้อบริเวณต่อมไทรอยด์อยู่แน่ๆ เราเข้าใจความรู้สึกไม่สบายใจนี้ดี วันนี้เราเลยอยากมาแชร์ประสบการณ์การตรวจเจอก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ และขั้นตอนต่างๆ ที่เราผ่านมา เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะลดความกังวล จากความไม่รู้ได้ไม่มากก็น้อยนะคะก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เราตรวจเจอก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ด้วยความบังเอิญมากๆ เนื่องจากตอนนั้นเรามีอาการหูอื้อข้างซ้ายเรื้อรังจากภูมิแพ้ แต่เนื่องด้วยตอนนั้นคุณหมอยังไม่วินิจฉัยโรคชัดเจน ทำการรักษาเบื้องต้นเกี่ยวกับภูมิแพ้ก็ไม่หาย เลยตัดสินใจทำ CT Head & Neck ซึ่งเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ศรีษะ ไปถึงช่วงคอ แต่ดันไปเจอก้อนเนื้อ 1 ก้อนบริเวณหลังต่อมไทรอยด์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับอาการหูอื้อเลยทีนี้จากที่จะมารักษาอาการหูอื้อ กลับต้องมาติดตามด้วยเรื่องก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์แทน เพราะน่าห่วงกว่า กรณีของเรา ไม่มีอาการแสดง อะไรที่บ่งบอกว่ามีก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์เลย ไม่ว่าจะเป็นการมีก้อนจนไปกดเบียดบริเวณคอทำให้จุกแน่นคอ กลืนลำบาก หรือในบางรายหากก้อนโตจนไปกดเบียดเส้นประสาทบริเวณนั้นซึ่งเป็นตัวควบคุมการทำงานของสายเสียง อาจทำให้มีเสียงแหบ สำลักน้ำหรืออาหารได้ ของเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือคลำไม่เจอเลยด้วยซ้ำ ถ้าไม่ได้ทำ CT คงไม่รู้เลยหลังจากติดตามไปสักพัก มีการตรวจแลปฮอร์โมนไทรอยด์ (ของเราฮอร์โมนไทรอยด์ปกติค่ะ) และอื่นๆ คุณหมอจึงตัดสินใจให้เราทำ Fine needle aspiration (FNA) อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนกับการใช้เข็มเจาะเข้าไปเก็บตัวอย่างเซลล์ เพื่อไปตรวจว่ามีโอกาสเป็นเนื้อดี หรือเนื้อร้าย (มะเร็งไทรอยด์) กันแน่ แต่เพื่อนๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะเจ็บมากนะคะ เพราะคุณหมอจะทำการฉีดยาชาก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้เจ็บน้อยกว่าฉีดยาชาในเหงือกก่อนถอนฟันเยอะเลย พอยาชาออกฤทธิ์แล้ว ก็เริ่มแทงเข็มได้ จังหวะนี้จะรู้สึกจุกคอหน่อย เพราะคุณหมอจะใช้เข็มกระทุ้งที่ก้อนซ้ำๆ จนได้ตัวอย่างเซลล์ออกมา ซึ่งเราจะได้เห็นขั้นตอนการทำไปพร้อมกับการดูภาพอัลตราซาวน์บนจอเลยและแล้วก็ถึงวันฟังผล ของเราสรุปออกมาว่า "Inconclusive" ซึ่งก็คือยังสรุปผลที่แน่นอนไม่ได้ว่าเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย แต่พบว่ามี Calcification หมายถึงการมีแคลเซียมมาเกาะตัวบริเวณก้อนเนื้อด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นเนื้อร้ายได้ (แต่ก็ไม่จำเป็น ต้องเป็นเนื้อร้ายเสมอไปนะคะ)จากนั้นเราก็ติดตามขนาดก้อนเนื้อมาเรื่อยๆ พบว่ามีขนาดโตขึ้นเล็กน้อยในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ร่วมกับผลจากการทำ FNA ยังสรุปไม่ได้ และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น Calcification ทำให้ตัดสินใจผ่าตัดเอาก้อนเนื้ออก (ส่วนนี้เพื่อนๆ สามารถสอบถามคุณหมอถึงแนวทางการรักษาได้เต็มที่เลยนะคะ ถามจนเราสบายใจเลยค่ะ คุณหมอเค้ายินดีอธิบายแน่นอน) ซึ่งก็ใช้ระยะเวลารอคิวผ่าตัดหลักเดือนเลย ก่อนผ่าตัดก็จะมีการนัดมาตรวจร่างกายเบื้องต้น และแล้วก็ถึงวันผ่าตัดค่ะ แพทย์จะทำการดมยาสลบ สูดยาไม่ถึง 3 ครั้งก็สลบไม่รู้เรื่องเลย ของเราเป็นการผ่าตัดบริเวณคอ โดยจะตัดเอาก้อนเนื้อและบริเวณส่วนเกินโดยรอบซึ่งก็คือต่อมไทรอยด์ออกมาด้วยครึ่งต่อมเลย ระยะเวลาผ่าตัดจะประมาณ 1 ชม. ตื่นมาเพื่อนๆ ก็จะเจอ ผ้าปิดแผลที่คอขนาดใหญ่ พร้อมกับถุงระบายเลือดและน้ำเหลืองบริเวณคอ ระหว่างนี้จะรู้สึกเจ็บที่แผล ขยับตัวยากหน่อยในช่วงแรกๆ สามารถแจ้งคุณหมอเพื่อขอยาแก้ปวดได้ค่ะ จะมีอาการไอ และมีเสมหะเป็นเรื่องปกตินะคะ เพราะเราเพิ่งใส่ท่อช่วยหายใจมา ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลจะประมาณ 4-5 วัน คือจนกว่าจะระบายเลือดและน้ำเหลืองออกมาจนแห้งดีนั่นแหละ ทีนี้ก่อนกลับบ้านแพทย์ก็จะทำการดึงสาย drain ที่คอออก เราไม่เจ็บเพราะฉีดยาแก้ปวดก่อน แค่รู้สึกครืดๆ ที่คอตอนดึงนิดหน่อยแต่ความกังวลเรื่องก้อนเนื้อยังไม่หายไปนะคะ เรารอฟังผลชิ้นเนื้อ 7 วัน ของเราพบว่าเป็นเนื้อดี ซึ่งถ้าเป็นเนื้อร้าย เราก็ทำใจไว้แล้วว่าต้องกลืนแร่รังสี แล้วก็ผ่าอีกรอบเพื่อเอาต่อมไทรอยด์ออกมาทั้งหมดพูดถึงอาการแทรกซ้อนคุณหมอแจ้งว่าแทบไม่มีเลย ถ้าเกิดขึ้นโดยทั่วไป อาจจะรู้สึกเสียงแหบนิดหน่อย เสียงกลับมาปกติภายใน 1-2 เดือน แต่เราดันเป็นคนซวยส่วนน้อยค่ะ อย่างที่เราเกริ่นไปว่า เรามีก้อนเนื้อที่บริเวณหลังต่อมไทรอยด์ ซึ่งใกล้กับเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของสายเสียง คุณหมอเรายืนยันว่าไม่ได้ผ่าตัดโดนเส้นประสาทนั้นเลย แต่ก็นั่นแหละด้วยความที่มันอยู่ใกล้กัน อาจกระทบกระเทือนได้บ้าง ผลก็คือมันทำให้เราออกเสียงแทบไม่ได้เลย กลืนน้ำก็สำลัก กลืนอาหารก็ต้องระวังสำลัก เนื่องจากสายเสียงเราทำงานผิดปกติ ระหว่างนี้ก็จะได้ทานยา Steroid เพื่อลดการอักเสบของเส้นเสียง และ vitamin B บำรุงปลายประสาท โดยอาการสำลักเราหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์หลังผ่าค่ะ แต่เสียงของเราก็ค่อยๆดีขึ้น แต่กว่าจะกลับมาเกือบ 100% ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเลยนอกจากนี้ยังมีอาการที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหลังผ่า ก็คืออาการชาตั้งแต่ช่วงคอ ถึงครึ่งแก้ม ชาเหมือนโดนฉีดยาชาอยู่ตลอดเวลา อาการนี้ในเคสเราเป็นนาน 6 เดือน - 1 ปีค่ะ ถึงจะรู้สึกกลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ ให้ไปพบแพทย์ แจ้งอาการ รับวิตามิน B มาทานบำรุงปลายประสาท และรอเวลาอย่างเดียวเลยค่ะต่อมาก็จะมาพูดถึงการดูแลรอยแผลเป็นหลังตัดไหม ในช่วงแรกเราจะใช้ Silicone gel sheet ปิดทับบริเวณที่เป็นเพื่อป้องกันแผลนูนคีลอยด์ ตามคำแนะนำจากงานวิจัยให้ใช้นานถึง 3-12 เดือน (หรือดูตามหน้ากล่อง) ของเราพยายามแปะตลอดทั้งวัน นาน 3-4 เดือน พอแน่ใจว่าแผลไม่นูนแล้ว เราใช้เจลลดรอยแผลเป็นมาทาต่อเพื่อให้รอยจางลงค่ะ ทาเรื่อยๆ เป็นปีๆ อารมณ์เหมือนใช้ครีมทาผิวหน้า เวลาไปพบปะพูดคุยกับใครใหม่ๆ แทบไม่มีใครสังเกตเห็นรอยเลยค่ะหลังผ่าตัดเราก็ติดตามดูค่าแลปฮอร์โมนไทรอยด์กับแพทย์ต่อ ของเราแลปปกติดี เลยไม่ต้องทานยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการที่เรายังเหลือต่อมไทรอยด์เหลืออีกครึ่งนึงนั้นเพียงพอต่อการสร้างฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติอยู่แล้วค่ะถึงเพื่อนๆ ทุกคนที่กำลังผ่านช่วงเวลานี้อยู่ เราขอเป็นกำลังใจให้นะคะ เราเข้าใจเลยว่ามันรู้สึกแย่มาก แต่ขอให้เพื่อนๆ โฟกัสไปทีละขั้นตอน ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด กินดี นอนดี อยากให้รู้สึกขอบคุณที่แต่ละวันอาการเราดีขึ้น ฟื้นตัวมากขึ้น ขอให้หายไวๆ นะคะ ภาพจาก Pixabay โดย Mohamed_hassanภาพจาก Pixabay โดย sasintภาพประกอบที่ 3 และ 4 โดยนักเขียนอยากผอมหุ่นดี อยากมีซิกแพค หาอินสปายลดน้ำหนัก เข้าร่วมด่วนที่ฟิตแอนด์เฟิร์มคอมมูนิตี้