หลังจากที่เราได้ฟังเพลง "My mind and me" ของนักร้องชื่อดังอย่าง Selena Gomez มันทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในมุมมองของเราขึ้นมา จากประสบการณ์เรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่เราได้เรียนรู้และพบเจอตลอดระยะเวลาที่ต้องอยู่กับโรคนี้ค่ะ ก่อนอื่นเราขอแจ้งให้ทุกคนทราบตรงนี้เลยนะคะว่าเราไม่ใช่บุคลาการทางการแพทย์แต่อย่างใด เราเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ ทั่วไปที่ต้องหาเช้ากินค่ำเพื่อเอาเงินมารักษาตัวเองค่ะ เราเขียนบทความนี้ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเป็นกำลังใจเล็ก ๆ ให้ใครสักคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกันกับเราหรือปัญหาที่คล้ายกันกับเรา อยากทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวและกำลังต่อสู้อยู่คนเดียวบนโลกที่โหดร้ายใบนี้ ต่อจากนี้ไปเราจะขอเริ่มกิจกรรม Q&A นะคะ กิจกรรมนี้จะทำให้ทุกคนเห็นโรคซึมเศร้าจากมุมมองของเราค่ะ เราตั้งคำถามให้ตัวเองและพยายามคิดคำตอบที่แทนใจเราได้มากที่สุด ส่วนที่บอกว่าเป็น Random ถามเองตอบเองคือเราอยากจะพูดเรื่องไหนเราก็หยิบหัวข้อนั้น ๆ มาค่ะ เราจะไม่ได้พูดถึงทุกอย่างที่เกี่ยวกับโรคนี้นะคะ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปมากกว่านี้เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ😊คำถามที่ 1: เรารู้สึกยังไงหรือคิดยังไงกับโรคซึมเศร้าเรามองว่าโรคนี้มันก็เหมือนกับโรคอื่น ๆ อาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่เวลาเราไม่สบายก็ต้องมาโรงพยาบาล ปรึกษาอาการกับคุณหมอ รับยามากิน แล้วก็พักผ่อนให้เพียงพอ เพียงแต่ว่าบาดแผลที่เกิดจากโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่เป็นบาดแผลทางจิตใจที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและอธิบายความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ยาก ทำให้การรักษาโรคนี้ยากกว่าการรักษาโรคทางกายภาพอื่น ๆคำถามที่ 2: คิดว่าต้นตอของโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไรถ้าอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ เขาก็จะอธิบายว่ามันอาจจะเกิดจากพันธุกรรม สารเคมีในสมองที่ไม่เท่ากัน บุคลิกลักษณะนิสัยที่เป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ หรืออาจจะเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงดูมา สรุปคือยังหาสาเหตุปัจจัยที่ชัดเจนไม่เจอนั่นเองยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่าการรักษาโรคนี้ยังต้องอาศัยการพัฒนาไปอีกไกลพอสมควร อีกอย่างสมองก็ถือว่าเป็นอวัยวะที่มีความลึกลับที่สุดในร่างกายถ้าเราไม่ผ่าออกมาดูก็คงไม่รู้หรอกเนอะ แต่จะผ่าใครดีล่ะทีนี้ (หึหึหึ😏)ทุกคนอาจจะงงว่าทำไมเราถึงเลือกรูปท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เหมือนอยู่ในอวกาศมาเป็นรูปภาพประกอบ เพราะเรารู้สึกว่าภาพนี้สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้ที่เราไม่สามารถมองเห็นทุกสิ่งอย่างทั้งหมดได้ด้วยตาเปล่าและยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังคงเป็นความลับไม่มีใครเคยพบเจอซึ่งค่อนข้างตรงกับประเด็นของคำถามที่ 1 และ คำถามที่ 2คำถามที่ 3: วิธีรับมือกับอาการของโรคซึมเศร้าในแบบของเราทุกครั้งที่มีปัญหาเราจะเล่าระบายอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในหัวเราตอนนั้นทั้งหมดให้เพื่อนสนิทของเราฟัง แต่เป็นการเล่าผ่านตัวหนังสือในแอปพลิเคชัน LINE มันแปลกมาก ๆ เลยทั้งที่การสื่อสารระหว่างเราสองคนเกือบ 99% เป็นการส่งข้อความหากันไปมา เราแทบไม่ได้โทรคุยกัน ไม่ได้เจอหน้ากันเลยด้วยเพราะอยู่คนละจังหวัดแต่ความสัมพันธ์ของพวกเรานั้นทั้งเหนียวแน่นและแข็งแรง จริง ๆ แล้วเพื่อนสนิทเราคนนี้ก็เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกัน อาจจะเพราะแบบนั้นเราเลยรู้กันโดยอัตโนมัติว่าควรจะช่วยซัพพอร์ตอีกฝ่ายยังไงตอนที่เขามีปัญหา เราต่างรู้ดีว่าไม่มีใครมาแก้ไขปัญหาให้ใครได้ แต่ในช่วงที่อารมณ์ความรู้สึกของเราค่อย ๆ ดิ่งลงไปในความมืดเพราะจมอยู่กับปัญหา ข้อความทักทายธรรมดา ๆ ที่ถามว่าช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม ไปหาหมอมารอบนี้หมอว่ายังไง มีปัญหากลุ้มใจอะไรหรือเปล่าบอกเราได้ตลอดเลยนะเราอยู่ตรงนี้และพร้อมรับฟังเธอเสมอ ได้กลับกลายมาเป็นมืออันอบอุ่นที่ค่อย ๆ พยุงพาเราขึ้นมาจากหลุมดำคำถามที่ 4: ถ้าการเล่าหรือระบายความในใจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรแล้วเราทำไปทำไมหลังจากที่เราระบายทุกอย่างออกไปจนหมดในหัวของเราจะเริ่มว่าง เราไม่รู้หรอกว่าเราพิมพ์อะไรไปบ้างรู้สึกแบบไหนก็พิมพ์ไปแบบเรียลไทม์เลย เพื่อนเราเขาก็จะใช้เวลาสักพักในการอ่านและพอเขาเริ่มจับประเด็นได้เขาก็จะมาช่วยเราเรียบเรียงทุกอย่างใหม่ทั้งหมดโดยใช้วิธีถามกลับ เขาก็จะพิมพ์กลับมา ยกตัวอย่างเช่น สรุปแล้วตอนนี้เธอกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ใช่หรือเปล่า เธอคิดว่าปัญหานี้มันเกิดจากอะไร มีตรงไหนที่เธอรับได้บ้างและตรงไหนที่เธอรับไม่ได้เลย แล้วเธอคิดว่าตอนนี้พอจะมีทางไหนที่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้บ้าง (เราคุยกันแบบนี้จริง ๆ แต่เราจะแทนตัวเองว่า "เค้า" แล้วเรียกเพื่อนเราด้วยชื่อเล่น) พอได้ตีโพยตีพายจนสมใจสติก็เริ่มกลับมา แล้วเราก็มานั่งอ่านตามข้อความที่เขาส่งมาให้ สักพักเราก็จะเริ่มคิดเห็นทางออก การระบายไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาแต่มันช่วยให้เราเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น เราโชคดีมากที่มีเขาเป็นคู่สนทนาและทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกให้เราได้สะท้อนดูตัวเองหนังสือมากมายก่ายกองที่ถูกวางเรียงไว้อย่างสะเปะสะปะในรูปก็เหมือนกับความคิดอันสับสนวุ่นวายของเรา ส่วนประตูที่เห็นอยู่ก็คือทางออกที่เพื่อนเราพยายามช่วยเปิดทางให้เราได้เห็นในแบบวิธีของเขาคำถามที่ 5: โรคซึมเศร้าเข้ามาทักทายเราตอนไหนข้อนี้เราตอบได้ทันทีเลยก็คือตอนที่เราเรียนต่อปริญญาโท เรียนกันหนักมากแทบลากเลือดแถมเรายังเป็นพวกหัวช้าเวลาเรียนหรือจะทำอะไรต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว มันเลยเครียดมากแต่เราไม่เคยเสียใจที่เลือกเรียนต่อเลยนะเราเรียนเพราะอยากจะเรียน แต่ก็แอบเซ็งกับของแถมที่พ่วงตามมาอย่างโรคซึมเศร้านี่มากกว่า นับไปนับมาเราก็เป็นโรคนี้มาได้ 6 - 7 ปีแล้ว แต่ก็ยังต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำอยู่ตลอดจนถึงตอนนี้คำถามที่ 6: สิ่งที่โรคซึมเศร้าสอนเราสิ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้าต้องการมากที่สุดพอ ๆ กับการไปหาหมอและกินยาคือคนที่พร้อมจะเปิดใจรับฟังเราอย่างแท้จริงถึงแม้ว่าสิ่งที่เราพูดจะฟังดูผิดเพี้ยนไปจากตรรกะของคนปกติทั่วไปหรือบรรทัดฐานของสังคม การรับฟังอย่างเปิดใจเป็นการฟังแบบที่ไม่มีการชี้นำเอาความคิดตัวเองใส่เข้าไปว่าเธอควรจะทำแบบนั้นหรือต้องทำแบบนี้ ไม่มีการเปรียบเทียบว่าทำไมคนอื่นทำได้แล้วเธอทำไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดคือไม่มีการตัดสิน ตัดสินว่าใครเป็นคนแบบไหน ในเมื่อมาตรวัดความสุขของแต่ละคนยังไม่เท่ากันแล้วทำไมถึงคิดว่ามาตรวัดความทุกข์จะเท่ากันล่ะ โรคนี้สอนให้เรารู้ว่าไม่มีใครเข้มแข็งไม่มีใครอ่อนแอเราทุกคนแค่แตกต่างกัน และความแตกต่างนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เราเติบโตมาต่างกัน มีวิธีรับมือกับปัญหาในแบบที่ต่างกัน และก็มีระดับภูมิคุ้มกันในจิตใจต่อปัจจัยภายนอกที่ต่างกันอีก ในเมื่อไม่มีใครเป็นเหมือนใครได้ แล้วเราจะมีสิทธิอะไรไปตัดสินคนอื่นโหลแก้วกลม ๆ ที่แตกก็เหมือนชีวิตเราตอนที่ถูกบดขยี้ด้วยอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ความรักการดูแลจากครอบครัวหรือจากเพื่อนก็ช่วยให้เราค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาแล้วยืนขึ้นมาได้อีกครั้งพร้อมกับมุมมองชีวิตที่ต่างไปจากเดิมคำถามที่ 7: สิ่งสำคัญที่สุดในวันที่รู้สึกว่าทุกอย่างในร่างกายกำลังพังทลายลงคือการหา Safe Zone ของตัวเองให้เจอทุกคนคงไม่แปลกใจถ้าเราจะบอกว่า Safe Zone ของเราก็คือเพื่อนสนิทที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของเราเรียกได้ว่าเป็น Platonic Relationship ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเพื่อนกันได้ไม่นานแต่กลับรู้สึกผูกพันกัน เข้าใจกัน ยอมรับในตัวตนของกันและกันถึงจะไม่สมบูรณ์ 100% เต็มก็ตาม เพื่อนเรายังบอกเลยว่าเราสองคนเป็นเหมือนโคลนนิ่งของกันและกัน เรามีลักษณะนิสัย ความคิด ทัศนคติหลาย ๆ อย่างที่ใกล้เคียงกัน จริง ๆ เราเจอกันตั้งแต่ตอนสมัครเรียนปริญญาโทแล้วแต่แทบไม่ได้คุยกัน มาสนิทกันช่วงหลัง ๆ ที่ใกล้จะเรียนจบ เพราะเรามีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คนเดียวกัน กอดคอร้องไห้ด้วยกัน ฝ่าฝันกันมาจนเรียนจบ และก็คบกันมาจนถึงทุกวันนี้ เราพูดทุกเรื่องกับเขาได้แล้วเขาก็ไม่เคยตัดสินอะไรเราเลย ช่วงหนึ่งที่เราอาการแย่มาก แย่ที่สุดเท่าที่เคยเป็นคิดอยากจะฆ่าตัวตายแต่เพราะมีเขาอยู่เราถึงผ่านมันมาได้ ไม่ว่าเมื่อไหร่ไม่ว่าตอนไหนเขาจะคอยรับฟังเรา เป็นผู้ฟังที่ดีให้เราเสมอมา เราจะบอกกับเขาตลอดว่าเรารู้สึกขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่ทำให้เราได้มาเจอกันและได้มาเป็นเพื่อนกันคำถามที่ 8: เข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าบางครั้งครอบครัวก็ไม่ได้เป็น Safe Zone สำหรับเราเสมอไปการรับมือกับตัวเองที่เป็นโรคซึมเศร้าก็ลำบากมากพออยู่แล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ลำบากมากกว่าเราอยู่อีกนั่นก็คือคนในครอบครัวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเรา ถึงแม้เขาจะไม่ค่อยเข้าใจในโรคที่เราเป็นแต่เขาก็พยายามดูแลเราอย่างดีที่สุด แต่ด้วยกริยาการแสดงออกโต้ตอบแปลก ๆ ของเรา (ที่เขาคิดว่ามันผิดปกติ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นอาการส่วนหนึ่งของโรค) พอเจอแบบนี้บ่อยเข้ามันก็เลยทำให้เขาเหนื่อยทั้งกายทั้งใจจนทนไม่ไหว และอดไม่ได้ที่จะระบายความโกรธความโมโหออกมา เราไม่ได้โกรธเขานะ เพราะว่าเราเข้าใจว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง คนที่เหนื่อยกว่าคนป่วยก็คือคนที่ต้องดูแลคนป่วยอีกทีนี่แหละ และตัวคนดูแลเองก็ป่วยมีโรคประจำตัวไปอีก สภาพแต่ละคนในบ้านคือไม่รู้ใครดูแลใคร😂 มหากาพย์แห่งความดราม่าก็เลยบังเกิด เราก็เลยเปิดใจคุยกับแม่ตรง ๆ ถึงสถานการณ์อันร่อแร่ที่เผชิญกันอยู่ ทั้งเราและแม่ต่างเห็นพ้องต้องตรงกันว่าเราไม่สามารถเป็น Safe Zone ของกันและกันได้ เราพูดประโยคนี้ออกมาจากปากเลยจริง ๆ แต่ทุกคนอย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะ เรายังเป็นครอบครัวเดียวกันเหมือนเดิม เป็นพ่อแม่ลูกกันเหมือนเดิม ยังรักกันเหมือนเดิม และเพื่อรักษาความรักนั้นเอาไว้เราจึงจำเป็นต้องมีระยะห่างและให้พื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกันมากขึ้น เพื่อที่แต่ละคนจะได้มีเวลาไปอยู่ใน Safe Zone ของตัวเอง เติมพลังให้ตัวเอง รักษาหัวใจตัวเอง และทำให้ตัวเองมีความสุขชุดของว่างยามบ่ายอย่างมาการองสีม่วงพาสเทลชิ้นเล็ก ๆ น่ารัก ๆ กับชาร้อน ๆ ในแก้วสวย ๆ ให้ความรู้สึกถึงการได้ใช้เวลาพักผ่อนในมุมโปรดของตัวเองในบรรยากาศผ่อนคลายสบาย ๆคำถามที่ 9: List of Forbidden Words ของเรามีอะไรบ้างคำว่าสู้ ๆ นะ พยายามเข้านะ เธอเก่งอยู่แล้ว ทำให้เต็มที่ไปเลย เธอน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะ คราวหน้าต้องทำให้ได้ดีกว่านี้อีก คนอื่นทำได้เธอก็ต้องทำได้สิ คำพูดพวกนี้และคำอื่น ๆ อีกหลายคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันจนนับแทบไม่หวาดไม่ไหว นอกจากจะไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแล้วยังบั่นทอนจิตใจคนฟังอย่างเราเข้าไปอีกเหมือนโลกกำลังบอกว่าเรายังใช้ชีวิตได้ไม่ดีพอ การที่ต้องตื่นแต่เช้าอาบน้ำกินข้าวไปทำงานพอตกเย็นก็เลิกงานกลับมาบ้าน การวนลูปอยู่อย่างนี้สำหรับเรามันต้องใช้พลังกายพลังใจเยอะมากจริง ๆ ยิ่งต้องไปพบเจอทำงานอยู่ท่ามกลาง Toxic people มันจะค่อย ๆ กัดกินจิตใจเราบั่นทอนจิตใจเราไปเรื่อย ๆ จนเหลือแต่ร่างเปล่า ๆ เหมือนคนที่ความรู้สึกข้างในตายไปแล้ว ดังนั้นขอร้องเถอะอย่าพูดคำพวกนี้กับเราเลยคำถามที่ 10: โรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยไม่ใช่อภิสิทธิ์อย่าเข้าใจผิดเราไม่ชอบเลยกับการที่ได้รู้ว่ามีคนบางคนเอาโรคซึมเศร้าไปใช้เป็นข้ออ้างในการทำเรื่องที่ไม่ดี หรือเอาไปใช้เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษอะไรก็ตาม มันจะสร้าง Stigma หรือ Bad Stereotype ขึ้นมา แล้วทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกแย่กับตัวเองขึ้นไปอีกทั้ง ๆ ที่เขาก็รู้สึกแย่กับตัวเองมากพออยู่แล้ว เราเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อนแล้วรู้สึกไม่โอเคเลยสักนิดเดียวรูปสุนัขที่กำลังยืนหรือนั่งอยู่แล้วจ้องหน้ามองตรงมา มันให้ความรู้สึกเหมือนกับเราที่ต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ระวังที่จะต้องเจ็บปวดกับคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นคำถามที่ 11: การหาความหมายของชีวิตในวันที่โรคซึมเศร้ากลายมาเป็นเพื่อนสนิท (แบบที่ไม่ได้ตั้งใจ)ทั้งอาการจากโรคซึมเศร้าบวกกับมุมมองของเราที่มีต่อสังคมในยุคปัจจุบัน มันทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้มันไม่ได้น่าอยู่เลยสักนิด และเราก็ไม่ได้มีแผนจะสร้างครอบครัวเหมือนคนอื่น ๆ เขา เราอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีบ้าน มีงาน มีรถที่พ่อแม่สร้างไว้ บ้านเราไม่ได้รวยแต่ก็ไม่ได้จนเป็นคนชนชั้นกลางทั่วไป ชีวิตเรามันก็เลยว่างเปล่า ตื่นไปทำงานแล้วก็กลับมาบ้านมันเป็นเหมือนโปรแกรมที่ตั้งไว้อัตโนมัติมากกว่า แต่จะให้ฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองก็ทำไม่ลง เพราะมันจะกลายเป็นว่าเราส่งต่อโรคซึมเศร้าที่เราก็รู้ว่ามันทรมานขนาดไหนไปสู่คนในครอบครัว อย่างยิ่งโดยเฉพาะแม่คนที่เราไม่อยากให้เขาต้องได้รับความเศร้าเสียใจความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานมากที่สุด เราก็เลยตัดสินใจว่าจะลองตั้งเป้าหมายดูไม่ต้องไปถึง 5 ปี 10 ปี หรอก แค่ปีต่อปีก็เหนื่อยมากพอแล้ว อย่างของปีนี้เราตั้งใจว่าจะเก็บเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นตอนเดือนธันวาคมแล้วอยู่ที่นั่นหนึ่งอาทิตย์เต็ม ๆ ไปเลย ตอนนี้ก็เริ่มเก็บค่าตั๋วเครื่องบินได้แล้ว เหลือค่าที่พักค่ากินค่าอยู่ ค่อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ ลาพักร้อนเอยลากิจเอยลามันให้หมดนี่แหละ ไปในที่ที่อยากไป กินของที่อยากกิน ไปเปิดประสบการณ์ ไปเปิดโลก เปิดหูเปิดตาเจอสถานที่ใหม่ ๆ ผู้คนใหม่ ๆ เผื่อบางทีมันอาจจะกลายมาเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อก็เป็นได้เยลลี่กัมมี่แบร์สีสันสดใสขนมยอดฮิตในวัยเด็กที่มีรสชาติเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ มันก็เหมือนชีวิตที่เราอยากลองใช้ดูสักครั้งก่อนจะจากโลกนี้ไป ไปทำตามใจอย่างที่ตัวเองต้องการ สร้างสีสันให้กับชีวิต สนุกกับชีวิต ไม่ต้องคิดจริงจังถึงเป้าหมายเหมือนคนอื่นเขา เพราะเราก็คือเรา คนธรรมดาคนนี้ที่กำลังเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ทุกคนได้ฟัง Credit: รูปภาพทั้งหมดนำมาจาก Pixabay📌ภาพโต๊ะทำงานสีชมพู by LUM3N จาก Pixabay📌ภาพดอกไม้ในแจกัน by Yuri จาก Pixabay📌ภาพท้องฟ้าในยามค่ำคืน by Pexels จาก Pixabay📌ภาพชั้นหนังสือบนฝาผนัง by Nino Care จาก Pixabay📌ภาพต้นไม้ในโหลแก้ว by AndreasAux จาก Pixabay📌ภาพขนทล bมมาการองสีม่วงพาสเy Jill Wellington จาก Pixabay📌ภาพรูปสุนัขจ้องหน้า by LUM3N จาก Pixabay📌ภาพเยลลี่กัมมี่แบร์ by AndreasAux จาก Pixabayเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !