แม้จะอยากหยุดเวลาไว้ให้ลูกเป็นเด็กตลอดไป แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะลูกเติบโตขึ้นทุกวัน ชีวิตลูกต้องไปเป็นผีเสื้อตัวใหม่ ในกรณีของเด็กทั่วไปคงไม่ใช่เรื่องยากในการเข้าสู่สังคมโรงเรียน แต่เด็กสมาธิสั้นไม่ง่ายแบบนั้นนะคะ เพราะมีโจทย์ปัญหามากมายให้พ่อแม่ต้องคิดเยอะ เช่น จะเรียนที่ไหน จะเรียนได้มั้ย จะมีเพื่อนรึป่าว จะไปรังแกเพื่อน จะถูกเพื่อนกลั่นแกล้งหรือไม่ หรือคุณครูจะฟ้องอะไรพ่อแม่บ้าง ฯลฯ บทความ “เด็กสมาธิสั้นกับการไปโรงเรียน” ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อแบ่งปันมุมมอง และไอเดียในการเดินต่อให้แก่ทุกครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น และเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่อยู่ในช่วงปฐมวัย และกำลังประสบปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกันนะคะก่อนอื่นส่งลูกไปโรงเรียน พ่อแม่ต้องยอมรับความจริง และทำความเข้าใจถึงความเจ็บป่วยของลูก ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น (เศร้าได้ เสียใจได้ แต่ต้องสู้ต่อเพื่อลูก) พ่อแม่ควรเลิกคาดหวังเรื่องเกรดจากการไปโรงเรียน แต่ให้มองว่าลูกไปโรงเรียนเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับเด็กสมาธิสั้นแค่นั่งเรียนในชั้นอย่างตั้งใจ ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน และมีความสุขกับการไปโรงเรียนก็น่าจะเพียงพอแล้ว ในกรณีของเด็กสมาธิสั้นที่ได้พบโรงเรียนที่มีความเข้าใจในตัวเด็ก ถือว่าโอกาสดีมาก เพราะเด็กจะได้รับความช่วยเหลือ และพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อก้าวเดินต่อไปได้เรียนช้ากว่าคนอื่นก็ไม่เป็นไร เพราะเด็กสมาธิสั้นจำนวนมากไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงสร้างความปั่นป่วนในชั้นเรียนพอสมควร ในส่วนนี้แนะนำว่า ถ้าลูกยังไม่พร้อม ก็ไม่ควรเร่งเรียน ลูกเราไม่จำเป็นต้องเรียนตามเกณฑ์ หรือเรียนจบพร้อมกับเด็กที่เกิดในปีเดียวกัน ลองคิดตามง่าย ๆ ว่า เด็กวัยรุ่นหลายคนไม่มีความสุขกับคณะที่เลือกเรียนในมหาวิทยาลัย เขายอมดรอปเรียน หรือลาออกเพื่อสอบใหม่อีกครั้งให้ได้เรียนในคณะที่เขาชอบ แล้วเขาก็เรียนจบได้ ดังนั้น ถ้าเรายอมช้าสักนิดตั้งแต่ตอนนี้ ให้ลูกพร้อมแล้วค่อยตามเพื่อนไปก็ไม่เสียหายอะไรนะคะ กรณีของที่บ้านก็เลือกแนวทางนี้ คือ ลูกไม่พร้อมจะยังไม่ผลักเขาไป แต่พ่อแม่จะคอยสื่อสารกับคุณครูประจำชั้นถึงความพร้อมเรื่องการเรียนและพฤติกรรมของลูก เพราะคุณครูมีประสบการณ์เรื่องนี้มากกว่าเราแน่นอน คุณครูจะรู้ว่าเด็กลักษณะแบบนี้ควรไปต่อทางไหน และควรไปเมื่อไหร่ดังนั้น หากลูกยังไม่พร้อม แต่พ่อแม่ยังดึงดันจะส่งลูกเข้าเรียนตามเกณฑ์ เท่ากับเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม เพราะเด็กที่ไม่พร้อม ยังไงก็นั่งเรียนไม่ได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้ชั้นเรียนโดยรวม และลูกจะเป็นแกะดำในชั้นเรียน สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง จนป่วยเป็นซึมเศร้าก็ไม่น้อยนะคะ ทั้งนี้ ตามทฤษฎีพัฒนาการที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวถึงเสมอคือ ทุกช่วงเวลามีวิกฤติ ถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่สามารถย้อนกลับมาทำอีกได้แล้ว ดังนั้น ช่วงปฐมวัยไปจนก่อนอายุ 9 ขวบ เราควรสร้างรากฐานของการควบคุมตัวเองของลูกให้มั่นคง เพราะถ้าเติบโตเกินกว่านี้จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กแล้วนะคะ ดังนั้น พ่อแม่ต้องตระหนักให้มากว่า อยากให้ลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นที่มีความพร้อมและมีความสุขกับการไปโรงเรียนแล้วพัฒนาต่อได้ หรือเป็นเด็กสมาธิสั้นที่เรียนตามเกณฑ์แต่ไม่ได้อะไรจากการไปโรงเรียนเลยเมื่อลูกเข้าสู่ชั้นเรียน ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของลูก ลูกของเพื่อนพ่อแม่ ลูกคนข้างบ้าน เพราะเด็กแต่ละคนไม่มีใครเหมือนใคร ทั้งในแง่ความปกติของพัฒนาการ และความสามารถด้านการเรียน ขอแค่ลูกมีความสุขกับการไปโรงเรียน เอาตัวรอดจากระบบการศึกษาให้ได้ หากวิชาการไปไม่ได้ ลองสังเกตว่าลูกเรามีความสามารถอื่นใดบ้าง เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ โค้ดดิ้ง งานช่าง ฯลฯ โลกยุคปัจจุบันมีอาชีพมากมายให้ลูกเลือกจะเป็นในอนาคต ช่วยกันค้นหา ให้ลูกกำหนดด้วยตนเอง แล้วเขาจะทำสิ่งนั้นได้ดี แล้วช่วยกันผลักดันให้ลูกไปถึงเป้าหมายนั้น รวมทั้งให้กำลังใจลูกในการดำเนินชีวิต ชื่นชมในความพยายาม แล้วเขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เด็กสมาธิสั้นที่ได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวเขาจะไปได้โฮมสคูล แนวทางนี้เหมาะสำหรับบ้านที่มีความพร้อมในการดูแลลูก เพราะพ่อแม่ต้องเป็นผู้กำหนดแผนการเรียนที่เหมาะกับสไตล์ของลูก และต้องสอดคล้องกับกฎกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ว่าเราจะโฮมสคูลลูกมาอย่างดีแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง ลูกก็ต้องกลับมามีปฏิสัมพันธ์ อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมทั้งการเรียนต่อ/การทำงาน/การดำเนินชีวิต ด้วยเหตุที่การเข้าสังคมถือเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญ และควรจะเริ่มฝึกกันตั้งแต่เล็ก เพราะเด็กยังไม่มีกรอบความคิดในเรื่องการเลือกคบเพื่อน เวลาลูกไปโรงเรียน เขาจะได้เรียนรู้ทักษะนี้จากคุณครูซึ่งเป็นผู้ใหญ่ และจากเพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน ดังนั้น หากตัดสินใจทำโฮมสคูลอย่าลืมสอดแทรกเรื่องทักษะสังคมกับผู้คนอื่น ๆ นอกเหนือจากคนในครอบครัวด้วยนะคะการมีลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร เพราะเขาไม่ได้อยากเกิดมาเป็นแบบนี้ ต้องไม่ลืมว่า พ่อแม่ตกหลุมรักตั้งแต่ที่ได้เห็นหน้าเขาวันแรกที่ออกมาจากพุง จนถึงตอนนี้ก็ยังรักไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งรู้ว่าลูกป่วยยิ่งต้องรักษากันอย่างถึงที่สุด เด็กสมาธิสั้นคนหนึ่งจะพัฒนาได้ ต้องอาศัย “ครอบครัว โรงเรียน และโรงพยาบาล” ทั้งสามส่วนนี้ต้องประสานกัน แล้วลูกของเราจะพัฒนาได้อย่างมหัศจรรย์ และที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ เด็กสมาธิสั้นที่ได้รับการดูแลเอาใจ เข้าสู่กระบวนการรักษา พัฒนาทุกด้านอย่างจริงจังตั้งแต่ปฐมวัย จะเป็นเด็กที่เคารพกติกา รู้หน้าที่ และมีระเบียบวินัยมากกว่าเด็กปกติที่ขาดความรักและความเอาใจใส่นะคะ … ขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกครอบครัวในการเลี้ยงและพัฒนาลูกให้เป็นเด็กที่มีความสุขนะคะ📌 หากต้องการข้อมูลการศึกษาพิเศษ เพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สามารถติดต่อได้ที่ “ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ” นะคะ (https://la-orutis.dusit.ac.thr) เครดิตภาพประกอบภาพปกโดย Canva.comภาพที่ 1 ภาพโดย rawpixel.com จาก Freepikภาพที่ 2 ภาพโดย freepik จาก Freepikภาพที่ 3 ภาพโดย rawpixel.com จาก Freepikภาพที่ 4 ภาพโดย freepik จาก Freepikเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !