ทุกชนชาติล้วนมีวัฒนธรรมในการแต่งตัวหรือแฟชั่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างกันออกไปตามคติ ความเชื่อและวิถีชีวิตในแต่ละภูมิภาคนั้น ๆ วันนี้ผมอยากจะมีแนะนำ “การแต่งกาย หรือ แฟชั่น” ของ “ชาวปะโอ หรือ ต่องสู้” ให้รู้จักกันมาขึ้น จะว่าไปแล้วชาวปะโอในไทยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะมีอยู่กระจัดกระจาย ไม่ได้รวมตัวเป็นชุมชนใหญ่ ๆ หรือได้รับการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเท่าไหร่นัก คนส่วนใหญ่จึงรับรู้เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ๆ เช่น ปกาเกอะญอ ลาหู่ อาข่า ม้ง ก่อนเข้าเรื่องแฟชั่น ผมอยากขอบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาวปะโอสักเล็กน้อยเพื่อให้เชื่อมกับเรื่องราวของการแต่งกายนะครับว่า “ชาวปะโอ” คือใคร มาจากไหนและอยู่ที่ไหนกันบ้าง ปัจจุบันนี้ ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของชาวปะโออยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ ภายใต้เขตปกครองตนเองปะโอ(Pa-O Self-Administered Zone หรือ PAZ) มีประชากรราว 600,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองสี่แส่ง โหโปงและป๋างลอง ในพื้นที่รัฐฉานตะวันออกและกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของเมียนมาร์ ตามตำนานเล่าต่อมาว่า แต่เดิมชาวปะโออพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย มาก่อตั้งอาณาจักรปะโอ แถบเมืองสะเทิมใกล้นครย่างกุ้งในปัจจุบัน ครั้นกษัตริย์ของชาวปะโอแพ้สงครามให้กับอาณาจักรพุกามจึงได้อพยพไปอยู่รัฐฉาน ในสมัยที่อังกฤษเข้ามารุกรานพม่า ชาวปะโอถูกปราบปราม จึงอพยพเข้ามาในล้านนาตามเส้นทางแม่ฮ่องสอน ฝาง แม่สายและแม่สอด จึงตั้งชุมชนอาศัยเรียงรายอยู่ตามเส้นทางอพยพและรอบนอกเชียงใหม่ บางส่วนเข้ามาทำงานกับบริษัททำไม้ร่วมกับคนไทยใหญ่ จนมีฐานะมั่งคั่งบูรณะวัดวาอารามในเชียงใหม่หลายแห่ง ทำมาค้าขายย่านถนนท่าแพมีลูกหลานสืบเชื้อสายแต่งตัวกลมกลืนไปกับคนเมืองล้านนาจนหมดสิ้น ปัจจุบันนี้ ชาวปะโอที่ยังคงแต่งกายในแบบชาวปะโออย่างเหนียวแน่น มีชุดแต่งกายหลากหลายสีสันแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา คือ กลุ่มชาวปะโอที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่คนไทยมักจะรู้จักกันในนาม “ต่องสู้” ซึ่งจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง เอาหละเข้าเรื่อง การแต่งกายหรือแฟชั่นของชาวปะโอ(ต่องสู้) ต่อเลยนะครับ ในวิถีชีวิตจริง ชาวปะโอมักตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวปะโอจะอาศัยอยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่จะอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มต่ำมีแม่น้ำ ทำให้ชาวปะโอมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นและมีวัฒนธรรมคล้ายกับชาวไทใหญ่มาก หากเก็บความจากตำนานที่ว่า “เพราะความเศร้าเสียใจที่กษัตริย์ของชาวปะโอแพ้สงครามให้กับอาณาจักรพุกาม ชาวปะโอจึงพร้อมใจกันแต่งชุดสีดำและสีน้ำเงิน อพยพไปอยู่รัฐฉาน” จะทำให้เราเห็นพัฒนาการเกี่ยวกับการแต่งกายของชาวปะโอมากขึ้น หรือหากถือเอาตามนิทานปรัมปราเล่าเรื่องของชาวปะโอที่ว่า “เดิมชาวปะโอ เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับชาวปกาเกอะญอ ที่แยกกันเพราะผิดใจกันเรื่องแบ่งเนื้อเม่น” ก็จะทำให้เราเห็นความจุดเริ่มต้นความเกี่ยวข้องกับการแต่งกายบางอย่างที่คล้ายกับชาวปกาเกอะญอ และหากมองในแง่วิถีชีวิตจากเนื้อหาที่ว่า “ชาวปะโอมักตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่” จะทำให้เราเห็นความผสานและเชื่อมโยงระหว่างชาติพันธุ์ทั้ง 2 กลุ่มอย่างน่าสนใจ ทั้ง 3 ข้อความที่ปรากฏในเอกสารและสื่อต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ผมว่านี่แหละคือที่มาของการออกแบบหรือดีไซด์ชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง จนกลายเป็นแฟชั่นอมตะที่สืบเนื่องและคงอยู่จนถึงปัจจุบัน แฟชั่น หรือ การแต่งกายของชาวปะโอส่วนใหญ่ทุกวันนี้ นิยมแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้าฝ้ายทอมือ เน้นการใช้สีดำย้อมด้วยมะเกลือเป็นสีพื้นฐานของชุดแต่งกายทั้งหญิงและชายในทุกวัย จะมีสีอื่น ๆ แซมบนเนื้อผ้าก็เพียงเพื่อให้เห็นเป็นรอยเย็บแซมประดับบ้างเล็กน้อยเพื่อให้มีความสวยงามและโดดเด่นมากขึ้น แฟชั่นการแต่งกายของผู้ชายชาวปะโอ จะแต่งกายคล้ายผู้ชายชาวไทใหญ่ โดยสวมกางเกงเป้าหย่อนที่เรียกว่า “เตี่ยวโหย่งหรือโก๋นโฮง” ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก ผ่าอกตลอด ใช้กระดุมผ้าสอดเป็นห่วงแบบจีน และจะใช้สีดำเท่านั้น ซึ่งต่างจากชายชาวไทใหญ่มีใส่กางเกงหลากสีและมีลวดลายประดับต่าง ๆ ส่วนแฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิง จะนุ่งผ้าถุงสีดำยาวคลุมตาตุ่ม สวมเสื้อคอวีแขนสั้น ชายเสื้อคลุมตะโพก คล้าย ๆ เสื้อปกาเกอะญอ แล้วสวมทับชั้นนอกด้วยเสื้อแบบแขนยาว เอวลอย ผ่าอกตลอด คอจีน มีลายแดงยาวพาดขวางเป็นระยะและมักพันหน้าแข้งเหมือนผู้หญิงชาวลาหู่ เครื่องประดับที่สวมใส่ ส่วนใหญ่จะสวมกำไลและสร้อยคอทำจากโลหะประเภทเงินดุนเป็นลายต่าง ๆ มีอยู่เพียง 2 อย่างเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสีดำ คือ “ผ้าโพกหัวและย่าม” โดยผู้ชายจะโพกหัวด้วยผ้าโพกหัว(กะทู้ป๊อก)สีอ่อนและพันผ้าบนหัวแบบกลม ๆ หมายถึงพ่อผาวิจา พันไม่ซับซ้อน ใช้ทักษะไม่มากนัก ต่างจากผู้หญิงที่มองว่าผ้าโพกหัวคือจุดสำคัญหรือจุดเด่นในการแต่งกาย ผ้าโพกหัว(ล้ำป๊ะ)ของผู้หญิงจึงใช้สีฉูดฉาดและโดดเด่น มีลวดลายเส้นสายซับซ้อน มีปิ่นแหลม ๆ ซึ่งหมายถึงนาคผู้หญิงและชายผ้าเป็นริ้วๆ เวลาโพกจะใช้เวลานานและต้องฝึกให้ชำนาญถึงจะออกมาสวยและไม่หล่นจากหัวเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ “ย่าม” ก็เช่นเดียวกัน ผู้ชายจะใช้สีโทนอ่อน ส่วนผู้หญิงมักจะใช้สีโทนสดใสฉูดฉาด และใช้แบบ 2 สีตัดกันเป็นแนวยาวและแนวขวาง โดยความยาวของย่ามจะอยู่ประมาณเหนือหัวเข่าผู้ใช้เสมอ แฟชั่นการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผมบอกเล่านี้ อาจจะไม่ใช่แฟชั่นระดับโลกที่มีเทรนด์หลักมาจากฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกอย่างญี่ปุ่นเกาหลีที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งเทรนด์แฟชั่นแนวนี้มักเป็นไปตามกระแส ขึ้นอยู่กับความนิยมว่ามากน้อยและยาวนานแค่ไหน หากมีกระแสแฟชั่นอื่นมาแรงกว่าก็จะหายไปในเวลาไม่กี่ปี ต่างจากแฟชั่นการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาเป็นร้อยปีพันปีและก็ยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่นท่ามกลางกระแสแฟชั่นการแต่งตัวสมัยใหม่ที่หนักหน่วง รุกล้ำและแย่งชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นี่แหละที่เรียกว่า แฟชั่นเหนือกาลเวลา สนใจเข้าไปดูคลิปการแต่งกายของชาวปะโอได้ที่นี่ https://youtu.be/oPCTCxa_mG8 ขอบคุณเวบเพจ “วัดนันตาราม เชียงคำ พะเยา” ที่อนุญาตให้ใช้ภาพประกอบบทความนี้