รีวิว…อาการที่สะสมจนนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด (จุดเริ่มต้นการเป็นโรคซึมเศร้า) “สวัสดีครับ ผมคือคนหนึ่งที่กำลังเผชิญอยู่กับคำว่าโรคซึมเศร้า และได้รับการยืนยันจากจิตแพทย์อย่างชัดเจน ว่าอาการที่เป็นอยู่คือ ซึมเศร้า และกำลังรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้นและผมเชื่อว่าวันหนึ่งผมต้องหายจากอาการนี้และจะก้าวออกไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข”ในโลกของสังคมมนุษย์มีการแข่งขันกันสูง ผมมีความเข้าใจว่า เมื่อเรายิ่งต้องแข่งขัน ความสุขเราก็จะยิ่งลดลง ผู้อ่านคิดอย่างไรกับความเข้าใจนี้บ้างครับ ? บางคนอาจจะบอกว่าใช่ที่สุด บางคนอาจจะบอกว่าก็มีส่วน บางคนบอกว่าไม่ใช่ความจริงเลย ไม่ว่าทุกคนจะมองความคิดเห็นข้างต้นอย่างไร ก็ไม่มีผิดใช่ไหมครับ เพราะอะไร ? แน่นอนครับทุกคนที่เกิดมาย่อมแตกต่างกันหลาย ๆ อย่างซึ่งความแตกต่างนี้ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมาประกอบทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในคนที่ร่าเริง สนุกสนาน มีความสุข และยิ้มรับกับทุกปัญหาและมีเสียงหัวเราะ หลายคนมองว่าคนเหล่านั้นคือคนที่มีความสุขไม่มีวันเป็นโรคซึมเศร้าได้หรอก จริงหรือ ? ผมอยากให้ทุกคนได้คิดตามนะครับ โดยปกติแล้วเราชอบอ่อนแอต่อหน้าคนอื่นหรือไม่ ปกติแล้วเราชอบร้องไห้ต่อหน้าคนอื่นหรือไม่ ส่วนมากก็คงจะตอบว่าไม่ แต่จะเพราะอะไรก็ไม่รู้ได้เพราะแต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน การที่เรามองใครสักคนเรามองเห็นเขาได้แค่บางส่วนเท่านั้น เกือบทุกคนมีส่วนที่ไม่แสดงออกให้ใครเห็นเช่นกัน หรือพฤติกรรมบางอย่างจะแสดงออกเฉพาะคนที่เราให้เขาอยากรับรู้ จากที่ผมกล่าวมาแล้วทุกคนคิดอย่างไรครับ คนร่าเริงเท่ากับคนไม่มีวันเป็นโรคซึมหรือไม่ ?วันนี้ผมอยากเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผม มุมมองของผม ทัศนคติของผม ถึงจุดเริ่มต้นอาการต่าง ๆ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำบ่อย ๆ จนสุดท้ายนำไปสู่ “โรคซึมเศร้า” ว่ามีอะไรบ้างเผื่อเป็นประโยชน์ให้หลายคนได้อ่านและศึกษาไว้1. พฤติกรรมการเสพติดความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectly Hidden Depression (PHD)ความสมบูรณ์แบบในชีวิตของผมไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นตอนไหน แต่สิ่งที่ตัวเองแสดงออกคือ การจะทำอะไรจะต้องระเบียบ มีวินัย ต้องออกมาเป๊ะ ไม่มีที่ติ ถ้าบกพร่องก็จะรื้อ แล้วทำใหม่ หรือแม้แต่การทำงานค้างแล้วมาทำต่อต้องมาเริ่มสร้างหน้ากระดาษใหม่ พอใกล้เสร็จแล้วค้างไว้ วันต่อมาก็ต้องมาพิมพ์งานใหม่ตั้งแต่แรก โดยจะไม่ทำต่อจากที่ทำอยู่ให้แล้วเสร็จ ในช่วงเรียนผมเป็นคนค่อนข้างจะจริงจังกับการทำงานส่งครู อาจารย์มาก บางครั้งอีกหนึ่งวันจะหมดเวลาส่ง จะไม่มีคะแนนส่วนนี้ แต่งานตัวเองรู้สึกว่ามันไม่ดีพอผมก็จะทำใหม่ ๆ เรื่อย ๆ สุดท้ายผมก็ไม่ได้ส่งงาน อีกพฤติกรรมคือผมจะเลือกทำในสิ่งที่ผมทำได้เท่านั้น สิ่งไหนที่ตัวเองไม่เคยทำ จะไม่ทำเลยเด็ดขาด เพราะรู้สึกว่ามันจะออกไม่ดี ทั้งที่ไม่รู้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี แต่รู้แค่ว่าผมไม่ได้ลงมือทำมัน หรือบางครั้งผมทำสิ่งที่ผมถนัด แต่งานนั้นออกมาไม่ดีทั้งจะเป็นที่ตัวเอง หรือปัจจัยอื่นทำให้งานไม่สมบูรณ์ ไม่ออกมาดี ผมก็จะเกิดความรู้สึกผิดหวัง สิ้นหวัง แล้วกลับมาตอกย้ำตัวเองว่าทำไม ๆ ทำออกมาแบบนี้ คนอื่นจะมองว่ามันดีที่สุดแล้วในสถานการณ์นั้น แต่ผมก็จะมีคิดลบตลอด 2. พฤติกรรมคิดเล็กคิดน้อย ปลงไม่ได้ การคิดเล็กคิดน้อยในคำพูดของคน หรือในสิ่งที่เราทำสิ่ง ๆ เช่นบางครั้งผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ เราก็เอามาคิด เป็นสิ่งที่ดีนะครับการที่เรานำคำพูดของผู้ใหญ่มาคิดมาแนะนำ แต่สำหรับผมในช่วงเวลานั้นผมมองว่าเขาต้องไม่ชอบเราแน่นอน เรามีอคติกับเราแน่ ๆ เอาแต่พลังงานลบ ๆ ใส่ตัวเอง เป็นคนที่คิดเล็กคิดน้อย ถึงขั้นแค่การแซวกัน หยอกล้อขำขัน ผมก็นำมันมาคิด หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่ผมเจอแล้วมันผ่านไปแล้ว ผมจะกลับคิดว่าแล้วถ้ามันเป็นมากกว่านี้ละอะไรจะเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้วก็ตาม ฮึ้ยถ้าเราไม่เดินขาซ้ายออกก่อน หรือเราทักทายคนนี้ก่อน มันคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้หรอก โทษทุกสิ่งทุกอย่าง โทษแม้กระทั่งขาตัวเอง บางครั้งเกิดอุบัติเหตุ เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยซ้ำ แต่ดันไปคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุถ้าเราอยู่บ้านเฉย ๆ เขาคงไม่เป็นแบบนี้ (คิดถึงขั้นนี้แล้วยังคิดว่าตัวเองปกติ) สุดท้ายมันเริ่มสะสม ๆ ขึ้น จนทำให้เราผิดทุกครั้ง ผิดทุกก้าวย่าง เรื่องยังไม่เกิดก็คิดว่าเกิด เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก็คิดว่ามันหนักกว่าเดิม จนสับสนว่าอันไหนความฝัน อันไหนเรื่องจริง3.พฤติกรรมการเอาตัวเองไปเป็นคนทั้งโลก และคิดว่าตัวเองคืออัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยโลก ผมจะเป็นคนที่ค่อนข้างแคร์ความรู้สึกทุกคนที่รู้จัก และไม่รู้จัก แคร์มากและเป็นห่วงมาก ในเวลานั้นดูข่าวถ้าเป็นข่าวเศร้า ๆ หรือข่าวสูญเสีย หรือลำบาก ก็จะเป็นห่วงคนในข่าว ถึงแม้จะไม่รู้จักกัน อยากไปช่วยเหลือเขา อยากทำให้เขาดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ตัวผมเองก็ไม่มีอะไรเลย และสิ่งที่ตามมาคือการกดดันตัวเองว่าต้องทำงานที่เงินเดือนเยอะ ๆ เราจะต้องช่วยทุกคนให้ได้ พอเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นดังหวังหรือไม่เป็นตามข้อ 1 ผมก็จะรู้สึกแย่ รู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง หรือบางข่าวเขาโดนทำร้ายร่างกาย ผมก็จะมีความคิดจินตนาการเอาตัวเองไปเป็นเขา แล้วเจ็บแทนเขา (มองย้อนกลับไปวันนั้น อยากบอกตัวเองว่าควรไปพบแพทย์ได้แล้ว ณ ตอนนั้น) การมีเมตตา การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่เราจะเอาคนทั้งโลกมาแบกไว้ไม่ได้ (ความรู้สึกในวันนี้) 4.พฤติกรรมการคิดว่าตัวเองเข้มแข็ง และไม่อยากให้ใครมารับรู้ความทุกข์ของเราด้วยไม่ว่าผมจะเจอเหตุการณ์อะไรมา ผมจะเป็นคนที่ไม่พูด ไม่ระบาย คิดว่าตัวเองต้องเข้มแข็งและผ่านไปได้ แล้วไม่อยากให้ครอบครัว เพื่อน ๆ พี่น้อง ต้องมารับรู้กับความรู้สึกที่แย่ ๆ กับเรา มารับพลังงานลบกับเรา ผมเลยเลือกที่จะเก็บทุกอย่างไว้กับตัวเอง ร้องไห้อยู่กับตัวเอง แก้ปัญหาอยู่คนเดียว หาทางให้กับตนเอง ถึงแม้ว่ามันเกินความสามารถของผมก็จะเก็บมันไว้ ผมก็ไม่อยากเล่า โดยเฉพาะพ่อกับแม่เพราะผมกลัวว่าท่านจะเป็นห่วง รู้ว่าพ่อกับแม่ตัวเองเข้าใจ แต่มันอาจจะทำให้บางนาทีที่พ่อแม่คิดเป็นห่วงเราแล้วกินนอนไม่ได้ แม้แต่เพื่อน ในแต่ละวัน เรียนมาหนัก ๆ ทำงานมาหนัก ๆ ผมก็ไม่อยากเอาเรื่องของตัวเองไปให้เพื่อนต้องเป็นห่วง แต่เพื่อนของผมในกลุ่มไม่มีใครเลยที่จะไม่เป็นห่วงผม เป็นเพื่อนที่รักกันมาก ๆ ในบางครั้ง ความคิดของเราเลยไม่อยากเพื่อนที่เรารักต้องเป็นทุกข์ (แต่เพื่อนก็ดูออกว่าเราเครียดและเป็นกำลังใจให้ตลอดสุดท้ายจนมันระเบิดออกมา ในวันนั้นถึงรู้ว่าเพื่อนเป็นห่วงเรามากแค่ไหน)4 เหตุผลหลัก ๆ ที่ผมสะสมมาตั้งแต่เด็กจนโต ประกอบกับโรคแพนิคที่เป็นตอน ม.4 สะสมมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดรู้สึกว่าร่างกายเริ่มล้า เริ่มไม่ชอบการออกไปข้างนอก เบื่ออาหาร ไม่ชอบพูดคุย เพ้อเจ้อตอนอยู่คนเดียว เรียกร้องหาคนใกล้ตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิดใหม่ ๆ ถึงขั้นทรุด จึงไปโรงพยาบาลพบจิตแพทย์ ในตอนนั้นจิตแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลขั้นรุนแรง ก็เริ่มรับยา แต่สุดท้ายก็เลิกไปพบจิตแพทย์ เลิกกินยา เพราะรู้สึกว่าตัวเองดีขึ้นแล้ว คงหายแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี อาการกลับมาอีกครั้งและมีความรู้สึกรุนแรงขึ้น ไม่มีสมาธิ หลง ๆ ลืม ๆ ย้ำคิดย้ำทำ คิดแล้วปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เริ่มท้อแท้ ผิดหวัง สิ้นหวัง ความรู้สึก 108 ในวินาทีเดียว ผมเลยเข้าไปทำแบบประเมินใน Google ดู ผลคะแนนที่แปลผลแล้ว ขึ้นว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบจิตแพทย์ ในที่สุดผมเลยเดินทางไปโรงพยาบาลของจังหวัด ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยา พยาบาล และจิตแพทย์ และตรวจร่างกายต่าง ๆ ประกอบทุกอย่าง จนในที่สุดหมอนัดและแจ้งว่า อาการที่ผมเป็นอยู่หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และรับยามากินทุกวัน ปรับยาจนกว่าร่างกายอยู่ในระดับรับได้กับยา นับตั้งแต่วันที่วินิจฉัยจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 9 เดือนกว่าแล้วที่รักษามา และถือว่าอาการในวันนี้ดีกว่าวันนั้นมาก จากโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับผมครั้งนี้ไม่ใช่เกิดทันที แต่เกิดการสะสมความเครียด การคิดเล็กคิดน้อยตั้งแต่มัธยมเป็นต้นมา และปล่อยมันเลยตามเลย รู้วิธีการเลี่ยงอารมณ์ต่าง ๆ แต่ก็ทำไม่ได้ พอทุกข์ก็เหมือนตกหลุดดำใหญ่เลย ดันตัวเองออกมาไม่ได้ผมเป็นคนหนึ่งที่บอกคนอื่นว่า ผมเป็นซึมเศร้า แล้วหลายคนไม่เชื่อและมองเป็นเรื่องขบขัน เพราะเขาเห็นผมมีเสียงหัวเราะ มีความสุข ดูเฮฮา สนุกสนาน บางคนบอกเชื่อและเข้าใจแต่ก็ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ ผมยอมรับว่ามันมีผลข้างเคียงหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และจิตใจ และผลข้างเคียงของยาที่กินด้วย จนบางครั้งกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องปรับ ร่างกายผมปรับยาบ่อยมาก ๆ แต่ก็ต้องไปหาหมอ เพราะรู้สึกว่ารักตัวเองแล้ว ไมควรปล่อย ควรปรึกษาแพทย์ จนสุดท้ายร่างกายเริ่มปกติกับการกินยาสิ่งที่ทำให้ผมออกมาเล่าประสบการณ์นี้ของตัวเอง ผมเชื่อว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์ให้ใครหลายคนได้กลับมาดูพฤติกรรมตัวเอง ผมอยากบอกทุกคนว่า ถ้าหากเรามีความรู้สึกทุกข์ หรือสับสนอะไร ก็ควรที่จะเพื่อนสนิทไว้ หรือคิดว่าตัวเองเครียด ผมแนะนำให้ไปพบแพทย์นะครับ อย่าปล่อยให้นาน อย่าให้มันสะสมเรื้อรัง การพบจิตแพทย์เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปพูดคุย ปรึกษา ขอคำแนะนำได้ ไม่จำเป็นต้องป่วยเท่านั้นเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงพฤติกรรมส่วนตัวและทัศนคติส่วนตัวของผมเท่านั้นนะครับ เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ผมรักษาตัวเองอย่างไร ยาที่ต้องกินมีอะไรบ้าง ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง จิตแพทย์มีกระบวนการรักษายังไง และปัจจุบันผมเป็นอย่างไรช่วงรักษา ผมจะมาเล่าในบทความต่อไปนะครับ อย่าลืมติดตามไว้ด้วยนะครับเครดิตภาพประกอบ (ผู้เขียน)เครดิตภาพหน้าปก ถ่ายโดยผู้เขียน ผ่านการเติมรูปและอักษร Canva.comเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !