ภาพประกอบปกบทความจาก freepikยาพ่นนั้นเป็นการเรียกรูปแบบยาชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับสูดพ่นผ่านทางปากเข้าสู่ทางเดินหายใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับทางเดินหายใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง หรือผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อยจากความผิดปกติของหลอดลมหดเกร็งและด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างเลวร้ายยิ่งขึ้นทุกวันจากปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 จึงทำให้คนสุขภาพดีหลายคนเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากขึ้น และบางรายอาจต้องเริ่มใช้ยาพ่นสำหรับรักษาและบรรเทาอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างภาพจาก freepikในแง่ของเป้าหมายการใช้ยา โดยทั่วไปยาพ่นจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ยาพ่นสำหรับควบคุมอาการไม่ให้มีภาวะหอบกำเริบ ยาพ่นชนิดนี้จะช่วยลดภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นในหลอดลม และจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกวันจึงจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ กับอีกชนิดหนึ่งคือยาพ่นสำหรับขยายหลอดลมฉุกเฉิน ยาพ่นชนิดนี้จะใช้เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลันเท่านั้น หลังพ่นยายาจะไปช่วยขยายหลอดลมทำให้อาการหอบเหนื่อยค่อยทุเลาลงและสามารถกลับมาหายใจสะดวกได้ตามปกติภาพจาก freepikยาพ่นแบบ MDI หรือ Metered Dose Inhaler ที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบยาพ่นที่พบการใช้มากที่สุดเมื่อเทียบกับยาพ่นชนิดอื่น รูปร่างหน้าตาของ MDI จะประกอบด้วยขวดยาที่ภายในบรรจุตัวยาที่กระจายอยู่ในแก็สซึ่งจะมีสารช่วยในการผลักดันตัวยาออกมาเมื่อกดพ่น และขวดยานั้นจะถูกบรรจุอยู่ในกระบอกนำส่งยาที่มีปลายเปิดด้านหนึ่งสำหรับสูดพ่นผ่านทางปากเมื่อกดพ่นยา จะมีละอองของแก็สและตัวยาออกมาจากปากกระบอกพ่น โดยแต่ละครั้งที่กดใช้ อุปกรณ์นี้ก็จะช่วยปลดปล่อยตัวยาออกมาตามขนาดที่ระบุบนฉลากยา และสิ่งสำคัญของการใช้ยาพ่นชนิดนี้คือการที่ผู้ใช้จะต้องพยายามสูดหายใจเข้าไปให้สัมพันธ์กันกับจังหวะที่กดพ่นยา ยิ่งสูดหายใจเอาตัวยาเข้าไปได้มากเท่าไหร่และลึกเท่าไหร่ ตัวยาก็จะเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไปออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้นในทางตรงกันข้าม หากจังหวะที่กดพ่นยาผู้ใช้ไม่ได้มีการสูดลมหายใจเข้า หรือใช้แรงสุดที่น้อยเกินไป ก็จะทำให้ตัวยาตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอไม่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจภายในปอดหรือได้รับตัวยาน้อยกว่าปกติ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาภาพจาก freepikสำหรับวิธีการใช้ยาพ่นแบบ MDI มีดังนี้1. เขย่าขวดขึ้นลงหลาย ๆ ครั้งก่อนใช้งาน เนื่องจากตัวยากระจายอยู่ในแก็สในรูปของยาแขวนตะกอน การวางตั้งทิ้งไว้นาน ๆ จึงอาจทำให้อนุภาคของยาตกตะกอนลงได้ ถ้าไม่เขย่าก่อนใช้ก็จะทำให้ได้รับตัวยาไม่สม่ำเสมอ2. หากมีน้ำมูกหรือเสมหะให้กำจัดออกก่อนให้เรียบร้อย จากนั้นหายใจออกจนสุด เปิดฝากระบอกพ่นยาออก นำเข้าปากแล้วอมรอบประบอกให้สนิท หากริมฝีปากไม่แนบกับปากกระบอกพ่นยาให้สนิทอาจทำให้ตัวยาไหลย้อนออกทางมุมปากขณะพ่นยาได้3. ท่าจับกระบอกยาที่ถูกต้องให้วางนิ้วโป้งลงตรงใต้กระบอกพ่นยา ตัวอุปกรณ์จะมีตำแหน่งสำหรับวางนิ้วให้อยู่แล้ว ส่วนนิ้วชี้และนิ้วกลางให้กดลงที่ขวดยาด้านบน หากไม่ถนัดสามารถใช้สองมือช่วยประคองกระบอกพ่นยาและช่วยกดยาพ่นได้ (หากใช้ท่าอื่นในการกดยาพ่นอาจทำให้กดลงได้ไม่สุดและได้รับตัวยาน้อยกว่าที่ควรได้ และผู้สูงอายุควรมีคนช่วยดูแลเนื่องจากอาจมีแรงกดที่มือน้อยกว่าปกติ)4. หากพร้อมแล้วให้กดก้นขวดยาลงจนสุด 1 ครั้ง ละอองของตัวยาจะถูกปลดปล่อยออกมาทันทีที่กดพ่น จังหวะเดียวกันนั้นให้เราสูดหายใจเข้าไปให้ลึกที่สุด เสร็จแล้วกลั้นหายใจสักครู่ ห้ามหายใจออกทางปากทันทีหลังพ่นยาเพราะจะเป็นการหายใจเอาตัวยาทิ้งออกมาหากฉลากยาระบุให้พ่นยา 2 กด ให้กดพ่นทีละ 1 กดเท่านั้น ห้ามกดซ้ำหลายครั้งแล้วสูดพ่นในครั้งเดียวโดยเด็ดขาด หลังสูดพ่นยาครั้งแรกเสร็จแล้วให้เว้นระยะเวลาสัก 1-5 นาทีแล้วจึงพ่นยาครั้งที่สองซ้ำด้วยวิธีการเดิม5. หลังใช้งานกระบอกพ่นยาให้เช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย และยาบางชนิดอาจประกอบด้วยตัวยาที่เป็นสเตียรอยด์ ดังนั้นทันทีหลังพ่นยาเสร็จควรจะบ้วนหรือกลั้วปากทุกครั้ง มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดเชื้อราเป็นฝ้าขาวในช่องปากได้6. หากรู้สึกมีอาการหอบกำเริบในช่วงเวลาที่ต้องใช้ยาพ่นแบบพ่นประจำพอดี ให้ใช้ยาพ่นขยายหลอดยาลมก่อน จากนั้นจึงใช้ยาพ่นสำหรับควบคุมอาการ ภาพ Spacer จาก freepikนอกจากนี้ ยังมีเทคนิคเล็กน้อยอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาพ่น MDI ดังนี้1. ยาพ่น MDI บางย่ห้อจะมีตัวเลขแสดงจำนวนกดยาที่สามารถใช้ได้ ขณะที่ยาพ่นบางยี่ห้อจะไม่มีตัวเลขบอกจำนวนคงเหลือ ดังนั้นหากเป็นยาพ่นที่ไม่ได้ใช้ทุกวันอย่างยาพ่นฉุกเฉินที่พ่นเป็นครั้งคราว ควรจะมีการจดบันทึกจำนวนครั้งที่มีการใช้งานเพื่อที่จะได้ทราบว่ายาในขวดนั้นหมดแล้วหรือไม่ เพราะหากตัวยาหมดแล้วเราก็จะยังสามารถกดพ่นยาได้เหมือนปกติ2. ควรสังเกตวันหมดอายุที่ระบุอยู่บนขวดก่อนพ่นยา โดยเฉพาะยาพ่นฉุกเฉินที่บางคนอาจจะแทบไม่ค่อยได้ใช้เนื่องจากไม่มีอาการหอบกำเริบ หากพบว่ายาหมดอายุแล้วให้ทิ้งได้ทันที และหลีกเลี่ยงการทิ้งโดยการทุบทำลายหรือเผาด้วยเปลวไฟเพราะอาจทำให้ขวดยาระเบิดได้3. ควรพกยาพ่นติดตัวตลอดเวลาโดยเฉพาะยาพ่นฉุกเฉิน เพราะหากมีอาการกำเริบเฉียบพลันจะได้ใช้ยาพ่นฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และควรพกยาพ่นที่ใช้อยู่มาโรงพยาบาลด้วยทุกครั้งเนื่องจากเภสัชกรอาจประเมินการพ่นยาโดยให้ลองพ่นยาให้ดู4. ตัวกระบอกด้านนอกสามารถถอดมาล้างและทำความสะอาดได้5. สำหรับผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กที่ไม่สามารถสูดลมหายใจทางปากให้สัมพันธ์กับจังหวะการกดพ่นยาได้ จะมีอุปกรณ์นำส่งยาที่เรียกว่า Spacer ซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบอกด้านหนึ่งเสียบกับยาพ่นส่วนอีกด้านหนึ่งจะใช้สำหรับครอบบริเวณปากหรือให้อม ซึ่ง และหลังกดพ่นยาแล้วก็สามารถสูดหายใจเอายาเข้าปอดได้หลายครั้งโดยที่ตัว Spacer จะช่วยให้ตัวยาไม่กระจายไหลออกสู่ภายนอกเมื่อกดพ่นยาภาพจาก freepikและสำหรับผู้ที่ใช้ยาพ่นควบคุมอาการเป็นประจำท่านใดที่ยังมีอาการหอบเหนื่อยกำเริบจนต้องใช้ยาพ่นฉุกเฉินอยู่ ก็ควรตรวจสอบว่ามีปัจจัยใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบด้วยหรือไม่ แต่หากไม่พบว่าตนเองได้ไปสัมผัสกับปัจจัยกระตุ้นใด ๆ ก็ควรตรวจสอบเทคนิคการพ่นยาก่อนว่าสามารถทำได้อย่างถูกต้องทุกขั้นตอนแล้วหรือไม่ และหากพ่นยาด้วยเทคนิคที่ถูกต้องครบถ้วนสม่ำเสมอไม่ขาดยาแล้วแต่ก็ยังคงมีอาการหอบเหนื่อย ควรแจ้งแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาต่อไปค่ะบทความอื่นของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง "ยา" - {เภสัชขอเล่า} ทำไมยาบางตัวจึงต้องกินหลังอาหาร”ทันที”!- "เชื้อดื้อยา" ป้องกันได้ แค่กินยาให้ครบ- ควรทำอย่าไรเมื่อ "ลืมกินยา"- จริงหรือไม่ ? กินยามากไปแล้วทำให้ "ไตวาย"- "แพ้ยา" เป็นอย่างไร เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องรู้- ปัญหาการกินยาที่พบบ่อยใน "ผู้สูงอายุ"- เคล็ด(ไม่)ลับ แก้ปัญหา "ลืมกินยาบ่อย"- ใช้ "ยาหยอดตา" อย่างไรให้ถูกวิธี- 💊 ยาตีกัน (Drug Interactions) หมายถึงอะไรนะ ?- 💊 เลือกยาแก้แพ้แบบ “ง่วง” หรือ “ไม่ง่วง” แบบไหนดีกว่ากันนะ ?- 💊 ประเภทความเสี่ยงของยาที่ใช้ใน "หญิงตั้งครรภ์" เรื่องที่ว่าที่คุณแม่ต้องรู้- 💊 กินยา "พาราเซตามอล" อย่างไร ให้ปลอดภัย- 💊 ยาชุด ยาอันตรายถึงตาย ไม่ว่าใครก็ควรหลีกเลี่ยง !- 💊 วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอด ชนิดเม็ด แบบไม่มีอุปกรณ์ช่วยสอด- 💊 รู้ไว้ใช่ว่า กับเรื่องของ "ยาน้ำ"