สวัสดีค่ะ พบกันกับบทความเกี่ยวกับสุขภาพที่เขียนโดยเภสัชกรตัวน้อย ๆ คนหนึ่งที่อยากจะมาแบ่งปันเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวเรื่องยากับยาให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ สำหรับวันนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กันในเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ เลย นั่นก็คือ “การกินยาหลังอาหาร” นั่นเอง เอ.. ว่าแต่มีใครเคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าทำไมกันนะ ตอนจ่ายยาเภสัชฯถึงได้ย้ำนักย้ำหนาว่ายาตัวนี้ถึงต้องกินหลังอาหารทันที แล้วถ้าเกิดว่าถ้าลืมกินขึ้นมานึกขึ้นได้อีกทีก็เลยไปครึ่งชั่วโมงแล้วล่ะ จะกินเลยได้ไหม หรือถ้าไม่มีเวลาว่างกินข้าวจริง ๆ แต่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาอยากจะกินยาตัวนี้ก่อนอาหารล่ะ จะได้หรือเปล่า วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ ขอบคุณรูปภาพจาก pexels.comทำไมถึงต้องกินยาหลังอาหารทันที! การที่ยาตัวหนึ่งนั้นต้องกินหลังอาหารทันทีอาจเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกันนะคะ ตัวอย่างเช่น ยามีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ยากัดกระเพาะ ข้อนี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญเลยค่ะ ที่ทำให้เราต้องรีบกินยาหลังอาหารทันที ซึ่งคำว่ายากัดกระเพาะนั้น ถือเป็นอาการข้างเคียงอย่างหนึ่งของยาที่ไม่เป็นอันตราย แต่อาจจะทำให้มีอาการปวดแสบท้องหลังกินยาได้ ยากลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้ปวดลดอักเสบในกลุ่ม N-SAIDs (เอ็นเสดส์) ยกตัวอย่างชื่อยาที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่ Ibuprofen (ไอบูโพรเฟน), Diclofenac (ไดโคลฟีแนค) หรือยาที่สาว ๆ มักจะกินเมื่อมีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่าง Mefenamic acid (มีเฟนามิค แอซิด) นั่นเอง ปัจจุบันยากลุ่ม N-SAIDs นั้นได้มีการพัฒนาโครงสร้างของยาให้ออกฤทธิ์อย่างจำเพาะเจาะจงในการแก้ปวดลดอักเสบมากขึ้น และลดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารลง กลายเป็นยากลุ่มที่มีชื่อเล่นลงท้ายสั้น ๆ ว่า ค็อกซิบ ทำให้สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นค่ะ ขอบคุณรูปภาพจาก pexels.com ถึงแม้ว่ายากลุ่ม N-SAIDs รุ่นเก่านี้จะมีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าวไป แต่เพื่อน ๆ สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการ “กินยาหลังอาหารทันที” ค่ะ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ยาแตกตัวแล้วไปสัมผัสกับเยื่อบุทางเดินอาหาร ก็จะทำให้เราสามารถกินยาเหล่านี้ได้โดยไม่มีอาการปวดแสบท้องนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีเวลาว่างกินข้าว หรือเลยเวลากินข้าวไปนานแล้ว ก็ไม่ถึงกับต้องหาข้าวมากินอีกจานนะคะ เพื่อน ๆ สามารถหาอะไรรองท้องพอไม่ให้ท้องว่างแล้วจึงค่อยกินยาและดื่มน้ำตามมาก ๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงผลระคายเคืองกระเพาะของยาได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มค็อกซิบค่ะ ขอบคุณรูปภาพจาก pexels.com แต่ถ้าหากเพื่อน ๆ คนไหนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคแผลในทางเดินอาหารอยู่แล้ว หรือเป็นคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหาร เช่น ผู้สูงอายุ จะต้องระมัดระวังการรับประทานยากลุ่มนี้เป็นพิเศษนะคะ เนื่องจากจะอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงจากยาได้มากกว่าคนปกติ และหากจะใช้ยากลุ่มนี้ อาจมีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรดควบคู่ไปด้วย ซึ่งหากกินยาลดกรดด้วยแล้วแต่ยังเกิดอาการระคายเคืองทางเดินอาหารจากยาอีก อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มค็อกซิบ หรือใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยากลุ่ม N-SAIDs ไปเลย ดังนั้นก่อนรับประทานยาจึงควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งนะคะ นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เลยก็คือ การใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม N-SAIDs โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดแข้งปวดขา ปวดหลัง หรือปวดท้องประจำเดือน ควรรับประทานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อหายปวดแล้วก็ควรหยุดยาที ไม่แนะนำให้ทานต่อเนื่องอย่างเด็ดขาดนะคะ รวมถึงไม่ควรเพิ่มขนาดยาเองจากที่ระบุอีกด้วยค่ะ ดังนั้นหากใครที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรังหรือกินยาในขนาดปกติไปหลายมื้อแล้วยังไม่มีทีท่าว่าอาการปวดนั้นจะทุเลาลง แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์โดยด่วนค่ะ ขอบคุณรูปภาพจาก pexels.com ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ต้องกินยาหลังอาหารทันที ก็ได้แก่ การรับประทานยาหลังอาหารทันทีจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น หรือเพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเมื่อเทียบกับการกินยาตอนท้องว่าง ซึ่งเอาไว้มีโอกาสจะมาขยายความบอกเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะคะ เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านบทความนี้แล้วได้เนื้อหาสาระความรู้เพิ่มเติมกันบ้างไหมเอ่ย อย่าลืมนะคะ หากเพื่อน ๆ มีปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องยา สามารถปรึกษาเภสัชกรได้เลยค่ะ บ๊ายบาย.. :)