โรคภัยไข้เจ็บกับเด็กวัยเรียนเป็นของคู่กันนะคะ ดังนั้น หน้าที่ประการหนึ่งของพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดู คือ การเฝ้าระวังโรคติดต่อที่ลูกจะติดมาจากโรงเรียน และการป้องกันไม่ให้ลูกเป็นพาหะนำโรคไปแพร่กระจายต่อด้วยนะคะ ซึ่งเราให้ความสำคัญในการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่เจ็บป่วยง่ายค่ะโรคชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน คือ “โรคอีสุกอีใส” ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส สามารถถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง ด้วยการสัมผัสผิวหนังที่มีแผลหรือตุ่ม รวมทั้งการหายใจ ไอ จามใส่กันด้วย // ภาพโดย Petras Gagilas จาก flickr //สำหรับอาการของโรค คือ ผู้ป่วยจะมีไข้ 1 - 2 วัน มีตุ่มน้ำใสขึ้นตามตัว เริ่มจากบริเวณลำตัว ใบหน้า ก่อนที่จะลุกลามไปยังแขนและขา ซึ่งเม็ดตุ่มใสนี้จะทำให้ผู้ป่วยคัน โดยอาการต่าง ๆ จะหายไปภายในเวลา 5 - 7 วันสำหรับวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ อยู่ให้ห่างจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส แต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสทั้งแบบวัคซีนเดี่ยว (ฉีดเข็มเดียวป้องกันเฉพาะโรคอีสุกอีใส) หรือแบบวัคซีนรวม (ฉีดเข็มเดียวป้องกันได้ทั้งโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใส) ที่บ้านเราให้ลูกแบบฉีดวัคซีนรวมดังกล่าว ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4 ขวบ เหตุผลสำคัญที่เราให้ลูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส นั่นเพราะแม้จะหายป่วยจากโรคอีสุกอีใสแล้วก็ตาม มักมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคงูสวัดได้ภายหลัง ทั้งนี้ การฉีดวัคป้องกันโรคอีสุกอีใสสามารถฉีดวัคซีนได้ทุกช่วงอายุ ดังนี้ค่ะเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ : เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป : ฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยมีระยะห่างกัน 3 เดือนผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป : หากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ไม่ต้องฉีดวัคซีน หากไม่มั่นใจว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อนหรือไม่ สามารถตรวจภูมิคุ้มกัน และปรึกษาแพทย์นะคะ// ภาพโดย bass_nroll จาก flickr //สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ดังนั้น หากป่วยเป็นโรคนี้เรามีคำแนะนำในการดูแลตัวเอง ดังนี้ค่ะ- อาการหลักของโรค คือ อาการคัน ผู้ป่วยสามารถรับประทานยากลุ่มแก้แพ้ หรือใช้ยาทาภายนอก ทาตามร่างกาย เช่น คาลาไมน์โลชั่น เพื่อลดอาการคัน และกักเก็บความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง- ดูแลแผลให้สะอาด ไม่เกาและไม่แกะแผล ไม่อาบน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ผิวแห้ง คัน และเกา ซึ่งการเกาจะทำให้เกิดแผลอักเสบ และติดเชื้อ รวมทั้งทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้- หยุดเรียน หรือหยุดงาน จนกว่าแผลจะตกสะเก็ด เพื่อจะได้ไม่ไปแพร่กระจายเชื้อโรคยังผู้อื่นต่อ// ภาพโดย rawpixel-com จาก Freepik //ในมุมมองของเรา การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน ให้ผลดีกว่าการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่จะตามมาในภายหลังนะคะ นอกจากนี้ การฉีดแบบวัคซีนรวมยังช่วยไม่ให้ลูกต้องเจ็บตัวบ่อยจากการฉีดยา ป้องกันพ่อแม่หลงลืมการพาลูกไปฉีดยาตามนัด และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการฉีดทีละโรคทีละเข็มด้วยค่ะ // เครดิตภาพปกโดย Freepik จาก Freepik //