การจัดการความทรงจำที่ชอกช้ำใจ( บทความสุขภาพจิต) ภาพจาก: geralt / pixabay “อาจารย์ครับเมื่อไหร่ผมจึงจะลืมเหตุการณ์ที่ทำให้ผมช้ำใจเสียที” “อาจารย์คะเมื่อไหร่หนูจึงจะลืมเหตุการณ์ที่ทำให้หนูทุกข์ใจเสียทีคะ” นั่นเป็นคำถามที่ผู้เขียนได้รับบ่อยๆจากผู้ที่เข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และทุกคนจะได้รับคำตอบจากผู้เขียนว่า “เราไม่จำเป็นต้องลืมมันหรอกครับ ขอแค่ถ้านึกถึงมันเมื่อไหร่แล้วเราไม่ทุกข์ใจก็เพียงพอแล้ว เมื่อนั้นแหละคือความสำเร็จของเยียวยาทางความคิดและอารมณ์ครับ” เฉกเช่นแผลด้านร่างกายที่หายแล้ว แม้เป็นแผลเป็นอยู่เราก็เห็นว่าเป็นแผลเป็น แต่ไม่ทำให้เราเจ็บแผลหรือเจ็บกายแต่อย่างใด หรือเฉกเช่นเราจำได้ว่าเราเคยเรียนหนังสือที่ไหน เราเรียนจบอะไร นึกถึงเมื่อไหร่ก็นึกถึงได้โดยที่ไม่รู้สึกทุกข์ระทมตรงใจเช่นนั้นเอง นักสุขภาพจิตทุกคน ต่อให้เชี่ยวชาญเพียงใดก็ตาม การเยียวยาผู้ที่ชอกช้ำใจนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ที่รับการเยียวยาลืมอดีตที่ทำให้เขาช้ำใจไปหรอก หากแต่คือการทำให้เขาปรับความคิดและอารมณ์ได้กับเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยช่วยให้เขารู้สึกทุกข์ใจน้อยไปเรื่อยๆจนไร้ความทุกข์ใจนั่นเอง ภาพจาก : DanaTentis /pixabay วิธีจัดการความทรงจำที่ช้ำใจที่ผู้เขียนมักจะใช้แนะนำผู้ที่เข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมีสามวิธีคือ1)ใช้ปัญญา 2)ใช้เวลาและ3)ใช้ยา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1)ใช้ปัญญา หมายถึงการมีความตระหนักรู้ ความเข้าใจ การยอมรับและการให้อภัยกับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ชอกช้ำใจในอดีตที่ผ่านมา เพราะย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งใดมิได้อีกแล้ว มันเป็นอดีตผ่านมาแล้ว แต่การค่อยๆระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทีละนิดๆ เป็นระยะๆ ประกอบกับบางเหตุการณ์อาจจำเป็นต้องมีการสร้างวิธีการป้องกันแก้ไขการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ จะทำให้ความรู้สึกหวั่นกลัวและทุกข์ระทมใจที่เขาเผชิญอยู่ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นบางรายที่มาปรึกษากับผู้เขียนกรณีอกหักและต้องคดีอาจต้องใช้เวลาถึงสองปีจึงจะค่อยๆดีขึ้น จากการคิดถึงเหตุการณ์เดิมแล้วทุกครั้งเขาจะหวาดกลัว เครียด ร้องไห้ จนกระทั่งเลิกร้องไห้และสุดท้ายก็รู้สึกเฉยเฉยในที่สุด 2)ใช้เวลา คำว่าใช้เวลาในที่นี้หมายถึงต้องทำข้อหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับหาคนที่ไว้วางใจได้เป็นที่ปรึกษาและระบายความทุกข์ต่างๆให้ฟัง หรือหากไม่มีใครก็เขียนระบายลงกับกระดาษเป็นลายลักษณ์อักษร และหากิจกรรมทั้งงานประจำและงานที่เป็นนันทนาการทำอย่างสม่ำเสมอ อย่าหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่เพียงลำพังเพราะจะทำให้คิดมาก เหงา เศร้า ร้าวรานใจนั่นเอง และเมื่อผ่านกาลเวลามาเป็นระยะๆแล้วจะเกิดความรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆจากการปรับความคิดและปรับตัวได้จนรู้สึกเฉยเฉยในที่สุด 3)ใช้ยา การใช้ยาด้านสุขภาพจิตนี้หมายถึงกรณีผู้ที่ทำข้อหนึ่งและข้อสองแล้วก็ยังรู้สึกทุกข์ระทมตรมใจอยู่นานควรไปพบจิตแพทย์ เมื่อพบจิตแพทย์ก็ได้รับยาคลายเครียด คลายความวิตกกังวล และกระตุ้นสารแห่งความยับยั้งชั่งใจและสารแห่งความสุขให้หลังออกมามากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบใจปรับความคิดและปรับตัวต่อความชอกช้ำใจดังกล่าวได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง ภาพจาก : Funki6 / pixabay หากผู้ที่ได้รับความชอกช้ำใจใดๆ ตั้งใจทำตามที่ผู้เขียนแนะนำมาทั้งสามประการ จะช่วยให้การปรับความคิดและอารมณ์ให้ยอมรับต่อเหตุการณ์ที่ชอกช้ำใจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นั่นคือการไม่ต้องลืมเหตุการณ์ที่ทำให้ชอกช้ำใจแต่เหลือเป็นเพียงการจำได้หมายรู้ที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความทุกข์ใจในที่สุดนั่นเองภาพปกจาก : MabelAmber /pixabay รศ.ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์นักวิชาการสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา นักเขียน สนพ.แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มติชน,อมรินทร์ธรรมะ,ซีเอ็ด,ดิเอ็มจี,วิชบุ๊ค ร่วมเสพบทความ หนัง เพลง และซีรีส์ใหม่ๆสุดเพลิดเพลิน โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !