ภาพโดย ไอยรา รสนิยมการกินอาหารของคนไทยนั้นนิยมอาหารรสจัด ถึงเครื่อง รสแซ่บ บ้างก็เรียกว่า “ครบรส” กว่าจะเป็นอาหารรสจัดได้นั้นก็ต้องใส่เครื่องปรุงรสมากมายเพื่อให้รสกล่อมกล่อม สิ่งที่พึงทราบคือ อาหารรสหวาน เปรี้ยว เค็ม มัน และเผ็ด มักไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว เช่น กว่าต้มยำจะอร่อยแซ่บถูกใจผู้รับประทานได้นั้นก็ต้องประกอบด้วย รสเปรี้ยว รสเค็ม และพริก อาหารหวานก็เช่นกัน บัวลอยจะอร่อยได้ต้องมีรสหวาน รสเค็ม รสมัน ประกอบเข้าด้วยกัน ภาพโดย pixabay อาหารไทยมีมากมายทุกหัวมุมถนน เมื่อกินอาหารคาวอิ่มแล้วก็ต้องตบท้ายด้วยอาหารหวาน รวมความแล้วแต่ละวันคนไทยกินเครื่องปรุงรสเข้าไปในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งปริมาณมากเกินควรนี้จะเข้าไปสะสมในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคกระเพาะ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งโรคที่เกิดจากการกินเหล่านี้ทุกคนป้องกันได้ ยิ่งเริ่มต้นป้องกันเร็วเท่าใด สุขภาพและชีวิตของท่านก็จะยืนยาวมากขึ้นเท่านั้น ภาพโดย pixabay การเปลี่ยนรสชาติอาหารที่ชื่นชอบเป็นเรื่องลำบากสำหรับใครหลาย ๆ คน อีกทั้งอาหารที่ทำขายอยู่ตามร้านค้าก็มักจะทำรสจัดเป็นหลัก การเริ่มต้นเปลี่ยนวิธีการกินเพื่อสุขภาพนั้นเราอาจเริ่มต้นโดยการลดเครื่องปรุงลงทีละน้อย เช่น จากที่เคยต้องเติมน้ำปลาหนึ่งช้อนโต๊ะ ก็เริ่มลดโดยเติมเพียงครึ่งช้อนโต๊ะ วันแรก ๆ อาจไม่คุ้นเคยและรู้สึกว่ารสจืดกว่าที่เคยกิน แต่หากอดทนกินไปสักหนึ่งสัปดาห์ ลิ้นของเราจะเริ่มรับรู้ว่า รสนี้คือรสอร่อย เมื่อเริ่มชินแล้วก็ให้เริ่มลดลงปริมาณเครื่องปรุงลงอีกในสัปดาห์ที่สองด้วยวิธีเดียวกัน ลดปริมาณไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดท่านก็จะรับประทานอาหารได้โดยไม่ต้องใส่เครื่องปรุงรสเพิ่ม ภาพโดย pixabay เมื่อรับประทานอาหารโดยไม่ปรุงเพิ่มได้แล้ว สัปดาห์ถัดไปอาจเริ่มด้วยการเขียนท้ายเมนูอาหารที่สั่งให้ลดเครื่องปรุง เช่น ผัดแขนงหมูกรอบ (เค็มน้อย) ตำไทย (ใส่พริก 3 เม็ด) ชานมไข่มุก (หวาน 25%) การทิ้งระยะเวลาลดเครื่องปรุงแบบไม่หักดิบนั้นจะช่วยให้ลิ้นยังรู้สึกอร่อย ไม่ทรมานกับการกินมากจนล้มเลิกไปกลางคัน ภาพโดย pixabay หากใครทำสำเร็จแล้วอาจชักชวนคนในครอบครัวให้เริ่มภารกิจหลอกลิ้นให้ชินรสไปด้วยกัน จะช่วยรักษาสุขภาพทุกคนในครอบครัวให้ดีขึ้นในระยะยาว ไม่ต้องไปหักดิบหักใจกินอาหารจืดตอนที่โรครุมเร้า เพราะแท้ที่จริงแล้วโรคที่เกิดจากกินอาหารรสจัดนั้นเราทุกคนป้องกันได้ เปลี่ยนวิถีการกินได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หมดรสอร่อยอย่างที่หลายคนคิด