สมัยนี้เห็นได้ว่าเป็นทาสแมวกันเยอะมาก ด้วยความน่ารักและขี้อ้อนของเจ้าเหมียวที่ทำให้เหล่ามนุษย์ตกเป็นทาส ไม่ว่าเจ้าเหมียวจะทำอะไรทาสมนุษย์มักจะยอมทุกอย่าง บางทีการยอมถูกกัดถูกข่วน แต่ทาสชะล่าใจ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ผู้เขียนจะมาเล่าประสบการณ์การถูกแมวกัด และความรู้ว่าเราจะต้องทำอย่างเมื่อเราถูกแมวกัด ข่วน ทำไมเราถึงอย่าชะล่าใจเมื่อถูกแมวกัด ข่วน น้ำลายแมวจะมีเชื้อ Bartonella henselae และ Pasteurella multocida ไม่ว่าเราจะโดนแมวกัด ข่วน หรือแม้กระทั่งแมวเลียแผล อาจทำให้แผลติดเชื้อ ถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อันตรายที่เราอาจจะได้รับคือ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อ Rabies virus เกิดจากกเราถูกสัตว์ที่มีเชื้อนี้ กัด ข่วนหรือน้ำลายโดนบริเวณบาดแผล และ โรคบาดทะยัก (Tetanus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani กรณีที่แผลลึกและไม่สะอาดทำอย่างไรเมื่อถูกกัด ก่อนอื่นจะเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนให้ฟัง แมวที่บ้านผู้เขียนส่วนใหญ่เป็นแมวจรไม่ได้รับวัคซีน ที่แม่คอยให้อาหารกิน ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ คือ นางเป็นแมวแม่ลูกอ่อน แล้วนางมาคลอดลูกในบ้านของผู้เขียน ซึ่งส่วนนั้นเป็นทางเดินเข้าออกของบ้าน แน่นอนเวลาผู้เขียนเดินเข้าบ้านนางก็จะยิ้มทักทายเสมอ เห็นไหมยิ้มเก่ง วันนึงนางก็ไม่ยิ้มแต่เดินมาทักทายแบบ สกินชิพ ฝังเข้าไปในเนื้อของผู้เขียน แล้วนางก็หันมายิ้มให้เบาเบาก่อนเดินจากไป เราอย่าเพิ่งดีใจว่านางรักเรามากนะคะ ก่อนอื่นเราต้องประเมินบาดแผลของเราว่าสาหัสแค่ไหน ตามด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ค่ะ 1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลายๆ ครั้ง เบาๆ หากเป็นแผลรูลึกอาจใช้สำลีพันปลายไม้หมุนเข้าไปล้างก้นแผลด้วย2. ทายาฆ่าเชื้อ ประเภทเบตาดีนหรือครีมทาแผลที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่าที่จะหาได้ ปิดแผลให้สนิท3. ไปพบแพทย์เพื่อไปรับการรักษาพยาบาล จำเป็นต้องได้รับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่ถูกแมวกัด4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ฉีดท็อกซอยล์ป้องกันบาดทะยัก หรืออิมมูโนโกลบุลิน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ของผู้เขียน ได้รับทั้งสองเลย ตัวอิมมูโนโกลบุลิน เนี่ยจะทดสอบก่อนฉีดใต้ผิวหนัง ดูว่าเราแพ้ไหม จากนั้นก็ฉีดรอบๆแผล ที่เหลือก็ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ใช่ครั้งเดียวจบนะคะ ต้องมาอีก 4 ครั้ง วันที่ 3, 7, 14, 30 นับจากวันที่ได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ส่วนบาดทะยักผู้เขียนได้กระตุ้น 1 เข็ม เพราะเคยได้รับนานเกิน 5 ปี 5. ยาที่ได้รับ ก็จะเป็น ยาแก้ปวดรับประทานเมื่อมีอาการ กับยาฆ่าเชื้อ (กินให้ครบนะคะไม่งั้นเชื้อจะดื้อยา) ของผู้เขียนเนี่ยบวมแดงร้อนเลย ทรมานจริงๆ 6. หมั่นทำความสะอาดแผลทุกวัน ด้วย แอลกอฮอล์เช็ดรอบแผล และทาด้วยเบตาดีนหรือครีมทาแผลที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย บริเวณแผล7. สังเกตตัวต้นเหตุด้วยนะคะ ประมาณ 10-15 วัน ว่านางยังมีชีวิตรอดอยู่ไหม มีอาการอะไรผิดปกติ เพื่อดูว่าแมวติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไหม ยาและวัคซีนที่ผู้เขียนได้รับ แผลนี้ของแม่ผู้เขียนที่เกิดจากตัวต้นเหตุเดียวกัน แม่จะมีอาการมากกว่า เพราะเป็นผู้สูงอายุ อาการจะบวมแดง ร้อน และเดินแทบไม่ได้เลย ดังนั้นหากบ้านไหนเลี้ยงแมวก็ควรนำไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า แต่ยังไงเมื่อโดนกัดข่วนแล้ว ก็รีบความสะอาดแผล และมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษานะคะ เราไม่รู้ว่าจะได้รับเชื้ออะไรที่รุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เครดิตรูปภาพภาพที่ 1 : ภาพถ่ายของผู้เขียนภาพที่ 2 : ภาพถ่ายของผู้เขียนภาพที่ 3 : ภาพถ่ายของผู้เขียนภาพที่ 4 : ภาพถ่ายของผู้เขียนภาพปก : ภาพถ่ายของผู้เขียน7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์