ภาพประกอบปกบทความโดย vectorpouch จาก freepik “ยาน้ำ” หมายถึงยารูปแบบของเหลวที่ถูกบรรจุอยู่ในขวด อาจเป็นรูปแบบยาน้ำพร้อมรับประทานหรือยาที่ต้องเติมน้ำให้ได้ปริมาตรแล้วผสมให้เข้ากันก่อนจึงรับประทานได้ ซึ่งส่วนใหญ่ แพทย์ก็มักจะสั่งยาน้ำให้เด็กตัวน้อยกินเวลามีอาการเจ็บป่วย และในบทความนี้ผู้เขียนก็มีสาระน่ารู้ดี ๆ เกี่ยวกับยาน้ำมาฝากกันค่ะ ภาพประกอบโดย freepik ยาน้ำกับยาเม็ดต่างกันอย่างไร จริง ๆ แล้วไม่ว่ายาน้ำหรือยาเม็ดก็ไม่ได้แตกต่างกันในเรื่องของการรักษาหากเป็นตัวยาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ยาพาราเซตามอล ที่จะมีทั้งรูปแบบยาน้ำและยาเม็ดให้รับประทาน แต่การทำยาให้อยู่ในรูปแบบยาน้ำนั้นจะสะดวกต่อการรับประทานมากกว่าสำหรับเด็กเล็กที่ยังรับประทานยาน้ำไม่ได้ ในเด็กที่น้ำหนักน้อยเกินกว่าที่จะแบ่งยาเม็ดรับประทาน หรือในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องการกลืน ซึ่งในยาน้ำจะมีการปรุงแต่งกลิ่นรสต่าง ๆ ออกมาช่วยให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น ภาพประกอบโดย freepik ขนาดยาที่ใช้จะคิดจากน้ำหนักตัว ทุกครั้งก่อนจ่ายยาน้ำให้ผู้ป่วยเด็ก แพทย์หรือเภสัชกรจะต้องทราบน้ำหนักตัวที่แท้จริงก่อนเพื่อคำนวณขนาดยาที่จะให้รับประทานอย่างเหมาะสม ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรทราบน้ำหนักที่ถูกต้องของเด็กด้วย หรือกรณีที่ซื้อยาน้ำสามัญประจำบ้านรับประทานเอง เช่น ยาน้ำพาราเซตามอล ก็ควรอ่านฉลากที่ระบุขนาดยาตามน้ำหนักตัวที่ข้างขวดก่อนรับประทานยาทุกครั้ง ภาพประกอบโดย freepik ทำไมยาน้ำบางตัวต้องทำเป็นผง เนื่องจากยาบางชนิดอาจจะเกิดการเสื่อมสลายตัวได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับน้ำ จึงไม่สามารถทำเป็นรูปแบบยาน้ำได้เหมือนยาทั่วไป เช่น ยาปฏิชีวนะ ดังนั้นยาเหล่านี้จึงต้องทำให้อยู่ในรูปแบบผง เมื่อจะรับประทานจึงค่อยเติมน้ำลงไปผสมจนได้ปริมาตรตามที่กำหนดแล้วจึงรับประทานในขนาดตามที่ฉลากยาระบุ ซึ่งน้ำที่เติมควรจะเป็นน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว หรือน้ำดื่มสะอาดเปิดใหม่ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ตัวยาเสื่อมสลายได้ง่าย ยาน้ำเปิดแล้วเก็บได้กี่วัน หากกรณีที่ยังไม่ได้เปิดขวดยา วันหมดอายุของยาจะเป็นไปตามที่ฉลากยาระบุ แต่หากเปิดใช้แล้วควรพิจารณาวันหมดอายุของยาดังนี้ กรณีที่เป็นยาปฏิชีวนะชนิดผสมน้ำก่อนรับประทาน หลังผสมแล้วควรเก็บยาในตู้เย็นโดยจะเก็บได้ไม่เกิน 14 วัน หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องก็ไม่ควรเก็บไว้เกิน 7 วัน แต่หากเป็นยาน้ำทั่วไป สามารถเก็บไว้ได้นานสูงสุด 6 เดือน หรือคิดคำนวณวันหมดอายุของยานั้นโดยการหักลบวันที่เปิดขวดยากับวันหมดอายุจริง เช่น เหลืออีก 4 เดือนยานี้จะถึงวันหมดอายุ เราจะสามารถเก็บยานี้ต่อได้แค่ 1 ใน 4 ของเวลาที่เหลืออยู่เท่านั้น ก็คือเก็บไว้ได้แค่ 1 เดือนนั่นเอง ภาพประกอบโดย brgfx จาก freepik เอายาเม็ดมาเตรียมเป็นยาน้ำเองได้หรือไม่ การบดผสมยาเม็ดให้กลายเป็นยาน้ำเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เนื่องจากยาหลาย ๆ ตัวไม่มีการผลิตออกมาเป็นรูปแบบยาน้ำจำหน่าย ดังนั้นเภสัชกรหรือผู้ที่ต้องป้อนยาให้ผู้ป่วยอาจจะต้องเตรียมยาน้ำจากยาเม็ดด้วยตัวเอง หรือในกรณีที่เภสัชกรแนะนำให้นำยานี้ไปผสมและรับประทานเองที่บ้านเนื่องจากไม่สามารถเตรียมเป็นยาน้ำสำเร็จรูปให้ได้เพราะจะเกิดปัญหาเรื่องการเสื่อมสลายของยา ผู้เตรียมก็ควรจะทำความเข้าใจวิธีเตรียมยานั้น ๆ ตามคำแนะนำของเภสัชกร รวมถึงกระสายยาที่สามารถนำมาผสมกับยาเม็ดนั้น ๆ ได้ เช่น ยาบางตัวอาจห้ามผสมกับนมหรือน้ำส้ม รวมถึงต้องทราบขนาดยาที่จะต้องให้รับประทานด้วย เช่น หลังผสมยาลงในน้ำกระสายยา 5 ซีซี ให้รับประทานแค่ครั้งละ 3 ซีซี เป็นต้น ยาน้ำบางตัวทำไมตกตะกอน ยาน้ำบางชนิดมีลักษณะเป็นผงยาที่ไม่ละลาย ดังนั้นเมื่อวางตั้งทิ้งไว้จึงอาจเกิดการตกตะกอนนอนก้นได้ ซึ่งหากเมื่อเขย่าแล้วตัวยาสามารถกระจายอยู่ในกระสายยาได้ตามปกติแสดงว่ายานี้สามารถรับประทานได้ แต่หากหลังเขย่าแล้วพบว่าตัวยายังคงจับกันเป็นก้อนแข็งที่ก้นขวด แสดงว่ายานี้อาจหมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้วให้ทิ้งไปได้เลยค่ะ ภาพประกอบโดย freepik และทั้งหมดนี้ก็คือความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องยาน้ำที่ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าให้ฟัง และขอทิ้งท้ายไว้อีกเล็กน้อยนะคะว่า ขนาดยา 1 ช้อนชานั้นจะเท่ากับปริมาตร 5 ซีซี และ 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับปริมาตร 15 ซีซี ดังนั้นหากจะรับประทานยาให้ได้ขนาดที่ถูกต้องตามที่ฉลากยาระบุก็ควรใช้ช้อนชาสำหรับตวงยา หรือใช้หลอดดูดยาที่มีขีดปริมาตรระบุ ไม่ควรใช้ช้อนชงกาแฟหรือช้อนตักอาหารในการตวงยา เพราะอาจทำให้ได้ขนาดยามากหรือน้อยกว่าที่ต้องการได้ค่ะ