หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เดินเข้าร้านขายยาเพื่อขอซื้อยาแก้อักเสบกันใช่ไหมคะ ซึ่งข้อบ่งใช้ในการรักษาที่มาขอซื้อก็มักจะแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย แล้วทราบกันหรือไม่คะว่าแท้จริงแล้วยาที่ทำให้หายจากอาการนั้นคือ 'ยาแก้อักเสบ' หรือ 'ยาฆ่าเชื้อ' กันแน่?ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับอาการอักเสบกันก่อนนะคะ อาการอักเสบ คืออะไร? แบ่งเป็นกี่ประเภท? 1. การอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เกิดจากการที่อวัยวะในร่างกายของเราเกิดการกระทบ กระแทก ชน หรือบาด ทำให้บริเวณนั้นเกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบออกมา หรือที่เรียกว่า Inflammatory cytokines ไปกระตุ้นสมองส่วนกลาง ทำให้เกิดลักษณะของการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนขึ้น เช่น กล้ามเนื้อส่วนหลังอักเสบจากการยกของหนัก กล้ามเนื้อขาอักเสบจากการออกกำลังกายหนักเกินไป ข้อเข่าเสื่อม โรคเก๊าท์ เป็นต้น 2. การอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นการอักเสบจากการติดเชื้อรา หรือแบคทีเรีย โดยกระบวนการอักเสบจะเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้ามา ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจึงเกิดการอักเสบขึ้น โดยทั่วไปเราอาจพบอาการมีไข้ เจ็บคอเมื่อส่องคอพบจุดหนอง ปัสสาวะแสบขัด หรือมีหนองบริเวณแผล เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบการอักเสบของอวัยวะภายในจากการติดเชื้อได้การรักษาอาการอักเสบกรณีการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ สามารถรักษาโดยให้ยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยาจะไปลดระดับ/ยับยั้งสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ หรือยับยั้งตัวรับ (receptors) สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในสมองหรือไขสันหลัง ทำให้สามารถบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen เป็นต้น การรับประทานยาเป็นไปตามอาการ หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นสามารถหยุดรับประทานยาได้ กรณีการอักเสบจากการติดเชื้อ เนื่องจากสาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อโรคและเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ยาที่ใช้ในการรักษาเรียกว่า ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ โดยยาจะมีกลไกในการฆ่าเชื่อโรคแปลกปลอมในร่างกาย ตัวยาที่ได้รับจะพิจารณาตามอาการและชนิดเชื้อที่เป็นสาเหตุ การวินิจฉัยและจ่ายยาจึงอาจมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ยาไม่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ หรือระงับปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บ ผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้ยาเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้การรักษาการอักเสบจาการติดเชื้อต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามที่แพทย์/เภสัชกรสั่งจนครบตามจำนวนทั้งหมด ไม่ควรหยุดรับประทานยาก่อนแม้อาการจะดีขึ้น เพื่อให้ระดับยาถึงจุดที่สามารถฆ่าเชื้อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและป้องกันการดื้อยา หากผู้ป่วยดื้อยาจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาตัวอื่นซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น Amoxycillin, Penicillins, Azithromycin เป็นต้น นอกจากนี้ทั้งยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อสามารถเกิดการแพ้ยาได้ ในกรณีมีประวัติแพ้ยาแนะนำให้ผู้ป่วยแจ้งแพทย์/เภสัชกรทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา หรือกรณีที่ไม่มีประวัติแพ้ยามาก่อนแต่หากรับประทานยาไปแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีผื่นคัน ปากบวม เป็นต้น ให้ผู้ป่วยรีบไปโรงพยาบาล พร้อมแจ้งประวัติการใช้ยาด้วยนะคะขอบคุณภาพจาก pixabay ภาพที่1 pixabay / ภาพที่2 pixabay / ภาพที่3 pixabay