เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคล เป็นวัฒนธรรมทางความเชื่อที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน โดยสมัยก่อนการพกพาเครื่องรางของขลัง มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ด้วยความเชื่อในพลังอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกัน หรือนำพาสิ่งดี ๆ ให้บังเกิดแก่ผู้พกพา ตามลักษณะของเครื่องรางของขลัง หรือวัตถุมงคลแต่ละประเภท ดังนั้น ภาพของการพกพาเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลในอดีต จึงเป็นภาพแห่งความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ มากกว่าจะมุ่งเน้นความสวยงาม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ในขณะที่ความเชื่อเหล่านั้นยังคงมีอยู่ ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาการออกแบบเครื่องรางของขลัง ให้มีรูปลักษณ์ที่ร่วมสมัย และเพิ่มความประณีตงดงาม โดยอาศัยเทคโนโลยีการออกแบบที่ทันสมัยมากขึ้น จนทุกวันนี้ เครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลหลายชนิดได้รับการออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง และมีความสวยงามจนสามารถใช้เป็นเครื่องประดับได้เลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น 1. ตะกรุด ซึ่งสมัยก่อนมีการสร้างโดยนำแผ่นวัสดุ เช่น ตะกั่ว เงิน ทองแดง แม้กระทั่งทองคำ มาจารอักขระ ปลุกเสกแล้วม้วนเข้าหากัน โดยอาจมีการใช้ด้ายถัก ลงรักปิดทอง จึงทำให้ตะกรุดสมัยก่อนมีขนาดใหญ่ ยาว นิยมพกพาโดยการร้อยเชือกคาดเอวหรือแขวนคอ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาโดยออกแบบเป็นตะกรุดขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 - 3 นิ้ว โดยมีรูปแบบการตกแต่ง เช่น พันด้วยด้ายหรือเชือกสีสันต่าง ๆ อุดผงหรือวัสดุต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีคุณวิเศษ และวิธีการพกพาที่เป็นนิยมกันในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ คือ การร้อยประดับร่วมกับกำไลหิน หรือสายรัดข้อมือ เป็นกระแสแฟชั่นอยู่ในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา 2. วัตถุมงคลในรูปพญาครุฑ ด้วยรูปลักษณ์ความเป็นเทพในตำนานความเชื่อ ซึ่งมีเทวลักษณะที่สง่างาม โดยเฉพาะลักษณะของครุฑสยายปีกและฟ้อนรำที่คงจะเคยเห็นกันคุ้นตา ได้ถูกพัฒนาดีไซน์ให้เป็นวัตถุมงคลหลากหลายรุ่นจากหลายสำนัก ที่มีรายละเอียดความคมชัด ประณีต งดงาม ไม่ว่าจะเป็นรูปลอยองค์ หรือลักษณะนูนต่ำ นูนสูง เช่น เหรียญ เนื้อผง เมื่อนำไปเลี่ยมกรอบใส่สร้อยคล้องคอ ก็สามารถโชว์ความงดงาม สง่า ประดุจเครื่องประดับอีกชิ้นหนึ่งได้ 3. วัตถุมงคลในรูปพญานาค เป็นกระแสนิยมกันมาตั้งแต่ประมาณปี 2560 ที่มีความเชื่อกันว่า เป็นช่วงเริ่มต้น 5 ปีนาคราชประทานพร จะเห็นได้ว่ามีการจัดสร้างวัตถุมงคลรูปพญานาคกันอย่างหลากหลาย โดยมีการออกแบบสรีระที่มุ่งเน้นไปแที่ความอ่อนช้อย งดงาม แต่ก็แฝงไว้ซึ่งความเข้มขลัง เป็นอีกหนึ่งรูปแบบวัตถุมงคลที่ใช้เป็นเครื่องประดับที่เสริมได้ทั้งบุคคลิกและกำลังใจ 4. รูปจำลององค์เทพต่าง ๆ เช่น องค์ท้าวเวสสุวรรณ พระพิฆเณศ พระพรหม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ และมีการจัดสร้างเป็นวัตถุมงคลมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อน จนถึงทุกวันนี้จะเห็นว่า รูปลักษณ์ของวัตถุมงคลที่จำลองเทวลักษณะขององค์เทพเหล่านั้น มีลักษณะความเป็นงานศิลป์ที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อนำมาประดับติดตัว ก็ทำให้มองเห็นถึงความงดงาม เสริมสร้างความมั่นใจ ทั้งจากความเชื่อในเทวานุภาพ และความสวยงามแห่งรูปลักษณ์ของเทวจำลองนั้น 5. รูปจำลองสัตว์ที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น เสือ แมลงภู่ นกสาริกา ซึ่งเป็นคติความเชื่ออันเป็นภูมิปัญญามาแต่อดีตกาล เช่น รูปจำลองของเสือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอำนาจ บารมี แมลงภู่ สื่อถึงโชคลาภ สาริกาคือตัวแทนแห่งเสน่ห์เมตตามหานิยม โดยภาพจำลองสัตว์ต่าง ๆ เหล่านั้นถูกพัฒนาออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้แลดูใกล้เคียงความมีชีวิตมากขึ้น การออกแบบลวดลายและสีสันอย่างมีศิลปะ ทำให้ความงดงามก็มีมากขึ้น และสามารถนำมาเป็นใช้เครื่องประดับของสายมูเตลูได้ จะเห็นได้ว่า คุณค่าของวัตถุมงคลในปัจจุบันมิได้จำกัดอยู่แค่ความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น หากยังถูกพัฒนาให้มีคุณค่าทางจิตใจในแง่ของศิลปะและความงดงามเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ค่านิยมที่มีต่อเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล ที่บางอย่างก็เป็นหนึ่งในศิลปะวัฒนธรรมของไทยเรายังคงไม่จืดจาง และขยายวงกว้างไปในทางบวกมากขึ้น ภาพประกอบบทความ โดย 31singha ภาพปกบทความ จาก Pixabay.com