คนที่โชคดีที่สุดไม่ใช่คนที่ร่ำรวยที่สุดแต่เป็นคนที่สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุดต่างหาก ผู้เขียนใช้ชีวิตเหมือนผู้หญิงปกติทั่วไปเจอเรื่องที่ทำให้สุขบ้าง ทุกข์บ้างสลับกันอย่างนี้เรื่อยไปและชีวิตของผู้เขียนก็ดำเนินต่อไปอย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งผู้เขียนอายุ 20 ปี สัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายก็ดังขึ้น เมื่อผู้เขียนมีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างหนักอีกทั้งยังมีเลือดออกกระปริกระปรอยทำให้ผู้เขียนตัดสินใจไปตรวจภายในและได้คำตอบจากแพทย์ว่าผู้เขียนเป็น " เยื่อยุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ " ตอนนั้นความรู้สึกของผู้เขียนมันชาไปทั้งตัวราวกับว่าโดนฟ้าผ่าที่กลางแจ้ง ความกลัวโลดแล่นเข้ามาในทุกโสตประสาทและน้ำตาก็สามัคคีกันออกมาปลอบใจผู้เขียนกันยกใหญ่ เห้อออ ใครจะไปคิดกันล่ะคะ ว่าหวยล็อตใหญ่จะมาออกที่เรา เพิ่งจะโตเป็นสาวอายุ 20 แท้ ๆ โรคที่ไม่พึงประสงค์ก็ดันมาเกิดกับเราเสียอย่างนั้นภาพจาก Pixabay หลังจากช็อคกันไปแล้วในรอบแรกเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร ความช็อคในครั้งที่สองก็เกิดขึ้นเมื่อคุณหมอบอกว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงประคองอาการให้อยู่ในระดับคงที่และไม่แย่ลงไปมากกว่าเดิมเท่านั้น หากไม่สามารถประคับประคองกันไปให้คงที่ได้ มดลูกของเราก็จะมีอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ และอาการปวดท้องของเราก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทางเลือกสุดท้ายที่เราไม่มีโอกาสได้เลือกก็คือการตัดมดลูกทิ้ง สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 45-50 ขึ้นไปคงทำใจได้ไม่ยาก เพราะด้วยวัยนั้นพวกเขาก็ใกล้จะหมดประจำเดือนกันตามวัยอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้เขียนหากต้องตัดมดลูกทิ้งในวัยยี่สิบต้น ๆ มันคงเป็นเรื่องที่ลำบากใจที่สุดในชีวิตเลยล่ะค่ะ เพราะนั่นหมายถึงร่างกายของผู้เขียนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงขึ้นมาเองได้ตามธรรมชาติอีกแล้ว และต้องทานฮอร์โมนชดเชยไปเกือบตลอดชีวิต แถมยังมีโอกาสแก่เร็วและกระดูกบางอีกด้วยล่ะค่ะภาพจาก Pixabay และวิธีในการประคองมดลูกของผู้เขียนที่คุณหมอแนะนำมีอยู่หลายวิธี คร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ 1. ใส่ห่วงอนามัย 2. ฉีดยาคุม 3. ฝังยาคุม 4. ทานยาคุม ซึ่งคุณหมอแนะนำให้ผู้เขียนเลือกแบบที่ 1 เพราะการใส่ห่วงอนามัยจะมีการปล่อยฮอร์โมนออกมาอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แต่หลังจากผู้เขียนกลับมาหาข้อมูลแล้วก็พบว่าการใส่ห่วงอนามัยมีโอกาสที่จะทำให้มดลูกอักเสบ ซึ่งผู้เขียนยังไม่พร้อมที่จะใส่ในตอนนี้จึงไม่ได้เลือกการรักษาแบบที่ 1 ค่ะ โดยปัจจุบันผู้เขียนเลือกการรักษาแบบที่ 4 นั่นคือการทานยาคุมนั่นเองค่ะ และวิธีนี้มันดูเหมือนจะได้ผลเพราะหลังจากผู้เขียนทานยาคุมได้ 3-4 เดือน อาการปวดท้องประจำเดือนก็หายไปแทบจะ 100% เลยก็ว่าได้ค่ะ ภาพจาก Pixabay แต่จะมีบางเดือนที่รู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อยบ้าง แต่อาการของผู้เขียนก็ดีขึ้นมากค่ะ และนอกจากการทานยาคุมแล้วผู้เขียนยังใช้วิธีการออกกำลังกายร่วมด้วยค่ะ เพราะวิธีนี้ก็ทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนลดความรุนแรงลงได้เช่นเดียวกัน การออกกำลังกายที่ผู้เขียนทำบ่อยคือการเดินและการวิ่งค่ะ เรียกเหงื่อได้ดีมาก ๆ นอกจากนี้ผู้เขียนก็ยังลดการทานอาหารหมักดองลงด้วยนะคะ ซึ่งการดูแลตัวเองเบื้องต้นนี้ก็ทำให้ผู้เขียนมีอาการที่คงที่ค่ะ ปวดท้องน้อยลงกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังต้องไปตรวจดูความคืบหน้าเพิ่มเติมด้วยค่ะ ทั้งการตรวจภายในและอัลตราซาวด์ เพื่อดูผลการรักษาที่แน่นอน หากวิธีที่ใช้อยู่นี้ยังประคองมดลูกไว้ไม่อยู่อาจต้องเปลี่ยนแผนการรักษาที่เข้มข้นมากขึ้นค่ะ