เคยไหมที่เปิดตู้เสื้อผ้า แล้วท่ามกลางกองเสื้อที่เบียดแน่นจนแทบปลิ้นใส่หน้า เรากลับดันรู้สึกว่า “ไม่มีอะไรจะใส่” ผู้หญิงเราไม่เคยมีไม้แขวนเสื้อพอใช้ ยากดีมีจน ผู้หญิงทุกคนไม่ยอมมีเสื้อผ้าน้อย เรามีชุดทำงาน ชุดใส่เล่น ชุดออกไปกินข้าวเย็น ชุดไปงานกลางวัน ชุดไปงานกลางคืน ชุดตอนนอน ชุดตอนตื่น ยังมีชุดจ๊อกกิ้ง ชุดเทนนิส ชุดใส่ตอนท้อง เดรสสั้น เดรสยาว เดรสไม่ยาวไม่สั้น และทั้งหมดที่ว่ามานั้น เราต้องมีหลายๆ สีด้วยนะพวกเธอ นี่พูดถึงเฉพาะราวที่ได้ใส่ อีกครึ่งราวที่แขวนไว้ ยังไม่เคยหยิบมาใส่ด้วยซ้ำ! Image by Pexels from Pixabay และนั่นก็เกิดขึ้นเหมือนๆ กันกับผู้หญิงที่ชื่อ Sally Bjornsen แซลลี่เคยทำงานกับไนกี้ เคยทำงานที่ห้างดังนอร์ดสตอร์ม จากนั้นก็ลาออกมาเปิดเอเจนซี่ตัวแทนช่างภาพของตัวเอง เธอแต่งงานและมีลูกติดที่ต้องดูแล เธอเป็นนักเขียน และเป็นชอปเปอร์ตัวแม่ ตู้เสื้อผ้าที่อัดแน่นล้นปรี่ด้วยเสื้อผ้าแพงๆ ดีๆ แต่ไม่ได้ใส่คือเครื่องยืนยัน จู่ๆ วันหนึ่งเธอก็พบว่าตัวเองกำลังแยกเสื้อผ้าไปบริจาค “ฉันพบว่าเสื้อผ้าพวกนี้ยังใหม่เอี่ยม สภาพนางฟ้า ตลกมากที่ทำไมตอนซื้อฉันรู้สึกว่าต้องมีมันให้ได้” เธอแทบไม่แตะต้องเสื้อผ้าใหม่ๆ เหล่านั้นมานานปีเพราะวันๆ “ฉันใส่แต่เสื้อยืดกับกางเกงยีนส์” คำถามผลุดขึ้นมามากมาย “แล้วทำไมฉันยอมจ่ายเงินปีละมากๆ ให้กับเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่” “ทำไมฉันถึงรู้สึกว่าต้องมีมันตลอดเวลา” “ทำไมเราสร้างขยะเสื้อผ้าให้โลกเยอะแยะขนาดนี้” คำถามเหล่านี้นำเธอมาสู่โปรเจคท์ “หยุดซื้อเสื้อผ้าหาคำตอบให้ชีวิต” Image by Wokandapix from Pixabay ปีกันยายน 2009 แซลลี่ชวนเพื่อนสาวอเมริกัน 20 คนที่เคยเป็นหัวแถวเรื่องวิ่งตามแฟชั่น ร่วมกันตั้ง The Great American Apparel Diet ทดลอง “ไม่ซื้อเครื่องแต่งตัวชิ้นใหม่เลยเป็นเวลา 12 เดือน” งดเฉพาะการซื้อที่หมายถึงการใช้เงิน แต่ยังสามารถแลกเปลี่ยนหรือยืมกันได้ กลุ่มผู้หญิงปฏิวัติตู้เสื้อผ้า ตั้งคำถามไว้ในเว็บไซต์ของพวกเธอว่า “ถ้าปราศจากเครื่องแต่งกายทันสมัยชิ้นใหม่ในตู้เสื้อผ้า เราเป็นใครกันแน่” ก่อนหน้านี้แซลลี่สารภาพว่า ใช้เงินถึงปีละ 6,000 ดอลล่าร์ (หรือเกือบสองแสนบาท) ไปกับการช้อปไม่เลิก หนึ่งปีเต็มที่เธอตั้งปณิธานไม่ซื้อเพิ่ม เธอเริ่มพบว่าชีวิตง่ายขึ้น มีเวลาเหลือมากขึ้น และที่สำคัญ เหลือเงินมากขึ้น “ฉันเคยต้องสแกนหาของถูกใจในอินเตอร์เน็ต เสียเวลาเป็นวันกับการคอยอัพเดทเทรนด์แฟชั่นในแต่ละเดือน พอตัดสินใจเลิกซื้อนี่ฉันรู้สึกว่าเป็นอิสระเลย” เมื่อตู้เสื้อผ้าเรียบง่าย เธอจึงเข้าใจคำว่า “แฟชั่น” ลึกซึ้งขึ้น “จากที่เคยคิดว่าแฟชั่นคือการวิ่งตามของใหม่ๆ แต่จริงๆ แฟชั่นหมายถึงสไตล์ และวิธีที่เราสวมใส่ในสิ่งที่เรามี” Image by JamesDeMers from Pixabay ปีนั้นผ่านไปพร้อมกับทัศนคติใหม่ของกลุ่มนักทดลอง พวกเธอเริ่มมองการซื้อเสื้อผ้าเป็นการลงทุน และควรลงทุนกับสิ่งที่เหมาะกับตัวเราจริงๆ “แทนที่จะซื้อเพราะรู้สึกว่าว้าวในห้องลองเสื้อ เราควรคิดเผื่อว่า มันจะให้ความรู้สึกอย่างนั้นไหมในทุกวันที่เราใส่มันในชีวิตจริง” ที่สำคัญ พวกเธอรู้สึกว่าใช้เหตุผลในการจับจ่ายมากขึ้น ว่ากำลังซื้ออะไร เพื่ออะไร “แทนที่จะแค่ตั้งตาซื้อทุกชิ้นที่เราจ่ายได้เหมือนที่เคย” Credit : Cover Image by gonghuimin468 from Pixabay