พืชสมุนไพรนั้นถูกนำมาทำเป็นตำรายาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนับว่าเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีมาช้านานแล้ว พืชสมุนไพรบางชนิดถูกพบว่ามาประวัตินำมาใช้เป็นยามาตั้งแต่นานนับพันปี ถึงแม้ว่าพืชสมุนไพรบางอย่างจะไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากเมืองไทย แต่ก็เป็นที่รู้จักในบ้านเราและถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ ในบทความนี้ผู้เขียนได้พบกับสมุนไพรโบราณชนิดหนึ่งที่มีความเป็นมาที่เก่าแก่ และสรรพคุณไม่น้อยควรค่าแก่การเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้ ซึ่งที่กล่าวมานั้นก็คือ “คนทีเขมา” ที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา และถูกพบอยู่ในตำราอายุเวทของประเทศอินเดียที่มีอายุถึง 4,000 ปี ซึ่งในสมัยเด็กที่บ้านของผู้เขียนมีสมุนไพรชนิดนี้ปลูกอยู่ในบริเวณบ้าน จึงมีประสบการณ์การนำมาใช้ประโยชน์อยู่บ้าง ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักของพรรณไม้ชนิดนี้กันก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร ภาพถ่ายโดยผู้เขียน “คนทีเขามา” เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีกิ่งแตกออกมาก ลำต้นตรง ผิวลำต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล กิ่ง ก้าน และใบมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีสีเทาและมีขนอ่อนขึ้นปกคลุม รากเป็นสีเหลือง เนื้อในรากเป็นสีขาว พรรณไม้นี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ กิ่งตอน และเพาะเมล็ด ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5 หรือ 3 ใบ โดย 3 ใบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า 2 ใบล่าง ใบบนมีก้าน ส่วนใบล่างไม่มีก้าน ใบมีกลิ่น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบยาวแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือหยัก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เชื่อมติดกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ภาพถ่ายโดยผู้เขียน สรรพคุณของ “คนทีเขมา” สามารถใช้ ขับเหงื่อ รักษาโรคตับ แก้ไข้ ขับเลือดลม บำรุงกำลัง แก้เจ็บคอ แก้ปวดศีรษะ ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ แก้ผื่นคัน ขับเสมหะ แก้หอบหืด แก้ริดสีดวงทวาร สำหรับประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยใช้สมุนไพรชนิดนี้คือ เมื่อครั้งเป็นเด็กเกิดมีอาการไข้ ปู่ก็นำรากและใบ “คนทีเขมา” มาล้างน้ำสะอาดทุบพอแหลกแล้วนำไปต้ม จากนั้นนำมาให้ผู้เขียนดื่ม ภายในสองสามชั่วโมงก็หายจากอาการไข้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังเห็นปู่นำผลของ “คนทีเขมา” มาทุบแล้วนำไปดองกินกับเหล้า เป็นยาบำรุงเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี และยังสามารถนำดอก ใบ และลำต้น มาต้มรวมกันเป็นยาบำรุงเลือดสำหรับตรีประจำเดือนมาไม่ปกติได้อีกด้วย ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสรรพคุณที่ผู้เขียนเคยผ่านประสบการณ์มา และแน่นอนว่า “คนทีเขมา” ยังมีประโยชน์ต่อร่างการอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบำรุงร่างกาย เลือดลม ลดเบาหวาน ขึ้นอยู่กับวิธีการและส่วนผสมที่นำมาใช้ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านทุกท่านหันมาให้ความสนใจกับสมุนไพรพื้นบ้านมากขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริมให้ภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ยังคงมีอยู่สืบต่อไป ภาพถ่ายโดยผู้เขียน