เคยเป็นไหมคะ บางครั้งเรานึกสงสัยว่า นี่ลูกเราหรือลูกลิง เชื่อแน่ว่า คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ บ้านจะต้องเคยเจอปัญหาลูกอยู่ไม่นิ่ง นั่งแปบ ๆ ก็ลุกไปทำนั่นทำนี่ ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีสมาธิจดจ่อในการทำกิจกรรมใด ๆ ซึ่งตรงนี้เองก็อาจจะส่งผลกระทบไปถึงการเรียนของพวกเขาด้วย คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากจะหวังดีกับลูกเสมอนั่นแหละค่ะ และที่น่าสนใจในปัจจุบันนี้คือ มีเด็กสมาธิสั้นเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพฤติกรรม การใช้ขีวิต ที่พ่อแม่ชี้ทางนั้นให้กับลูก หลายครั้งเราจะเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่มักจะเลือกจบปัญหาเวลาลูกน้อยงอแงด้วยการยื่นโทรศัพท์มือถือให้เล่น จะเพื่อเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ หรือเพียงเพื่อหยุดเวลาให้ลูก ๆ ของเราหมดไปกับสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่บางคนจะรู้ถึงผลเสียจากการกระทำดังกล่าว แต่ว่าก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากเทคโนโลยีลงบ้าง และเพื่อเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ดี ดังนั้นโยคะจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้ปกครองหันมาให้ความสนใจที่จะส่งลูกหลานเข้ามาปรับพฤติกรรมกันค่ะ เมื่อพูดถึงโยคะ ประเทศหนึ่งที่คนจะนึกถึง นั่นคือ อินเดีย ในประเทศอินเดียมีกิจกรรมหนึ่งสำหรับเด็ก อยากจะให้ลองนึกภาพตามนะคะถึง เด็กชาวอินเดียอายุประมาณ 10 ปี จำนวนหลายสิบคน กำลังฝึกท่าทางไหว้พระอาทิตย์กันอย่างรวดเร็ว โดยทั่วไป เด็ก ๆ ชาวฮินดูจะถูกสอนตั้งแต่อายุน้อย ๆ ให้ทำท่าไหว้พระอาทิตย์พร้อมเอ่ยนามพระอาทิตย์ไปด้วย ตามความเชื่อของชาวฮินดูที่มีศรัทธาอันแรงกล้า ซึ่งตรงนี้เป็นการฝึกวินัยให้เด็กตื่นนอนแต่เช้าในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น ฝึกร่างกายด้วยท่าไหว้พระอาทิตย์และสวดบูชาเพื่อการจดจำแบบบริกรรม ที่จะช่วยให้เกิดสมาธิกับเด็กขณะที่ทำท่าทาง การฝึกจึงทำให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมกับมีวินัยในการฝึกฝนดูแลตัวเองทุกวัน พอโตขึ้นมาหน่อยสักช่วงวัยรุ่น เด็ก ๆ อินเดียจะได้เรียนพวกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบพื้นเมือง (Martial Arts) บ้างก็ฝึกกีฬาแบบที่ชาวอินเดียเรียกว่า Mallakhamb ซึ่งจะมีอุปกรณ์ เช่น เชือก หรือเสา มาเป็นองค์ประกอบในการเล่น ลักษณะจะคล้าย ๆ กับการฝึกยิมนาสติก บางท่าทางก็ดูเหมือนกำลังทำท่าโยคะอยู่บนเสาหรือเชือก แต่หากเรามองลึกลงไปเบื้องหลังการฝึกฝนเด็กและวัยรุ่นแบบนี้ ก็เพื่อให้มีการใช้พลังที่มีมากในตัวไปในทิศทางที่ควบคุมได้ เท่ากับว่าได้ฝึกควบคุมทั้งท่าทางและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน จึงมีส่วนสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาทั้งบุคลิกภาพและสมาธิให้กับเด็กไปในตัว กระบวนการขั้นตอนการฝึกของชาวอินเดียนั้นไม่ได้ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงนะคะ แต่สำหรับเด็ก ๆ ดูเหมือนจะเป็นเวลาส่วนมากของพวกเขา ที่จะถูกฝึกด้วยแก่นของเรื่องร่างกายและจิตใจ โดยใช้การเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมไปตามความสนใจและความเหมาะสมตามวัย เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ดังนั้นเขาจะมีธรรมชาติที่แตกต่างจากผู้ใหญ่เราหลายด้าน คำจำกัดความเรื่องสมาธิของเด็กจึงไม่เหมือนสมาธิของผู้ใหญ่ประโยชน์ของโยคะที่ส่งผลกับเด็ก มีดังนี้ 1. ด้านอารมณ์และจิตใจ เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะมีสมาธิ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความนิ่งได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลด้านอารมณ์ให้เด็กใจเย็นลง ลดความซุกซน และควบคุมอารมณ์ให้นิ่งขึ้น 2. ช่วยสร้างสมาธิให้กับเด็ก เนื่องจากโยคะจะเน้นการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนต่าง ๆ ด้วยลักษณะที่เชื่องช้าในการสัมพันธ์กับลมหายใจเข้าออก นั่นจึงทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการจดจำท่าทางในการเล่น แต่การฝึกโยคะเช่นนี้จะมีข้อจำกัดคือช่วงวัย อายุที่เหมาะแก่การเริ่มต้นฝึกโยคะอยู่ที่ 5 ขวบค่ะ เพราะเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และพาฝึกสมาธิได้ 3. ส่งผลกับด้านการเรียนของเด็ก เมื่อเด็กมีสมาธิที่ดีขึ้น ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้และจดจำอะไรได้ดีขึ้น ในปัจจุบันมีเด็กมีปัญหาด้านนี้กันจำนวนไม่น้อยเลยค่ะ ทำให้เด็กที่สมาธิสั้นมีผลการเรียนที่แย่ลง เนื่องจากไม่สามารถโฟกัสกับอะไรเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ การให้เด็กฝึกโยคะก็ถือว่าส่งผลดีในระดับหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงอยากจะส่งลูกหลานมาเรียน ด้วยหวังว่าโยคะเพียงอย่างเดียวจะช่วยให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้น ซึ่งบางครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ยังไม่เคยฝึก แต่คิดว่าโยคะเปลี่ยนลูกได้ บางคนอาจจะเคยฝึกแต่สอนลูกไม่ได้ และไม่ทราบว่าจะทำให้ลูกและตนเองมีสมาธิได้อย่างไร จะว่าไปแล้วเรื่องสมาธิ ดูจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนยุคนี้นะคะ ทุกคนฝันว่าตัวเองจะมีสมาธิด้วยการทำอะไรสักอย่าง แต่บางทีลืมไปว่า การไม่ต้องทำอะไรต่างหากที่จะเสริมให้เรามีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวได้ สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรลืม คือ เด็กเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมได้ แค่เพียงคุณพ่อคุณแม่นั่งนิ่ง ๆ มีสมาธิอยู่กับตัวเองได้นาน ๆ ให้เด็กเห็นทุกวัน เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรม วันเสาร์อาทิตย์ที่คุณพ่อคุณแม่พาเด็กไปแต่ห้างสรรพสินค้าที่มีแต่ความวุ่นวาย หรือคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ไม่ติดบ้าน เด็กจะไม่เคยได้เห็นตัวอย่างของการอยู่นิ่ง ๆ สงบ ๆ และมีสมาธิ อะไรไม่สำคัญที่จะช่วยลูกได้เท่ากับช่วงเวลาคุณภาพจากครอบครัว เครดิตรูป รูปปก by Melissa Askew on Unsplash รูปที่1 by guille pozzi on Unsplash รูปที่2 by Jernej Graj on Unsplashรูปที่3 by chiplanay on Pixabay