ภาพปกบทความจาก freepik ยานั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต้องใช้ยามเมื่อเราเจ็บป่วย แต่รู้ไหมว่านอกจากการรับประทานยาหรือการใช้ยาให้ถูกวิธี ถูกขนาด และตรงเวลาตามที่ฉลากยาระบุแล้ว การเก็บยาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมนั้นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย เพราะหากเราเก็บยาอย่างไม่ถูกต้องแล้ว ก็อาจจะทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ง่าย หรือหมดอายุเร็วกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งหากเรากินยาที่เสื่อมสภาพนี้เข้าไปก็จะทำให้รักษาไม่หายอีกด้วยนะ สำหรับในบทความนี้ก็มีเคล็ดลับในการจัดเก็บยาให้ถูกวิธีแบบง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ ภาพจาก freepik 1. เก็บให้พ้นจากความร้อนและความชื้น ความร้อนและความชื้นนั้นมีผลทำให้ยาเสื่อมสภาพได้โดยตรง เราจึงไม่ควรเก็บยาไว้ในลิ้นชักหน้ารถ วางยาไว้ริมหน้าต่างหรือกลางแจ้งที่แสงแดดส่องถึง หรือวางยาไว้ในตำแหน่งที่มีโอกาสสัมผัสน้ำหรือน้ำหกใส่ได้เป็นอันขาด เพราะถึงแม้ว่าซองยาและแผงยานั้นจะสามารถกันน้ำได้ แต่ฉลากยาที่เป็นกระดาษอาจจะลบเลือนเมื่อโดนน้ำได้ ดังนั้นเราจึงควรเก็บยาไว้ในที่เฉพาะ เก็บให้มิดชิดจากความร้อนความชื้น รวมถึงเก็บให้พ้นมือเด็กด้วย เช่น เก็บไว้ในตู้ยาหรือลิ้นชักใส่ยาประจำบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมียาบางตัวที่จำเป็นต้องเก็บให้พ้นแสงตลอดเวลาแม้กระทั่งแสงสว่างธรรมดาภายในห้อง เนื่องจากยาจะเสื่อมสลายได้ง่ายกว่าปกติเมื่อโดนแสง ดังนั้นนอกจากจะต้องเก็บให้พ้นความร้อนและความชื้นแล้วก็ควรจะเก็บในซองสีชาหรือกล่องสีทึบเพื่อป้องกันไม่ให้แสงส่องถึงด้วย ภาพจาก freepik 2. ยาบางชนิดต้องเก็บในตู้เย็น ตัวยาหลายชนิดนั้นจะเสื่อมสลายหรือหมดอายุได้ง่ายเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เช่น ยาฉีดอินซูลินสำหรับลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาหยอดตาบางตัว ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดผสมน้ำก่อนรับประทาน เป็นต้น หรือยาบางตัวอาจจะเสียรูปร่างทำให้ใช้งานไม่ได้เมื่อสัมผัสกับความร้อน เช่น ยาเหน็บทวาร ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าต้องเก็บยาเหล่านี้ในตู้เย็นหรือไม่ และตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บยาในตู้เย็นก็คือบริเวณช่องกลางตู้เย็น เนื่องจากตำแหน่งนี้จะค่อนข้างมีอุณหภูมิคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงง่ายเหมือนกับฝาตู้เย็นเมื่อเราเปิดปิดตู้ และห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งเด็ดขาดนะคะ เพราะหากตัวยากลายเป็นน้ำแข็งไปแล้วก็จะทำให้ยานั้นเสียสภาพไปเลย ภาพจาก pexels 3. ไม่แกะเม็ดยาออกมาใส่กล่องทิ้งไว้ สำหรับยาเม็ด การแกะเม็ดยาออกจากแผงมาใส่กล่องแบ่งไว้นั้นทำให้สะดวกง่ายต่อการหยิบรับประทานก็จริง แต่นั่นก็หมายความว่าเราได้ทำลายวัสดุห่อหุ้มที่ใช้สำหรับปกป้องยาจากความร้อนและความชื้นไปแล้ว ดังนั้นเมื่อยาสัมผัสกับแสงหรือความชื้นในอากาศก็จะทำให้ยาค่อย ๆ เสื่อมสลายตัวทีละน้อยและอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาในการรักษาลดลงได้ ทางที่ดีหากต้องการให้สะดวกในการรับประทานยาก็ควรจะตัดแบ่งเม็ดยาทั้งวัสดุห่อหุ้มโดยไม่ต้องแกะยาออกมา และแกะยาเมื่อรับประทานเท่านั้น เราก็จะสามารถหยิบยารับประทานได้อย่างสะดวกและไม่ต้องกังวลเรื่องยาจะเสื่อมอีกด้วยค่ะ ภาพจาก freepik 4. อย่าลืมดูวันหมดอายุ ยาส่วนใหญ่จะมีวันหมดอายุอยู่บนภาชนะบรรจุ ดังนั้นหากเราเก็บยาไว้อย่างเหมาะสมแล้วก็ให้ถือว่าวันหมดอายุที่ระบุไว้นั้นเป็นวันหมดอายุของยา แต่ยาหลายชนิดจะมีวันหมดอายุที่สั้นลงหลังจากเปิดใช้งาน เช่น ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแบบผงผสมน้ำหลังผสมแล้วจะเก็บในตู้เย็นได้ 14 วัน ยาเม็ดที่ตักแบ่งออกมาจากกระปุกใหญ่แล้วใส่ซองแยกไว้จะหมดอายุหลังแบ่งบรรจุที่ 6 เดือน ยาหยอดตาบางชนิดจะหมดอายุหลังเปิดใช้ครบ 1 เดือน เป็นต้น ไม่ได้หมดอายุตรงกับวันที่ระบุไว้บนภานะบรรจุ ซึ่งโดยทั่วไปบนฉลากยานั้นก็จะมีวันหมดอายุหลังเปิดใช้ระบุไว้ต่างหากอยู่แล้วนะคะ เพียงแต่เราจะต้องอ่านและทำความเข้าใจกับฉลากยาให้ดีก่อนเท่านั้นค่ะ และเมื่อยาหมดอายุแล้วก็ให้เก็บทิ้งไปได้เลยไม่ต้องเสียดาย ภาพจาก freepik และถ้าบ้านไหนที่ตอนนี้ยังมีการเก็บยาเอาไว้อย่างผิดวิธีอยู่ละก็ ต้องรีบจัดการย้ายที่จัดเก็บด่วน ๆ เลยนะคะ เพราะการจัดเก็บยาอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำข้างต้นนี้ไม่เพียงช่วยป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสลายได้ง่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและคนในครอบครัวที่จะไม่ต้องเผลอไปใช้ยาเสื่อมหรือยาที่หมดอายุแล้วอีกด้วยค่ะ ดังนั้นอย่ารอช้า รีบมาหาที่จัดเก็บยากันใหม่ดีกว่า