รีวิว บริจาคเลือด หน่วยรับบริจาคโลหิตสภากาชาดไทย | บทความโดย Pchalisa จากที่ผู้เขียนได้มีปณิธานกับตัวเองเอาไว้ว่า จะขอบริจาคเลือดให้มากที่สุดเท่าที่ชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่งจะสามารถทำได้ จึงทำให้ในตอนหลังมาหากโอกาสเอื้อและเป็นไปได้ ผู้เขียนมักจะไปบริจาคเลือดเสมอค่ะ โดยล่าสุดนั้นผู้เขียนได้ไปบริจาคเลือดให้กับหน่วยรับบริจาคเลือดของสภากาชาดไทย โดยในครั้งนี้ได้บริจาคเลือดไปทั้งหมด 350 ซีซี ที่เป็นเลือดกรุ๊ปเอนะคะ และก่อนที่จะเล่าต่อยาวๆ ว่า บริจาคเลือดแบบนี้ต้องทำอะไรบ้าง ต้องขอเกริ่นสักนิดค่ะว่า ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะมีน้ำหนักตอนนี้เท่ากับ 47 กิโลกรัมนั้น แต่โดยส่วนตัวใส่ใจเรื่องสุขภาพมากค่ะ ที่บางคนก็ดูสมบูรณ์ดีกว่าผู้เขียน แต่ไม่สามารถบริจาคได้ และอาจมองว่าผู้เขียนตกเกณฑ์แน่ จนบริจาคเลือดไม่ได้ แต่ไม่ใช่เลยค่ะ ผู้เขียนสามารถทำได้โดยครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 18 เพราะโดยส่วนตัวพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอตลอด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ ไม่แตะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เลย ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหมดที่เป็นข้อห้าม ไม่มีโรคประจำตัว เจ็บป่วยน้อยมาก ที่ส่วนใหญ่ก็แค่เป็นหวัด เลยหมดกังวลเรื่องที่ว่ากำลังอยู่ในช่วงทานยาปฏิชีวนะ พอทั้งหมดเป็นแบบนี้เลยสามารถบริจาคเลือดได้ง่ายๆ ค่ะ และจากที่สังเกตมาโดยตลอดนั้น พบว่า จะมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เขียนบริจาคเลือดไม่ได้ นั่นคืออยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน หลังจากที่เราไปถึงสถานที่ที่หน่วยรับบริจาคเลือดของสภากาชาดไทยมาให้บริการแล้วนะคะ สิ่งแรกเลยที่เราจะเห็นคือ การบริการของ อ.ส.ม. และผู้นำชุมชนมาบริการเกี่ยวกับการกรองเอกสารและการตรวจวัดความดันเลือด จากนั้นข้อมูลนี้ก็จะถูกจดลงไปในแบบฟอร์ม ซึ่งในเอกสารใบเดียวกันนี้เราก็ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวของเราลงไปด้วย เช่น ชื่อ-นามสุกล ชื่อและนามสกุลเดิม (ถ้ามี) ที่อยู่ อีเมล เลขทะเบียนผู้บริจาคเลือดของสภากาชาดไทย รหัสบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ น้ำหนัก วันเกิด อายุ เป็นต้น จากนั้นก็ตอบคำถามด้านหลังเอกสารใบเดียวกันนี้อีกค่ะ โดยมีคำถามหลายข้อเหมือนกันที่ต้องตอบ ซึ่งภาพรวมของคำถามก็จะถามเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น นอนหลับพักผ่อนเพียงพอไหม? ได้ทานอาหารที่มีไขมันสูงมาไหม? ได้ดื่มแอลกอฮอล์มาไหม? ได้รับการผ่าตัดไหม? เคยมีพฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ไหม? มีโรคประจำตัวไหม? ฯลฯ ที่จบด้วยการลงชื่อของเราว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลค่ะ ซึ่งเดี๋ยวเจ้าหน้าที่เขาก็จะตรวจสอบความถูกต้องอีกทีค่ะ เพราะบางครั้งเราอาจสับสนในคำถามบางข้อ เมื่อเอกสารเรียบร้อยแล้ว เราต้องนั่งรอคิวเรียกชื่อค่ะ ซึ่งการบริจาคเลือดแบบนี้ เราจะได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตา เพราะมีคนจำนวนมากที่ก็มีจุดประสงค์แบบเดียวกันหมือนกับเรา พอเราได้ยินชื่อของตัวเองก็ให้ไปรับเอกสาร และไปที่จัดตรวจความเข้มข้นของเลือดค่ะ ถ้าจุดนี้ผ่านมีผลเลือดปกติตามเงื่อนไขว่าสามารถบริจาคได้ เราก็จะไปต่อที่จุดรับถุงใส่เลือดและหลอดเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อไปวิเคราะห์หาความผิดปกติก่อนนำเลือดของเราไปใช้กับผู้ป่วยคนอื่น โดยผลเลือดนี้หากปกติจะไม่มีเอกสารใดๆ มาที่บ้าน เพื่อเป็นการลดการทำงานลง ซึ่งที่ผ่านมาผู้เขียนไม่เคยได้รับเอกสารอะไรเลยเกี่ยวกับผลเลือดค่ะ แล้วก็สามารถบริจาคเลือดมาได้เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ และเมื่อที่นอนสำหรับบริจาคเลือดว่าง เราก็ไปนอนบนที่นอนที่จัดเตรียมไว้ได้เลยค่ะ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะมาบริการเราเอง โดยก่อนจะเจาะเลือดเขาจะถามชื่อและนามสกุลเราก่อน เพื่อลดความผิดพลาด ที่ว่าอาจผิดคนผิดถุงนะคะ เราก็แค่ตอบชื่อและนามสกุลของเราไป จากนั้นเราก็จะได้ลูกบอลแบบบีบแล้วนิ่มมือมากำไว้ค่ะ โดยหลังจากที่ได้เจาะเลือดที่แขนของเราแล้ว เราก็แค่ทำหน้าและใจของเราให้ร่มๆ ในขณะที่มือข้างที่เจาะเลือดก็กำและปล่อยลูกบอลไปเรื่อยๆ แบบสบายๆ ค่ะ จนเมื่อถึงจุดที่เลือดเต็มเราก็เลิกทำ และให้พับแขนทันทีเมื่อถอดเข็มออก เพียงแป๊บเดียวเลือดก็หยุดไหลและได้ติดพลาสเตอร์ค่ะทุกคน จากนั้นให้นอนพักสักแป๊บหนึ่งก่อนนะคะ และให้สังเกตตัวเองว่าเวียนหัวและหน้ามืดไหม? โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่พบความผิดปกติหลังจากบริจาคเลือดค่ะ และถ้าพบว่าปกติดีแล้ว เราก็สามารถลุกออกจากที่นอนและให้คนมาใช้บริการต่อจากเราได้เลย ซึ่งจากที่ผู้เขียนไปบริจาคเลือดครั้งนี้มานั้น พบว่า ดีค่ะ บรรยากาศอบอุ่นดี อาจรอนานหน่อยช่วงรอเรียกชื่อ แต่โดยภาพรวมคือบริการดีครบถ้วน มีการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนดี และก่อนจะกลับบ้านเราก็จะได้รับของตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยค่ะ ซึ่งก็จะเป็นอาหาร ที่มีโรงทานอาหารหลายอย่างด้วย และที่สำคัญเลยคือยาบำรุงค่ะ ทางหน่วยรับบริจาคเลือดจะให้เรามา ที่ผู้เขียนไม่เคยลืมเลยและทานยาชนิดนี้หมดทุกครั้งค่ะ โดยยาบำรุงเลือดที่ได้รับมาจะต้องทานเป็นเวลา 1 เดือน และอีก 3 เดือนถัดไป เราก็สามารถไปบริจาคเลือดได้ใหม่หากต้องการค่ะ ถ้าถามผู้เขียนว่าเจ็บไหมตอนเจาะเลือด? ต้องบอกเจ็บค่ะแต่เจ็บแบบทนได้ และด้วยความที่บริจาคเลือดมาบ่อยแล้ว ก็จะไม่คิดตามจนเห็นภาพไปในทางลบค่ะ เพราะอุปกรณ์ทุกอย่างที่นำมาใช้ในการรับบริจาคเลือดก็ปลอดเชื้อ มีการฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างดี รวมไปถึงความชำนาญของเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ ที่มาจากคลังเลือดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนเคยไปมาก่อนหน้าแล้ว เลยไม่ได้คิดอะไรมากค่ะ ประกอบกับผู้เขียนมองเห็นขอดีของการบริจาคเลือดเลยมีความยินดีอย่างมาก ที่จะให้เลือดของตัวเองกับผู้ป่วยที่ต้องการค่ะ พอเป็นแบบนี้เลยทำสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ค่ะ ก็อยากเชิญชวนคนไทยเราไปบริจาคเลือดกันค่ะ หรือใครที่มีแฟนชาวต่างชาติก็สามารถไปบริจาคเลือดได้นะคะ โดยในกรณีของต่างชาติจะมีเงื่อนไขแตกต่างไปจากคนไทยนิดหน่อย ซึ่งต้องไปสอบถามในกรณีของตัวเองอีกทีค่ะ แต่ถ้าเข้าเงื่อนไขและต้องการบริจาคแบบนี้ก็สามารถทำได้ ก็ได้เล่ามาเยอะแล้ว ยังไงก็หาโอกาสดีไปทำบุญด้วยการให้เลือดกันค่ะ ซึ่งการบริจาคเลือดก็มีหลายช่องทาง และการบริจาคเลือดกับหน่วยรับบริจาคโลหิตสภากาชาดไทย ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความเฉพาะตัวค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😁 เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย FRANK MERIÑO จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://women.trueid.net/detail/69arvq8z4W1M https://women.trueid.net/detail/Jy2lV3oZ87YL https://women.trueid.net/detail/YZ14PeblEwNg เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !