ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน หายไปอยู่พักหนึ่ง ฝุ่นละอองที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Particulate Matter (PM) เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีหน่วยวัดคือ ไมครอน ตอนนี้มันกลับมาแล้วครับเจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งอาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในอากาศ เช่น อนุภาคต่าง ๆ เชื้อโรค ฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะหมอก หรือควัน Credit : Sompussorn PM 2.5 คือฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเทียบแล้วเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมของคน โดย PM 2.5 จะลอยอยู่ในอากาศทั่วไป ซึ่งขนจมูกของเราไม่สามารถกรองเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้ได้ มันสามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด เพิ่มความเสี่ยงกลายเป็นโรคเรื้อรัง Credit : Sompussorn แหล่งที่มาของฝุ่นละอองในบรรยากาศเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ 2 ประเภทใหญ่ คือ 1.ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากกระแสลมที่พัดผ่านตามธรรมชาติ ทำให้เกิดฝุ่น เช่น ดิน ทราย ละอองน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า ฝุ่นเกลือจากทะเล เป็นต้น 2.ฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การคมนาคมขนส่ง รถบรรทุกหิน ดิน ทราย ไอเสียจากรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยเขม่า ฝุ่น ควันดำ ฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง ฝุ่นจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลก และกรมควบคุมมลพิษ ยังได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของ PM 2.5 ไว้ดังนี้ กรมควบคุมมลพิษ กำหนดค่า PM 2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร ส่วนองค์การอนามัยโลก กำหนดค่า PM 2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร และเราสามารถเช็คค่า PM 2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ และ Application ของกรมควบคุมมลพิษ ดังนี้ www.air4thai.pcd.go.th www.aqnis.pcd.go.th www.aqmthai.com App : Air4THAI App : AirVisual Air Quality Forecast Credit : Sompussorn ปัจจุบันกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล มีระดับฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร)ในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดหมอกฝุ่นควันบดบังทัศนวิสัย อีกทั้งยังนำพาความเสี่ยงซึ่งมีผลต่อสุขภาพมาให้กับเราด้วย ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราพบเห็นฝุ่นละอองที่มีลักษณะคล้ายหมอกควัน หรือได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา เราควรดูแลตนเอง ดังนี้ Credit : Sompussorn 1.สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่ได้มาตรฐาน เช่น N95 , P100 , 3M 9002V หรือชนิดที่ระบุว่าสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ 2.ลด/หลีกเลี่ยงเวลาที่อยู่กลางแจ้งในบริเวณที่มลพิษค่าอากาศอยู่ระดับไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะริมถนนใหญ่ที่มีการก่อสร้าง 3.เมื่ออยู่ในอาคารควรปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย และรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยเสมอ 4.เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศรีษะ หรือหมดสติ ควรรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว 5.กิน ร้อน ช้อนกลาง 6.ล้างมือและหน้าบ่อย ๆ และดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ 7.ทานผักและผลไม้ที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 8.รักษาเครื่องยนต์ของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพดี ไม่ปล่อยควันดำ 9.ใช้เครื่องกรองอากาศภายในตัวอาคาร 10.ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 11.หากรถติด -ให้ปิดหน้าต่างในรถให้สนิท -ไม่หยุดรถติดคันหน้าจนเกินไป -เปิดเครื่องปรับอากาศให้เป็นระบบไหลเวียนเฉพาะในรถ 12.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดสูบบุหรี่ หมั่นล้างมือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เป็นต้น เพียงเราปฏิบัติตนตามนี้ เราก็จะสามารถรับมือกับเจ้า ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้ได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข วันนี้สวัสดีครับ Credit : Sompussorn