ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ อาการ พักฟื้นกี่วัน กินอะไรได้บ้าง ไส้ติ่งอักเสบที่ผู้เขียนจะได้พูดถึงในบทความนี้เป็นประสบการณ์ตรงของพ่อของผู้เขียนเองค่ะ และตัวผู้เขียนเองได้รู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงกลับบ้านมาพักฟื้นสุขภาพที่บ้านค่ะ ดังนั้นเนื้อหาในบทความนี้จะเล่าบอกแบบละเอียดยิบเลยค่ะ เพราะเชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัยแน่นอน‼️ เกี่ยวกับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ อาการ การรักษาและการพักฟื้นว่าต้องทำอะไรบ้างและกินอะไรได้บ้างค่ะ จึงเป็นความโชคดีของคุณผู้อ่านค่ะที่ได้เปิดมาเจอบทความนี้ค่ะ เพราะเป็นกรณีของไส้ติ่งอักเสบที่มีความแตกต่างจากสถานการณ์ที่เราพบเห็นทั่วไปและมีความน่าสนใจอย่างมากตั้งแต่สาเหตุและการดำเนินของโรคค่ะ โดยไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ของคนทั่วไปนั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อไส้ติ่งอักเสบหรือถูกติดเชื้อ ซึ่งส่วนมากเกิดจากการอุดตันของไส้ติ่งเองหรือโดยการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งอาการที่พบบ่อย คือ มีอาการปวดช่องท้องด้านล่างขวา โดยอาการปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อกดช่องท้องด้านขวาแล้วปล่อยมืออย่างเร็ว คลื่นไส้และอาเจียน ร่วมกับมีไข้ค่ะ จากที่ผู้เขียนได้สังเกตอาการแสดงของพ่อตัวเองนั้น พบว่า มีอาการทั้งหมดค่ะแต่กว่าจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบนั้นก็ใช้เวลานานหลายวันและไปตรวจถึง 3 โรงพยาบาลด้วยกันค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ซ่อนบทเรียนอะไรไว้เยอะมากๆ ค่ะ โดยเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดจากพ่อของผู้เขียนได้หกล้มกระแทกไม้อย่างแรงที่บริเวณใต้ชายโครงด้านล่างขวา และไม่ได้ไปหาหมอเพราะพ่อคิดว่าไม่มีอะไร ซึ่งก็น่าจะเหมือนการหกล้มทั่วๆ ไปที่มีปวดเมื่อยและเจ็บบริเวณที่กระแทกเท่านั้น‼️แต่เรื่องไม่ได้เป็นแบบที่พ่อคิด‼️ เพราะจากนั้นประมาณ 1 เดือนต่อมา พ่อบอกว่ามีอาการท้องอืด จุกเสียด ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าใจและว่าสงสัยพ่อเป็นโรคกระเพาะอาหาร จึงหายารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยาลดกรดแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาให้กิน หลังกินยาอาการดีขึ้นค่ะแต่พอไม่ได้กินก็มีอาการเดิมอีก จากนั้นประมาณ 3 วันหลังจากที่พ่อกินข้าวเย็นและกินยาแก้ท้องอืดเข้าไปไม่ถึงชั่วโมง พ่อมีอาการไข้หนาวสั่น สามารถรู้ได้เลยว่ามีไข้สูงจากการสัมผัสด้วยมือเปล่าค่ะ ผู้เขียนจึงจับพ่อถอดเสื้อออกและเช็ดตัวลดไข้แบบรวดเร็ว และได้พาพ่อขึ้นรถเพื่อไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และในระหว่างที่อยู่บนรถนั้นได้เช็ดตัวลดไข้ด้วย และพ่ออาเจียน 2 ครั้งในรถค่ะ ถึงโรงพยาบาลวัดไข้ได้ 39 องศาเซลเซียส โดยโรงพยาบาลแห่งแรกบอกว่าพ่อเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา 1 คืนและวันถัดมาหมอให้ยากลับมากินที่บ้านค่ แต่หลังจากนั้น 2 วัน พ่อมีอาการไข้หนาวสั่นอีกรอบ ซึ่งผู้เขียนมาเห็นพ่อพอดีก็เลยจับถอดเสื้อเช็ดตัวลดไข้ ให้ยาพาราเซตามอลกิน 2 เม็ด และพานำส่งโรงพยาบาลที่ใหม่ค่ะ แรกรับหมอวินิจฉัยติดเชื้อในกระแสเลือด และต่อมาในวันเดียวกันนั้นประมาณสองทุ่ม พ่อมีอาการเจ็บบริเวณช่องท้องด้านขวา หมอทดสอบการอักเสบของไส้ติ่งด้วยการกดแล้วปล่อยอย่างเร็ว พบว่า พ่อเจ็บมาก มีไข้สูง ถ่ายไม่ออกจึงทำการสวนอุจจาระ และส่งต่อพ่อมารักษาที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่าค่ะถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลแห่งที่ 3 ประมาณสี่ทุ่มในวันเดียวกันนั้น หมอทำอัลตราซาวด์และสงสัยว่า มีไส้ติ่งอักเสบ แต่ไม่ชัดเพราะเหมือนไส้ติ่งถูกบดบังจากบางอย่าง หมอจึงส่งตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ในวันถัดมาค่ะ ในระหว่างรอตรวจนั้นพ่อมีอาการปวดแต่ปวดในระดับที่ทนได้ มีไข้ตลอดแต่ต้องงดน้ำงดอาหารให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด จึงต้องเช็ดตัวลดไข้ตลอดทั้งคืนค่ะ หลังทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หมอ พบว่า พ่อมีไส้ติ่งอักเสบ มีหนองในช่องท้อง มีท่อส่วนปลายของไตอักเสบและอวัยวะบางส่วนในบริเวณใกล้เคียงเกิดเป็นเนื้อตายและติดเชื้อ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้พ่อท้องอืด จุกเสียดแน่น ไม่สบายท้องและไม่ไข้หนาวสั่นค่ะ ซึ่งถ้าคุณผู้อ่านได้อยู่ในเหตุการณ์จะบอกว่าน่ากลัวมากๆ ตอนที่พ่อมีไข้หนาวสั่น เพราะทุกคนที่บ้านพากันหน้าเศร้าหมด‼️ ทำอะไรไม่ถูกไม่รู้จะเริ่มอะไรตรงไหนก่อน แต่ขอบอกแบบนี้ค่ะว่าเวลาฉุกเฉินให้สติก่อนเสมอ‼️ เพราะการมีสติช่วยให้เราสามารถช่วยคนที่กำลังมีปัญหาไส้ติ่งอักเสบได้ มีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ นำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน พกถุงพลาสติกไว้กรณีมีอาเจียนค่ะ ฉุกเฉินอย่าเพิ่งไปเอาอะไรแปลกๆ ให้ดื่มเพราะจะได้เตรียมพร้อมร่างกายถ้าต้องผ่าตัดทันทีทันใดค่ะหลังจากนั้นหมอก็วางแผนผ่าตัดเปิดหน้าท้องค่ะ ซึ่งในกรณีนี้แผลใหญ่กว่าการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบในสถานการณ์ปกติ แผลผ่าตัดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และเปิดหน้าท้องเพื่อระบายสารคัดหลั่งหลังผ่าตัดค่ะ และหมอส่งชิ้นเนื้อตรวจหามะเร็งด้วยก็พบว่าปกติดีค่ะ เพราะกรณีของพ่อของผู้เขียนมีหนองในช่องท้องและอวัยวะส่วนอื่นเสียหายด้วย โดยพ่อใช้เวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมงในห้องผ่าตัดค่ะ ออกมาก็ปลุกตื่นฟื้นได้สติพูดคุยได้ดีค่ะ แต่สีหน้าดูหมดแรงบวกกับมีความวิตกกังวล หลังผ่าตัดพ่อมีอาการปวดแผลผ่าตัด ตามแผนการรักษาคือให้ยาลดอาการปวดและยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดและให้งดน้ำงดอาหารหลังผ่าตัด เป็นเวลา 5 วัน โดยในช่วง 5 วันนี้อาการก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ มีปวดแผลน้อยลง มีไข้ต่ำๆ ในช่วงแรกเท่านั้นค่ะ อาการท้องอืดจุกเสียดแน่นท้องหายเป็นปลิดทิ้ง จากนั้นหมอเริ่มให้ดื่มน้ำได้เฉพาะตอนกินยาเท่านั้นเป็นเวลา 2 วันค่ะ และ 2 วันต่อมาหมอเริ่มให้ลองกินอาหารอ่อนย่อยง่ายค่ะ รวมระยะเวลาที่หมอดูอาการหลังจากผ่าตัดทั้งหมด 9 วันค่ะ และเมื่อพบว่าสามารถกินได้และขับถ่ายได้ปกติ หมอก็ให้กลับบ้านมาพักฟื้นร่างกายต่อที่บ้าน เป็นเวลา 5 วัน และนัดกลับไปตรวจซ้ำอีกรอบ 1 วันค่ะ ซึ่งรวมระยะเวลาตั้งแต่วันแรกที่พ่อมีอาการไข้หนาวสั่นจนหายกลับมาบ้าน ทำแผลและกลับไปตรวจซ้ำ เป็นเวลาทั้งหมด 24 วัน จากการไปหาหมอ 3 โรงพยาบาล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยาวนานพอสมควรค่ะการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบที่บ้าน- เตรียมอาหารอาหารย่อยง่ายค่ะ แล้วจากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนอาหารมาเรื่อยๆ จนสามารถกินอาหารธรรมดาได้- ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการทำแผลจนกว่าแผลจะแห้งและหายดีค่ะ อาจไปทำแผลที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือจะทำแผลเองก็ได้ค่ะ เพราะผู้เขียนก็ทำแผลให้พ่อด้วยตัวเองค่ะ ทำทุกเช้าตามชนิดของแผลถ้าแผลยังสดอยู่ก็ทำแผลแบบแผลสด ถ้าแผลแห้งแล้วก็ทำแผลแบบแห้งค่ะ- เตรียมน้ำสะอาดให้ผู้ป่วย งดกาแฟ ชา และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชนิดต่างๆ ค่ะ- ผู้ป่วยผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบทั่วไปยังสามารถกินอาหารทั้ง 5 หมู่ได้ตามปกติค่ะ โดยให้เน้นอาหารที่ช่วยส่งเสริมการหายของแผล ให้พลังงานสูงและปรุงสุกสะอาดค่ะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวก็ให้ปรับเรื่องอาหารไปตามพื้นฐานสุขภาพของแต่ละคนค่ะ เช่น ของพ่อผู้เขียนมีปัญหาเรื่องเกาต์- ผู้ป่วยหลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าต้องเลือกออกกำลังกายชนิดเบาค่ะ เช่น เดิน แกว่งแขน เป็นต้นและทั้งหมดคือประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนได้รับจากการที่พ่อมีไส้ติ่งอักเสบค่ะ สำหรับการรักษาของหมอนั้นต้องบอกว่ามีรูปแบบการรักษาที่ชัดเจนอยู่แล้วค่ะถ้าวินิจฉัยได้ทันท่วงทีจึงไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล และจากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้นผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมีความวิตกกังวลด้านสุขภาพของตัวเองในตอนนั้น พูดง่ายๆ คือ กลัวตาย‼️ เพราะขนาดพ่อของผู้ป่วยที่ว่าเป็นผู้ชายอกสามศอกยังพูดออกมาว่า "นึกว่าตัวเองตายแล้ว" ดังนั้นญาติสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ค่ะ เช่น พูดคุยกับผู้ป่วย ให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับการรักษา ช่วยเหลือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ กระตุ้นให้กินอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพในระหว่างพักฟื้นค่ะ เพราะผู้ป่วยอาจมีความอยากอาหารน้อยลง กระตุ้นให้ออกกำลังกายมีการเคลื่อนไหวเท่าที่เป็นไปได้ก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และจากบทเรียนเรื่องนี้คุณชายทั้งหลายบางครั้งก็ไม่ต้องเป็น ท. ทหาร อดทนตลอดเวลานะคะ เพราะการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วก็ทำให้สามารถดูแลรักษาได้ทันเหตุการณ์ค่ะ จึงอยากส่งต่อเกี่ยวกับไส้ติ่งอักเสบไว้เพียงเท่านี้และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านค่ะเครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปก โดย Vidal Balielo Jr. จาก Pexelsภาพประกอบเนื้อหาโดย ผู้เขียนออกแบบหน้าปกบทความใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจอาการโรคเบาหวานระยะแรกในผู้ชาย ภัยเงียบที่หลายคนมองข้ามนอนโรงพยาบาลต้องทำและเตรียมอะไรบ้าง ห้องพิเศษโรงพยาบาลของรัฐกี่บาท6 สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ และแนวทางการแก้ไขเรื่องปัญหาการนอนอัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !