สุขภาพจิตดี:มองปมด้อยให้เป็นปมเด่น (บทความสุขภาพจิต) ภาพจาก : RondellMelling / pixabay เด็กชายพิการที่เกิดมามีเพียงแขนขวาแต่เพียงข้างเดียว เมื่อเติบใหญ่ขึ้นเขามีความฝันอยากจะเป็นนักกีฬาเทควันโด และในวัยประถมศึกษาเขาก็ได้ไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ชื่อดังที่สอนเทควันโด แรกเริ่มอาจารย์ปฏิเสธที่จะรับเขาเป็นลูกศิษย์เพราะว่าเป็นคนพิการไม่มีแขนด้านซ้าย แต่ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่เขาจึงเพียรพยายามขอเรียนจากอาจารย์ จนในที่สุดอาจารย์จึงตัดสินใจรับเขาเป็นลูกศิษย์ เด็กชายดีใจอย่างที่สุดและมีความตั้งใจฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอและเต็มกำลัง ด้วยท่าเล่นเพียงไม่กี่ท่าเท่าที่อวัยวะร่างกายของเขาจะเอื้ออำนวยเท่านั้น ในที่สุดอาจารย์ก็เริ่มให้เขาลงแข่งขันเทควันโดในสนามแข่งขันเล็กๆระดับท้องถิ่น ผลปรากฏว่าเด็กหนุ่มมีชัยชนะทุกครั้งที่ลงแข่งขัน จึงเป็นแรงจูงใจให้เขาฝึกซ้อมอย่างยิ่งยวดด้วยพลังอึดฮึดสู้ จนกระทั่งในที่สุดเขาก็ได้ลงแข่งขันในเวทีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่เขาภาคภูมิใจอย่างที่สุดก็คือเขาจะมีชัยชนะทุกครั้งที่ลงแข่งขัน วันหนึ่งเขามีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์เขาจึงถามอาจารย์ไปว่า “เพราะเหตุใดเขาจึงมีชัยชนะทุกเวทีการแข่งขัน” อาจารย์ตอบเขาไปว่า “เพราะหากคู่ต่อสู้จะเอาชนะเขาในท่าที่เขาถนัดได้นั้น คู่ต่อสู้จะต้องมีโอกาสได้ล็อกแขนซ้ายของเขาไว้เท่านั้น” เด็กหนุ่มถึงบางอ้อว่าความพิการที่ไร้แขนซ้ายกลับกลายเป็นข้อดีข้อเด่นที่ทำให้เขาได้เปรียบคู่ต่อสู้ในการแข่งขันเทควันโดนั่นเอง เรื่องราวของเด็กหนุ่มคนดังกล่าวให้ข้อคิดที่ดีในทางสุขภาพจิตแก่เราเป็นอย่างดียิ่ง นั่นคือได้ประจักษ์ว่าบางอย่างที่คิดว่าเป็นปมด้อยและหายไป แต่กลับกลายเป็นปมเด่นที่จักรวาลจัดสรรไว้ให้เรามีชัยชนะและเข้มแข็งในรูปแบบที่เราเป็น มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะทุกข์ระทมตรงใจกับสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต แต่หากปรับมุมมอง(reframing)ให้ดี จะเข้าใจและเห็นว่าทุกอย่างเป็นเหตุผลทางธรรมที่จัดสรรไว้ดีแล้ว ดังเช่นเด็กๆอีกหลายคนในโลกที่รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยเพราะตัวโตและสูงจนผิดปกติจากเด็กทั่วไป แต่ทันใดเมื่อเด็กเหล่านี้ผันตนเองไปเล่นกีฬาบาสเกตบอลหรือวอลเลย์บอลเขากลับพบว่าความสูงเกิน 200 เซนติเมตรที่เขามีนั้น กลับกลายเป็นปมเด่นที่ทำให้เขาได้เปรียบในการเล่นกีฬาที่เขาได้เลือกสรรแล้วนั่นเอง ใดๆในโลกล้วนมีความเป็นของตรงกันข้ามทั้งสิ้น เช่น ต่ำตรงกันข้ามกับสูง ขาวตรงกันข้ามกับดำ ใหญ่ตรงกันข้ามกับเล็ก เกิดตรงกันข้ามกับตาย อิ่มตรงกันข้ามกับหิว สุขตรงกันข้ามกับทุกข์ สมบูรณ์ตรงกันข้ามกับพิการ เข้มแข็งตรงกันข้ามกับอ่อนไหว ดีใจตรงกันข้ามกับเสียใจ ได้ตรงกันข้ามกับเสีย เป็นต้น หากมนุษย์มองอย่างรอบด้านและลึกซึ้งจะเห็นว่าทุกสรรพสิ่งที่เป็นของตรงกันข้ามกันนั้น ล้วนมีข้อดีข้อเด่นที่เป็นหน้าที่ของมันอยู่เช่นนั้นเอง ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีดังเช่นเด็กชายไร้แขนซ้ายนักกีฬาเทควันโดนั้น พึงมีวิธีคิดอย่างน้อยสามประการคือ 1)มองโลกด้านดี 2)มีความพยายาม และ 3)ทำตามความฝัน ภาพจาก : PublicDomainPicture /pixabay 1)มองโลกในด้านดี คำว่ามองโลกในด้านดีนี้หมายความว่าต้องฝึกปรับมุมมองของตนเอง โดยมองเห็นทุกอย่างที่เป็นข้อด้อยว่ามีข้อดีๆอะไรอยู่ในนั้นบ้าง มีโอกาส มีความหวัง มีความหมายและมีคุณค่าอย่างไรอยู่ในความบกพร่องเหล่านั้น ทั้งนี้เป็นการปรับที่ความคิดและมุมมองต่อเหตุการณ์มิใช่มุ่งไปเปลี่ยนที่สถานการณ์ แต่มุ่งที่การปรับเปลี่ยนความคิดของตนเท่านั้น มีปมด้อยใดๆต้องมองให้เห็นเป็นปมเด่นขึ้นมาให้ได้ ดังเช่นเด็กชายไร้แขนซ้ายนักกีฬาเทควันโดที่เล่ามาแต่ต้น ที่มองเห็นปมด้อยกลายเป็นปมเด่นไปนั่นเอง 2)มีความพยายาม ความพยายามเป็นความคิดและการกระทำของผู้ที่ประสบความสำเร็จในทุกๆด้านดังเช่นมีคำกล่าวที่ว่า “ทุกความพยายามอาจจะไม่พบความสำเร็จแต่ทุกความสำเร็จล้วนเกิดจากความพยายามทั้งสิ้น” ดังนั้นหากเราเป็นผู้ที่เกิดมามีปมด้อยใดๆก็ตามเช่น กำพร้าพ่อแม่ ร่างกายพิการ หรือด้อยโอกาสในเรื่องต่างๆ เรายิ่งต้องเป็นคนที่มีความพยายามอย่างยิ่งยวด จึงจะนำมาสู่ความสำเร็จต่างๆในชีวิตได้ 3) ทำตามความฝัน ลักษณะหนึ่งของผู้ที่มีพลังสุขภาพจิต (RQ: Resilience Quotient)ที่เข้มแข็งนั้น จะต้องเป็นคนที่รู้จักตั้งเป้าหมายและความฝันของตนเองให้ชัดเจน ว่ามีความฝันอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร และอยากประสบความสำเร็จอย่างไร พร้อมทั้งมีความพยายามลงมือทำในสิ่งที่สัมพันธ์กับเป้าหมายและความฝันนั้นอย่างสม่ำเสมอจนพบความสำเร็จในที่สุด และการพบความสำเร็จตามความฝันในเรื่องต่างๆเป็นระยะๆนั้นยิ่งส่งผลให้คนเราเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจยิ่งขึ้นนั่นเอง ดังเช่นเด็กชายพิการแขนซ้ายที่มีความฝันอยากเป็นนักกีฬาเทควันโดที่กล่าวมา มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาต่างไร้ความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แต่ผู้ที่มีพลังสุขภาพจิตที่ดีแม้จะมีข้อบกพร่องใดๆในชีวิตบ้าง ก็จะนำข้อบกพร่องเหล่านั้นมาพลิกผันให้เป็นจุดเด่นด้วยการมองโลกในด้านดี มีความพยายามและทำตามความฝัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดพลังสุขภาพจิต ประสบความสุขและความสำเร็จในที่สุด ภาพจาก : andrewydk / pixabay ภาพปก : fancycrave1 / pixabay รศ.ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิตและศาสนาปรัชญานักเขียนสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มติชน,อมรินทร์ธรรมะ,ซีเอ็ด,ดีเอ็มจีและวิชบุ๊คประธานสถาบันพัฒนาบุคลากรwittipong academy,ไอดีไลน์ ac6555อัปเดตบทความดีต่อใจ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !