Photo by Pablo Merchán Montes on Unsplash โรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว... แต่จะหายนะมาก ๆ หากคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าและอยู่ดีๆ ก็ฟาดงวงฟาดงา หงุดหงิด ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดใส่โดยไม่ทราบสาเหตุ หากคุณคิดว่าการรับมือกับมนุษย์เมนส์เป็นเรื่องยาก ขอบอกว่าการรับมือผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายากกว่า 10 เท่า! บางวันที่ไม่ทันตั้งตัวก็เผลอทะเลาะไปซะยกใหญ่ แต่เมื่อตั้งสติดี ๆ ก็พบทางออกที่ทดลองใช้แล้วได้ผล ซึ่งสามารถลดการมีปากเสียงและถนอมหัวใจกันไว้ไม่ให้เสียน้ำตาโดยไม่จำเป็น Photo by Anthony Tran on Unsplash 1. ทำความเข้าใจว่า ‘คนเป็นโรคซึมเศร้าคือคนป่วย’ สาเหตุของโรคซึมเศร้าคือความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ไม่ใช่อาการเอาแต่ใจ หรือเสแสร้งแกล้งทำ บางคนอาจมีอาการเศร้าซึม จมดิ่งอยู่ในความรู้สึกพ่ายแพ้ โลกไม่มีความสนุก ชีวิตไม่มีสิ่งน่าสนใจ ในขณะที่บางคนหงุดหงิดโมโหร้าย เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเหมือนคนผีเข้า ซึ่งถ้าไม่ตั้งรับดีๆ อาจจะเป็นเราเองที่พังไปโดยไม่ทันตั้งตัว การทำความเข้าใจว่า ‘คนเป็นโรคซึมเศร้าคือคนป่วย’จะทำให้คุณรู้ว่านี่เป็นแค่อาการชั่วคราวระยะหนึ่งและไม่ใช่นิสัยถาวร ช่วงเวลาเหล่านั้นคุณอาจจะต้องใช้ความอดทนมากเป็นพิเศษ ทั้งยังต้องใจเย็นกว่าเดิม 100 เท่า อาจฟังดูเหมือนยาก แต่เชื่อเถอะว่าคุ้มค่าที่จะเยียวยาคนข้างตัวไว้ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวและพังทลาย Photo by Yuris Alhumaydy on Unsplash 2. คนที่ทำตัวไม่น่ารักที่สุด คือ คนที่ต้องการความรักมากที่สุด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะส่งสัญญาณบางอย่างมาบอกเป็นนัย ๆ อาจเป็นคำพูดตัดพ้อต่อว่า โพสต์สเตตัสน้อยใจ ฟังเพลงเศร้าๆ ครุ่นคิดถึงความตาย หรือบางครั้งก็ทำตัวเกรี้ยวกราดพ่นไฟ โมโหร้าย พูดจาไม่ดี ขอให้คุณจำให้ขึ้นใจว่า... เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาทำตัวไม่น่ารักที่สุด นั่นคือช่วงเวลาที่เขาต้องการความรักมากที่สุด หน้าที่ของผู้เยียวยาก็คือต้องมอบความรักให้อย่างไม่มีเงื่อนไข 3. อยู่ข้าง ๆ อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหมกหมุ่นอยู่กับตัวเองนานเกินไป ในช่วงเวลาที่เขารู้สึกแย่ก็ไม่ต่างอะไรกับคนจมน้ำ หน้าที่ของผู้เยียวยาคือยื่นมือให้เขาคว้าไว้ เพื่อจะพยุงตัวให้จมูกโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ บางทีอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนบรรยากาศถึงขั้นเดินทางไปที่ไหนไกลๆ แค่เพียงเปลี่ยนบรรยากาศในห้องให้เขาไม่รู้สึกเดียวดายก็เพียงพอแล้ว Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash 4. รับฟังโดยไม่พิพากษา การมีคนอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาจมดิ่งเป็นเรื่องที่ดี และจะดีมาก ๆ หากคน ๆ นั้นเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้ป่วยซึมเศร้ามักจะมีความในใจที่อัดอั้นไว้ไม่ยอมพูดออกมา แต่เขาจะพรั่งพรูออกมาเองเมื่อรู้สึกไว้วางใจมากพอที่จะเล่าให้ใครสักคนฟัง คุณอาจจะไม่ต้องถามว่าเป็นอะไร แค่ถามเขาว่า “ไหวมั้ย?” และแสดงตัวว่าคุณพร้อมจะอยู่ตรงนั้นเพื่อรับฟังเขาทุกเมื่อ 5. พาไปหาของอร่อย ๆ กิน มีคำกล่าวที่ว่า “ลำไส้คือสมองที่สองของมนุษย์” การกินอาหารอร่อยๆ จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีและเป็นการกินที่มีความสุข ไม่ใช่แค่กองทัพต้องเดินด้วยท้อง แต่คนที่พลังชีวิตอ่อนแอต้องได้กินของอร่อย ๆ ที่ตัวเองอยากกินเพื่อจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และหลั่งสารแห่งความสุขออกมายับยั้งอาการหดหู่ซึมเศร้า หรือเกรี้ยวกราดต่าง ๆ นานา Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash นี่เป็นแค่วิธีการเบื้องต้นในการรับมือกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพื่อไม่ให้คนใดคนหนึ่งพังไปต่อหน้าต่อตา ทั้งคนป่วยและคนเยียวยา สิ่งสำคัญที่สุดคือการยอมรับตัวตนของคนอีกคน เชื่อมั่นในพลังและศักยภาพของเขา และเชื่อว่าโรคนี้มีจริง ไม่ใช่แค่เพียงการเรียกร้องความสนใจ