ใครจะไปเชื่อว่าแฟชั่นกับการประท้วงจะสามารถไปด้วยกันได้ แต่ในโลกปัจจุบันที่สิทธิเสรีภาพก้าวหน้าอย่างมากมาย ทำให้การรณรงค์การประท้วงมีพื้นที่ที่แสดงออกได้อย่างถูกต้องชอบธรรม เราจะเห็นข่าวจากหลาย ๆ ประเทศที่ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ แต่เหตุการณ์กลับไม่มีอะไรลุกลามร้ายแรง นั่นก็เพราะเขามีขอบเขตที่จำกัดไว้ มีกฎหมายควบคุม และทุกคนต่างรู้สิทธิหน้าที่ของฝ่ายตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่การสื่อสารและการโฆษณาเข้ามามีบทบาทสูง การประท้วงเชิงสัญลักษณ์จึงยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การใช้แฟชั่น การแต่งกายต่าง ๆ เพื่อเป็นภาพแทน ให้เกิดการจดจำ ทำตาม และขยายขอบเขตของเรื่องราวนั้น ๆ จึงนำไปสู่เป้าหมายได้เป็นอย่างดี ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere จากที่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์เริ่มแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ นั่นก็เพราะที่หนึ่งทำแล้วได้ผล กระแสก็ถูกส่งต่อกัน เกิดภาพให้คนจดจำได้มากกว่าการประท้วงแบบเก่าที่มีแต่การไฮปาร์คเป็นหลัก จะเห็นหลาย ๆ การประท้วงแบบสันติวิธีในต่างประเทศ ที่ใช้เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ ร่ม ธง หรืออะไรก็ตามที่มีสีสันงดงาม เข้ามาอยู่ร่วมกันท่ามกลางการประท้วง อย่างเช่นที่ ประเทศตุรกี ประชาชนชาวเติร์กประท้วงฝ่ายรัฐที่มีนโยบาย จะเอาสวนสาธารณะไปให้เอกชนสร้างห้างสรรพสินค้า โดยการใช้ แฟลชม็อบ (Flash Mob) ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือการยืนนิ่ง ๆ เหมือนหุ่น โดยไม่ทำอะไรเลย จนถูกขนานนามว่าเป็นการประท้วงแบบ Standing Man บางคนก็เรียกว่าเป็นการทำโยคะประท้วงรัฐบาล ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere หรืออย่างการประท้วงโดยใช้แฟชั่นหน้ากากกาย ฟ็อกซ์ (Guy Fawkes) ที่โด่งดังมากจากภาพยนตร์ V for Vendetta นั่นก็คือการประท้วงมีขึ้นที่ย่านไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกกันว่า ออคคิวพาย วอลล์สตรีท ( Occupy Wall Street) ซึ่งเป็นการประท้วงในเรื่องของการทำธุรกิจ และการใช้อิทธิพลทางการเงินของนายธนาคาร บรรษัท และพวกนายทุนใหญ่ทั้งหลาย การประท้วงในครั้งนั้นขยายวงกว้างไปมาก ก็เพราะแฟชั่นหน้ากากขาวจากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta นั่นเอง จากที่มีรูปคนใส่หน้ากากกาย ฟ็อกซ์ กันมากเข้า จนทำให้หน้ากากขาวเป็นที่นิยม และขยายวงฮอตฮิตกันไปทั่วโลกเลยทีเดียว ตอนนั้นคนในโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทั้งหลายต่างเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นหน้ากากกาย ฟ็อกซ์ กันแทบทั้งนั้น ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere หรืออย่างที่ ประเทศเปรู ในทวีปอเมริกาใต้ ใช้แฟชั่นสีสันมาเป็นธงนำ ใช้เป็นสัญลักษณ์การประท้วงของประชาชน ที่ต่อต้านให้ยกเลิกกีฬาสู้วัวกระทิง ว่าเป็นการทรมานสัตว์ ทารุณโหดร้าย ประท้วงครั้งนั้นด้วยการทาสีแดงลงบนตัวเพื่อแทนความหมายว่าเป็นเลือด และทาสีดำเพื่อแทนสีของวัวกระทิง และนอนเรียงกันเป็นรูปวัวกระทิงถูกแทงตายที่กลางเมืองหลวง ซึ่งเป็นภาพที่ทรงพลัง และโด่งดังไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน กับที่ประเทศใกล้กับเปรูอย่าง บราซิล กลุ่ม Black Bloc Anonymous ก็เคยนำประชาชนประท้วงรัฐบาล ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การขูดรีดภาษี การคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันของคนในประเทศ ด้วยการใช้หน้ากากกาย ฟ็อกซ์ (Guy Fawkes) มาแล้วเช่นกัน ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere อาหรับสปริงก็เช่นกัน เป็นการใช้การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประกอบกับการเรียกร้อง จนกลายเป็นภาพที่โด่งดังไปตามสถานีข่าวทั่วโลก การใช้ดอกมะลิใน ประเทศตูนีเซีย การใส่เสื้อน้ำเงินในประเทศอิหร่าน การชูสี่นิ้วในประเทศอิยิปต์ การผูกผ้าปิดตา การทำท่า Hands Up ต่างก็เป็นการประท้วงที่มุ่งใช้ภาพแทน เพื่อให้เกิดการจดจำแทบทั้งสิ้น บนเวทีเดินแบบอาชีพจริง ๆ ก็มีหลายครั้งที่นางแบบทั้งหลาย เลือกที่จะใช้เวที Cat Walk ส่งสัญญาณความไม่พอใจออกไปยังเรื่องราวนั้น ๆ โดยตรง อย่างที่ ประเทศยูเครน มีการนำผ้าลายทหารมาโพกศีรษะ หรือคาดผ้าปิดตา เพื่อเป็นการประท้วงการทำสงครามรุกรานกัน ขอบคุณภาพประกอบจาก pexels หรืออย่างไม่นานมานี้เองที่ประเทศฝรั่งเศส ก็มีเหตุการณ์เดินขบวนครั้งใหญ่ เพื่อประท้วงนโยบายขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาล แอ็มมานูแอล มาครอง การประท้วงครั้งนี้ผู้ชุมนุมนับแสนคนได้นัดกันใช้สัญลักษณ์เสื้อกั๊กสีเหลือง Mouvement des gilets jaunes เพื่อเป็นสีของการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้ลุกลามบานปลายไปมากเลยทีเดียว มีการปิดถนนหลายสายจนทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ประเทศเลบานอน มีการประท้วงรัฐบาลที่มีการเรียกเก็บภาษีการใช้บริการโทรศัพท์ผ่าน app Whatsapp ระหว่างชุมนุมประท้วง ก็เกิดเหตุการณ์วิดีโอไวรัลของผู้ประท้วง จากการร้องเพลง Baby Shark เพื่อปลอบขวัญแม่และเด็กที่ตื่นตกใจจากการประท้วง จนทำให้กลายเป็นกระแสโด่งดังขึ้นมาในชั่วข้ามคืน และกลุ่มประท้วงก็เลยเอาเพลง Baby Shark มาเป็นเพลงประจำการประท้วงไปเสียเลย ใกล้บ้านเราอย่าง ฮ่องกง ก็เอาร่มหลากสีสัน มาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วง หรือการยืนไขว้มือเป็นรูปกากบาท (Crossed arms) จนเป็นภาพที่ทรงพลังเผยแพร่ออกไปทั่วโลกด้วยเช่นเดียวกัน ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere เห็นมั้ยล่ะว่าแฟชั่นกับการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในโลกปัจจุบันแทบแยกจากกันไม่ออก เพราะในโลกสมัยใหม่ที่เราต่างต้องพึ่งพาการสื่อสาร ในยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่ระบาดไปทั่วทุกหนแห่ง ปิดกั้นการเข้าถึงได้ยาก อะไรจะทำให้เป็นที่จดจำของผู้คนได้ดีไปกว่าภาพ อะไรจะจดจำได้ชัดไปกว่าสัญลักษณ์ที่มองเห็น หรือการแต่งกาย ที่จะติดตาผู้คนไปนานแสนนาน อย่างในช่วงหลัง ๆ เราจะเห็นการประท้วงเริ่มใช้ภาพสัญลักษณ์ของหน้ากากโจ๊กเกอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถูกกระทำกันบ่อยขึ้น การรณรงค์ หรือการประท้วงรูปแบบต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ จึงพยายามคิดค้นเครื่องแบบ การแต่งกาย ให้เป็นที่ดึงดูด เพื่อให้โดนใจและให้ความทรงพลังของศิลปะเข้าไปมีส่วนเร้าความรู้สึกในหัวใจของมนุษย์ เพื่อสร้างแนวร่วมให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางนั่นเอง ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere และภาพปกจาก pxhere