รีเซต

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH ออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH ออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย
Faii_Natnista
11 มีนาคม 2563 ( 09:30 )
651

     กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) ได้ดำเนินงานต่อยอดโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 เป็นปีที่สอง เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทย รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยต้นแบบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมผ่านผ้าไทยไปสู่ชุมชนต้นแบบ โดยจากเดิม 7 ชุมชน เพิ่มเป็น 14 ชุมชน และได้จัดแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ ณ Art Space ชั้น 8 (River Museum) ไอคอนสยาม

 

 

     นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานการแถลงข่าว กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล็งเห็นความสำคัญของผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในงานช่างฝีมือที่สืบทอดกันมา จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 ซึ่งดำเนินงานเป็นปีที่สอง โดยเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม คือการต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรม มาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม สนับสนุนการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F (Film, Food, Festival, Fashion, Fighting) ในเรื่อง Fashion : การออกแบบและแฟชั่น โดยการบูรณาการและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้ง 7 ชุมชน ประสบความสำเร็จในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนตนเอง

     ได้แก่ 1.การขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ต่างประเทศ 2.มียอดสั่งผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น 3.การพัฒนาลวดลายบนผืนผ้าใหม่ๆ การวางลายผ้าให้มีความทันสมัย ไม่ดูเชย มีความโดดเด่น เพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน 4.ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแสดงเครื่องแต่งกายในงานแฟชั่นที่ต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสาธารณรัฐออสเตรีย 5.ต่อยอดกับเทคโนโลยี เกิดเป็นนวัตกรรมเส้นใยผ้า ส่งผลให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ อาทิ กำจัดและปกป้องกลิ่นกาย ป้องกันรังสียูวี เนื้อผ้าไม่ยับง่าย ดูแลรักษาง่าย และสวมใส่สบาย 6.มีรายได้ทั้งจากงานหัตถกรรมและนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ้ามิติผ้าไทย นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงผ่านแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภายในชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการ ทั้ง 14 ชุมชน ได้แก่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพ จังหวัดขอนแก่น, ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น, ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น, ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี, ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอนฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่, เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์, บาติกเดอนารา จังหวัดปัตตานี, ชาคราฟท์ จังหวัดแพร่, ผ้าซาโลมา ปาเต๊ะ จังหวัดนราธิวาส, ไฑบาติก จังหวัดกระบี่, ร้านฝ้ายเข็น จังหวัดอุบลราชธานี, บ้านหนองอีบุตร จังหวัดกาฬสินธุ์, ฉัตรทองไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา และฅญา บาติก นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้สามารถดำเนินการทอผ้า และสร้างสรรค์ผ้าไทยให้มีความแปลกใหม่ไปตามกระแสของวงการแฟชั่นที่ไม่เคยหยุดนิ่ง รวมไปถึงยังเป็นการสืบสาน และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจบนรากฐานของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน”

 

 

 

     นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH กล่าวเสริมว่า “ในคอลเลกชั่น Post-Wore Delicacies
(โพส วอร์ เดลิเคซี่) เป็นการเอาของในชีวิตประจำวันกลับมาทำให้มีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ในตอนนี้ นั่นคือนำผ้าไทยกลับมาใช้ยังไงให้ดูตื่นเต้น โดยที่ไม่เชย หรือซ้ำซาก สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ ดูแลรักษาได้ง่าย และราคาสามารถสัมผัสได้ ส่วนดีไซน์ของเสื้อผ้าจะค่อนข้างเบสิก เน้นไปที่แมททีเรียล และที่สำคัญเราโดดเด่นด้วยนวัตกรรมเส้นใยที่เรียกว่า FILAGEN (ฟิลาเจน) และ Nanozinc (นาโนซิงค์) โดยในครั้งนี้เราได้ทำงานกับชุมชนถึง 14 ชุมชนทั่วประเทศไทย เราพยายามจะดึงจุดเด่นของแต่ละที่ออกมา ทำให้งานมีความน่าสนใจมากขึ้น และตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งผลตอบรับจากปีที่แล้วก็ถือว่าดีมาก ออเดอร์ผ้าจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามามากมาย ทำให้เห็นว่าผ้าไทยของเรายังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก และสำหรับปีนี้ 70 ลุคที่เราพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็น่าจะสร้างความประทับใจให้กับทุกคนครับ”

 


     นางสาวจุฑาทิพ ไชยสุระ จากแบรนด์ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “หลังจากเข้าร่วมโครงการในปีที่ 2 ความท้าทายจากโจทย์ที่ได้รับจากอาจารย์(วิชะระวิชญ์) ก็เพิ่มมากขึ้น ในปีนี้อาจารย์รู้ถึงความสามารถของเราแล้วว่าทำงานตามใจดีไซน์เนอร์ได้ จึงได้มอบโจทย์ที่ยากขึ้นและต้องใช้ความละเมียดละไมในการทำงานมากขึ้น อย่างงานมัดหมี่ซึ่งทางเราไม่ถนัด เราเริ่มต้นจากที่ไม่มีความรู้ ลองผิดลองถูกกันไป แต่เมื่อนำไปเสนออาจารย์ก็เป็นที่ถูกใจมาก การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ลูกค้ารู้จักเรามากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก จนตอนนี้ต้องพรีออเดอร์ก่อน โดยส่วนใหญ่สินค้าที่ได้รับความนิยมจะเป็นเสื้อผ้าสไตล์ยูนิเซ็กซ์ที่สามารถใส่ได้หลากหลาย ส่วนคอลเลกชั่นผ้าในปีนี้จะเน้นไปที่ลายมัดหมี่ผสานความเป็นไทยในโทนสีพาสเทลจากการใช้สีย้อมจากธรรมชาติ ทางเรารู้สึกดีใจมากที่มรดกผ้าไทยของเราได้รับความนิยมมากขึ้นจากคนรุ่นใหม่ ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัยบวกกับความโดดเด่นของลายผ้าไทย ทำให้คนหันมาสนใจในภูมิปัญญาของชาติไทยมากขึ้นค่ะ”

     นายเอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์ จากแบรนด์ ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมว่า “ปีนี้เป็นปีที่2 ที่แบรนด์เราได้เข้าร่วมโครงการเช่นเดียวกัน โดยเราได้พัฒนาผ้าให้มีลวดลายที่แตกต่าง อย่างเช่น ลายรหัสแท่ง หรือลายบาร์โค้ดสีขาวดำ ที่เราได้นำมาเป็นลายผ้า และยังเลือกใช้วัตถุดิบหลากหลายขึ้น โดยนำเส้นด้ายที่ไม่ใช้แล้วมาทอรวมกันจนเกิดเป็นดีไซน์ใหม่ ซึ่งผ้าของเราก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยการออกแบบที่ทันสมัย และสวยงาม ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น และได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทั้งแบบผ้าผืน และเสื้อผ้าที่ตัดเย็บแล้ว การที่เราได้ร่วมโครงการนี้ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่มากขึ้น และได้เรียนรู้การมองหาจุดเด่นของผ้าจากดีไซน์เนอร์ผู้เชี่ยวชาญ เราจึงสามารถดึงความโดดเด่นของผ้ามาใช้ได้อย่างเต็มที่ อาทิ เลือกลายผ้าให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละแบบ หรือการเลือกผ้าแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับเสื้อผ้าที่เราจะนำไปตัดเย็บ แม้ในตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมากอย่างผ้าขาวม้า เราก็นำเสนอดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร เพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไทยได้อย่างดีครับ”

     ทั้งนี้ โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 ยังมีกิจกรรมอีกมากมายให้ได้ติดตามกัน อาทิ การเสวนาวิชาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ในระหว่างวันที่ 11 – 12 มีนาคม 2563 ณ โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26 กรุงเทพฯ และ นิทรรศการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการ และการจัดแสดงผลงานเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยต้นแบบ ระหว่างวันที่ 19 - 22 มีนาคม 2563 บริเวณ Art Space ชั้น 8 (River Museum) ไอคอนสยาม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี