ภาพปกจาก freepik หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า "ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง" ที่จะนำไปสู่ "โรคเบาหวาน" ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถพบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในประชากรทั่วโลก แต่รู้ไหมว่าอีกภาวะหนึ่งที่ตรงข้ามกันกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และแม้แต่คนเป็นโรคเบาหวานก็อาจเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือภาวะนี้ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายจึงจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ภาวะนี้เรียกว่า "ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ" นั่นเองค่ะ ภาพจาก freepik ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คืออะไร ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำทางการแพทย์จะเรียกว่า "Hypoglycemia" หรือเรียกสั้น ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า "ไฮโปไกล" ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนี้สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากกว่า ในด้านการจะวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นจะประกอบด้วยเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1) มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 2) มีอาการแสดงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 3) อาการนั้นหายไปเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่องเจาะวัดระดับน้ำตาลที่บ้าน การสังเกตอาการที่เกิดขึ้นก็จะช่วยให้เราทราบได้ว่าขณะนี้ตนเองกำลังมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่หรือไม่ ภาพจาก freepik อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นอย่างไร ? เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมาก ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นใน 2 ลักษณะ ได้แก่อาการที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกาย ซึ่งจะทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่น รู้สึกหิว เหงื่อออก กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาการเหล่านี้เป็นการตอบสนองของร่างกายในเบื้องต้นเพื่อเตือนว่าเราควรจะรีบหาน้ำตาลทดแทนโดยด่วน ก่อนที่จะเกิดอันตรายในระดับรุนแรงขึ้นที่เรียกว่า อาการที่เกิดจากสมองขาดน้ำตาล เนื่องจากน้ำตาลกลูโคสนั้นถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายรวมทั้งเซลล์สมอง เมื่อร่างกายยังคงขาดน้ำตาลอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ เริ่มไม่มีสมาธิ ตอบสนองช้าลง ตาพร่ามัว จนอาจทำให้หมดสติหรือเกิดอาการชักได้เลยทีเดียว และยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก ก็จะยิ่งมีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น ภาพจาก freepik สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ? สำหรับคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน อาการน้ำตาลในเลือดต่ำมักจะเกิดจากการที่ไม่ได้รับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารน้อยเกินไป ในขณะที่ร่างกายมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เช่นการออกกำลังกาย แต่ในผู้ป่วยเบาหวานนั้น สาเหตุของน้ำตาลในเลือดต่ำที่สามารถพบได้ มักจะเกิดจากปัญหาการใช้ยาเบาหวานไม่ถูกต้อง เนื่องจากยาเบาหวานบางชนิดนั้นมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะยาฉีดอินซูลิน ดังนั้นหากผู้ป่วยฉีดยาแล้วไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลาที่กำหนด หรือหากผู้ป่วยฉีดยาสูงเกินกว่าขนาดที่แพทย์สั่ง ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมาได้ ภาพจาก freepik วิธีแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากเราเริ่มรู้สึกว่ามีอาการใจสั่น หิว เหงื่อออก แสดงว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนในเบื้องต้นว่าต้องการน้ำตาลเพิ่ม ซึ่งยังจัดอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำไม่รุนแรง สามารถแก้ไขได้โดยการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเพิ่มในปริมาณ 15 กรัม เช่น ลูกอม น้ำส้มคั้น 1 แก้ว น้ำอัดลม 1 แก้ว นม ขนมปัง 1 แผ่น กล้วย 1 ผล หลังรับประทานภายใน 15-20 นาที อาการน้ำตาลในเลือดต่ำก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่หากยังคงมีอาการอยู่ก็สามารถรับประทานเพิ่มได้ และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ควรหยุดรับประทานโดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานเพราะการรับประทานของหวานมากเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงเกินได้ ทั้งนี้หากอาการน้ำตาลในเลือดต่ำยังคงอยู่ หรือหากมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะอาการสมองขาดน้ำตาลจนหมดสติเป็นลม ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อที่แพทย์จะได้ทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วนต่อไปค่ะ ภาพจาก freepik ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรทำอย่างไร ? สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีการใช้ยาลดน้ำตาลชนิดรับประทานก่อนอาหาร หรือใช้ยาฉีดอินซูลิน หากมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้งควรตรวจสอบวิธีการใช้ยาว่าตนเองได้ใช้ยาในขนาดที่ถูกต้องตามที่ปรากฏบนฉลากยาหรือไม่ และอาการน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นมักจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตาหรือไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของญาติหรือคนในครอบครัวที่จะต้องช่วยกันตรวจสอบวิธีการใช้ยาร่วมด้วย นอกจากนี้ก่อนฉีดหรือรับประทานยาอย่างน้อย 30 นาที ก็ควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ยาให้ตรงเวลา เพราะหากไม่ได้รับประทานอาหารหรือทานน้อยกว่าปกติก็อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และหากพบว่าใช้ยาอย่างถูกต้องแล้วแต่ยังมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่ควรกลับไปแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาหาสาเหตุและปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาต่อไป แต่ไม่ควรปรับลดขนาดยาเองโดยเด็ดขาดเพราะหากปรับลดขนาดยาอย่างไม่เหมาะสมก็อาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้ ภาพจาก freepik ถึงแม้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่สามารถพบได้บ่อย แต่ภาวะนี้ก็ถือเป็นภาวะที่เป็นอันตราย หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้งอาจส่งผลให้อวัยวะสำคัญในร่างกายโดยเฉพาะสมองทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการเราจึงควรรีบแก้ไขเบื้องต้นโดยการรับประทานน้ำตาลไปช่วยเสริมและควรทำการหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อปรับแก้ไขต่อไปค่ะ ทั้งนี้สำหรับบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุที่มีอาการหน้ามืดวิงเวียนจะเป็นลมบ่อย ๆ ญาติอาจจะลองตรวจสอบหาสาเหตุดูว่าเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่เพื่อที่จะได้รีบทำการแก้ไขต่อไปค่ะ อ้างอิง - แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560 สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย บทความสุขภาพอื่น ๆ - หน้าร้อนต้องระวัง โรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ถามหา ! - 💉 วิธีประเมินความเสี่ยง "โรคเบาหวาน" ด้วยตนเอง - 💊 ไขข้อสงสัย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ทำไมคุณหมอไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ? - 💓 โรคโลหิตจาง ไม่จำเป็นต้อง "เสริมธาตุเหล็ก" เสมอไป - 😲 ไขข้อข้องใจ ทำไมเราถึงมีอาการ “แพ้” ? - 👩⚕️ 3 วิธีป้องกันโรค “มะเร็งตับ” ภัยร้ายคร่าชีวิตที่สามารถป้องกันได้ - 💊 3 โรคหายได้ ไม่ต้องกิน “ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” - 💊 รู้ไหมว่ายาบางชนิดอาจทำให้ “เหงือกบวมโต” ได้ - 🌞 ร้อนนี้ต้องระวัง Heatstroke (โรคลมแดด)