ส่องแฟชั่นชาวสยามสมัยพระนารายณ์ ผู้เขียน หญิงหลง วันที่ 1/10/2020 ละครจบ แต่หญิงหลงไม่จบค่ะ หญิงหลงยังคงอินกับประวัติศาสตร์ในสมัยพระนารายณ์อยู่ อยากที่ทุกคนทราบกันดีว่า ยุคสมัยของพระนารายณ์ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองด้านการต่างประเทศและวรรณกรรมยุคหนึ่งของอยุธยาเลยก็ว่าได้ สิ่งที่หญิงหลงชื่นชอบมากของละครก็คือเครื่องแต่งกายของตัวละครต่างๆซึ่งหญิงหลงคิดว่าทางผู้สร้างละครเก็บรายละเอียดได้ดีพอสมควรเลยค่ะ และหลังจากที่ละครได้ฉายไป ก็ทำให้เกิดกระแสการแต่งกายด้วยชุดไทยและนั่นคือสิ่งที่ดีมากๆเลย นางทาสของหญิงหลงก็พลอยเอากับเขาไปด้วยถึงขนาดใส่ชุดไทยไปถ่ายที่โบราณสถานในจังหวัดพิษณุโลกเลย เอากับนางสิ ดีนะไม่ไปแต่งตอนกลางคืน เอาล่ะค่ะ ขอเข้าเรื่องเลย วันนี้หญิงหลงจะพาทุกคนไปดูว่าแฟชั่นของผู้หญิงในสมัยอยุธยา หรือ การแต่งกายของผู้หญิงในสมัยพระนารายณ์ เขาแต่งตัวกันเยี่ยงไรออเจ้า จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ มีการบันทึกเรื่อง “เครื่องนุ่งห่มของสตรี” ไว้ดังนี้ “ความแตกต่างของการนุ่งหุ่มระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายก็คือ พวกผู้หญิงนุ่งผ้าตามความยาวของผืน วงรอบตัวเช่นเดียวกับผู้ชายแต่ผู้หญิงปล่อยชายทางด้านกว้าง เลียนแบบกระโปรงอย่างแคบๆ ให้ชายตกลงมาถึงครึ่งแข้ง ส่วนผู้ชายนั้นชักชายผ้าข้างหนึ่งซึ่งเขาปล่อยให้ยาวกว่าอีกข้างหนึ่งลอดหว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ทางด้านหลังโดยคาดสายเข็มขัดทับ คล้ายจะเลียนแบบสนับเพลาโบราณของเรา ส่วนชายผ้าอีกข้างหนึ่งนั้นห้อยอยู่ข้างหน้า (ชายพก) และโดยที่เขาไม่มีกระเป๋าที่ผ้านุ่ง ก็ใช้ชายพกนั้นแล (ตลบขึ้นไป) ห่อล่วมหมากทำนองเดียวกับที่เราขมวดเก็บสิ่งไรสิ่งหนึ่งไว้ในผ้าเช็ดหน้าฉะนั้น ลางทีเขาก็นุ่งผ้าสองผืนซ้อนทับกันเพื่อให้ผืนบนดูเรียบร้อย” (จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ หน้า ๙๓) จากบันทึกข้างต้น เป็นแฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิงชนชั้นปกติของสังคมค่ะ โดยผู้หญิงจะสวมผ้านุ่งแบบให้ชายผ้าตกลงมาแบบรูปประกอบด้านล่าง ในขณะที่ผู้ชายจะสวมผ้านุ่งที่นำชายผ้าข้างหนึ่งลอดหว่างขาและเหน็บไปด้านหลังซึ่งก็น่าจะเป็นโจงกะเบนค่ะ ส่วนเสื้อท่อนบนของผู้หญิง ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ตอนอื่นระบุไว้ว่า ผู้หญิงมักจะไม่สวมอะไรค่ะ จะมีก็แต่คนที่ร่ำรวยหรือมีชนชั้นหน่อย อาจจะเอาสไปมาห่ม พันตัวและคาดไหล่เหมือนที่เราเห็นในละครค่ะ เอาเป็นว่าคงจะพอเห็นภาพแฟชั่นของผู้หญิงในสมัยอยุธยากันแล้วนะคะ และหากใครอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หญิงหลงขอแนะนำจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ค่ะ ลองไปหาอ่านกันดูนะคะ แหล่งอ้างอิง: มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์.จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด, 2557