สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์การบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานะคะ ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนไม่ค่อยเข้าวัดทำบุญเท่าไหร่ ด้วยความไม่สะดวกในเรื่องของเวลาแล้วก็ไม่ค่อยชอบบรรยากาศการไปวัดที่คนเยอะ ๆ และอื่น ๆ ก็เลยเลือกที่จะทำบุญด้วยการบริจาคเลือดแทน เพราะนอกจากจะเป็นการทำบุญโดยไม่ต้องลงทุนอะไรแล้ว (นอกจากดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง) การบริจาคยังมีข้อดีเยอะมาก ๆ ที่แน่ ๆ คือได้ช่วยเหลือคนอื่น นอกจากนี้การบริจาคมีประโยชน์ต่อผู้ที่บริจาคเองเยอะมาก วันนี้ก็เลยจะมารีวิวการบริจาคเลือดว่าต้องทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีข้อดี-ข้อเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากจะบริจาคเลือดหรือว่าลังเลว่าจะบริจาคเลือดดีหรือเปล่านะคะสำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องบริจาคเลือด เหตุผลสำคัญเลยคือ "เพราะผู้ป่วยต้องการโลหิตทุกวินาที" ตอนที่เราหรือคนในครอบครัวสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย เราก็อาจจะมองไม่เห็นความสำคัญหรือคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากวันใดวันหนึ่งที่คุณ ครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ของคุณได้รับอุบัติเหตุหรือต้องมีการผ่าตัดใช้เลือดอย่างเร่งด่วน วันนั้นทุกคนจะเข้าใจว่าการเลือดที่บริจาคไปนั้นมีความสำคัญมาก กับคนใกล้ตัวของเจ้าของบทความเองเมื่อเร็ว ๆ นี้เลยก็คือคุณแม่ของเพื่อนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้องใช้เลือดจำนวนมาก วินาทีที่เพื่อนส่งข้อความไปในทุกกลุ่มแชท และเราที่ช่วยกระจายข้อมูลขอรับบริจาคเลือดจากผู้ใจบุญในการนำไปผ่าตัดรักษาคุณแม่ของเพื่อน ณ ตอนนั้น คือทำให้เราเข้าใจและเห็นความสำคัญของการบริจาคเลือดมาก ๆ ตั้งใจกับตัวเองแล้วว่าจะพยายามดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและจะพยายามบริจาคให้ได้ทุก ๆ 3 เดือน หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ เพราะผู้ป่วยต้องการเลือดทุกวินาทีจริง ๆ โดยเลือด 1 ถุงที่เราบริจาคนั้นจะถูกนำไปปั่นแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา (น้ำเลือด) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้เลือดในส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันไป ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงสามารถนำไปช่วยเหลือผู้คนได้อย่างน้อย 3 ชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า 1 คนให้ หลายคนรับ นั่นเอง ซึ่งในกรณีที่มีการขอรับบริจาคเลือดที่ผู้ป่วยรักษาอยู่คนละพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ก็สามารถบริจาคได้นะคะ อันนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่เราเพิ่งทราบเลย ก็คือเราสามารถไปบริจาคเลือดในพื้นที่ที่เราสะดวกได้เลย เพียงแค่แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ต้องการบริจาคให้ คุณ... (ชื่อผู้ป่วย) โรงพยาบาล... เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วค่ะสำหรับการบริจาคเลือดของเราในครั้งนี้เป็นการบริจาคครั้งที่ 5 ค่ะ ไม่มากไม่น้อย แต่แอบตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะไม่เคยมาบริจาคที่สภากาชาดไทยเลย ปกติจะบริจาคที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด และเพราะวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดรับบริจาคโลหิตประจำปี 2566 วันนี้จึงมีผู้ใจบุญเข้ามาบริจาคเลือดกันเยอะมาก เห็นแล้วก็ชื่นใจมาก ๆ แม้จะต้องรอคิวบริจาคนานหน่อย แต่นับเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับเราตั้งแต่ต้นปีเลยค่ะ แฮปปี้มากกกก ส่วนใครที่สนใจบริจาคโลหิตที่สภากาดไทย สามารถเข้ามาได้ตามวัน เวลา ด้านล่างนี้เลยนะคะ ส่วนใครที่ไม่อยากรอคิวนานสามารถลงทะเบียนนัดหมายบริจาคโลหิตก่อนมาบริจาคได้นะคะ ก็จะช่วยประหยัดเวลาไป 1 ขั้น แต่ถ้าระบุเวลาได้ไม่แน่นอนก็สามารถ Walk-in เข้ามาได้เลย ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตกันไปคร่าว ๆ แล้ว เรามาดูข้อดี - ข้อเสียของการบริจาคเลือดกันบ้างดีกว่า ว่ามีอะไรบ้างข้อดี! ของการบริจาคโลหิตหลายคนอาจมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการบริจาคเลือด เช่น บริจาคแล้วเป็นอันตรายกับร่างกาย บริจาคแล้วจะอ้วน มีผลเสียในระยะยาว บลา ๆ จนไม่กล้าที่จะไปบริจาค ขอบอกเลยว่าไม่จริงเลยค่ะ ในทางกลับกันการบริจาคเลือดนั้นยังเป็นผลดีกับตัวผู้บริจาคด้วยค่ะ เพราะเลือดที่เราบริจาคนั้นมีปริมาณเพียง 350-450 ซีซี (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค) หรือประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณเลือดในร่างกายเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อเราบริจาคเลือดไปแล้ว ร่างกายก็จะมีการสร้างเลือดขึ้นมาทดแทนอยู่แล้ว ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงเหมือนเป็นการกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ ๆ ขึ้นมา ทำให้ระบบไหลเวียนดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งยังทำให้สุขภาพจิตดี มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย เรียกได้ว่า สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ แถมยังมีสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่บริจาคโลหิตอีกด้วยนะคะข้อเสีย! ของการบริจาคโลหิตสำหรับข้อเสียของการบริจาคนั้น จริง ๆ จะบอกว่าเป็นข้อเสียเลยคงไม่ถูก เรียกว่าเป็นผลข้างเคียงจากการทานยาบำรุงเลือด หรือ Ferrous Fumarate จึงจะถูกต้อง ซึ่งยาตัวนี้เราจะต้องทานทุกวัน วันละ 1 เม็ด หลังจากบริจาคเลือด เพื่อช่วยเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกายและป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง โดยต้องทานยานี้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน (ยามีทั้งหมด 50 เม็ด) ซึ่งผลข้างเคียงของยาตัวนี้คืออาจทำให้มีอาการท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ และอุจจาระมีสีดำจากธาตุเหล็กส่วนเกินที่ร่างกายดูดซึมไม่หมดจึงถูกขับออกมาทางอุจจาระ ก็จะแอบหงุดหงิดเล็กน้อยสำหรับใครที่ไม่ค่อยชอบทานผัก ผลไม้ หรืออาหารจำพวกกากใยพืชต่าง ๆ แต่หากใครที่ชอบทานผัก ผลไม้ เป็นปกติอยู่แล้วก็จะลดอาการเหล่านี้ได้ค่ะ ข้อเสียของการบริจาคเลือดแทบไม่มีเลยใช่มั้ยคะ สำหรับใครที่ตัดสินใจพร้อมแล้ว เรามาดูคุณสมบัติและการเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิตกันเลย!ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้บริจาคที่อายุ 17 ปี ต้องมีเอกสารยินยอมบริจาคโลหิตของผู้ปกครองในการให้บริจาคเลือดด้วยนะคะ ผู้บริจาคเพศหญิงควรบริจาคช่วงก่อนหรือหลังเป็นประจำเดือนประมาณ 7 วัน ด้วยนะคะ เนื่องจากร่างกายมีการเสียเลือดมากจากการเป็นประจำเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอที่เราไปซักประวัติด้วย แต่ส่วนตัวเคยไปบริจาคหลังจากหายประจำเดือน 4-5 วัน คุณหมอไม่ให้บริจาคค่ะ ตอนนั้นน้ำหนักค่อนข้างน้อยด้วย ประมาณ 47- 48 กิโลกรัม เลยให้กลับไปก่อนแล้วค่อยมาบริจาคอีกครั้งตรวจสอบคุณสมบัติผู้บริจาคโลหิตเพิ่มเติม https://blooddonationthai.com/ขั้นตอนการบริจาคโลหิตขั้นตอนที่ 1 กรอกแบบฟอร์มบริจาค และ วัดความดันโลหิตเมื่อเข้ามาด้านในแล้วจะมีจุดให้เรากรอกฟอร์มบริจาคโลหิต ซึ่งหากใครไม่อยากเสียเวลากรอกข้อมูลในส่วนนี้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและกรอกข้อมูลจากบ้านมาก่อนเลยก็ได้นะคะ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://blooddonationthai.com/ เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วก็จะต้องไปวัดความดัน ซึ่งค่าตัวบน (Systolic) ควรอยู่ระหว่าง 100-160 mm/Hg และตัวล่าง (Diastolic) ระหว่าง 60-100 mm/Hg และค่าชีพจร (Pulse) ควรอยู่ระหว่าง 50-100 ครั้ง/นาที จึงจะถือว่าปกติ สามารถบริจาคได้ หากค่าไม่เป็นไปตามนี้คุณหมอจะให้พัก หายใจลึก ๆ แล้ววัดใหม่จนกว่าค่าความดันจะอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริจาคได้ค่ะขั้นตอนที่ 2 ลงทะเบียนผู้บริจาคเลือด และ รับบัตรคิวหลังจากวัดความดันและกรอกข้อมูลต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จะต้องนำมายื่นที่ช่อง 2 เพื่อลงทะเบียนผู้บริจาค ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนนัดหมายบริจาคเลือดผ่านเว็บไซต์ จะมีแถวเฉพาะสำหรับผู้ลงทะเบียน Online ซึ่งในกรณีที่ไปบริจาคในวันที่คนมาบริจาคเยอะ ๆ เราก็จะไม่ต้องรอต่อคิวนานค่ะ เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้วก็จะได้บัตรคิว แล้วก็จะขึ้นไปที่ชั้น 9 เพื่อรอเรียกคิวตรวจความเข้มข้นของเลือดและซักประวัติจากคุณหมอค่ะขั้นตอนที่ 3 ตรวจความเข้มข้นของเลือดและซักประวัติเมื่อถึงคิวแล้วก็จะลงไปที่ขั้น 1 เพื่อทำการตรวจความเข้มข้นของเลือดว่าสามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่ โดยการเจาะปลายนิ้วกลางหรือนิ้วนาง เนื่องจากเป็นนิ้วที่มีการสัมผัสเชื้อโรคน้อยที่สุด อีกทั้งนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้มีผิวที่หนาเกินไป ส่วนนิ้วก้อยก็บางเกินไป จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเจาะที่ปลายนิ้วดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งค่าความเข้มข้นของเลือดที่สามารถบริจาคได้ของผู้หญิงและผู้ชายก็แตกต่างกันด้วยนะคะ โดยของผู้หญิงจะต้องมีค่าความเข้มข้นโลหิตอยู่ที่ 12.5-16.5 กรัม/เดซิลิตร ส่วนผู้ชายจะต้องมีค่าความเข้มข้นโลหิต 13.0-18.5 กรัม/เดซิลิตร จึงจะสามารถบริจาคได้ค่ะ และเมื่อความเข้มข้นของเลือดผ่านแล้วก็จะไปซักประวัติกับทางคุณหมอเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็จะถามตั้งแต่ชื่อ อาหารที่รับประทาน และความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนบริจาค ที่นี่ซักประวัติละเอียดมากเลยค่ะ ขั้นตอนที่ 4 รับบัตรคิว และบริจาคโลหิตหลังจากทำการเจาะปลายนิ้วเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดและซักประวัติกับคุณหมอเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับบัตรคิวเพื่อรอเรียกบริจาคโลหิต ในกรณีที่คนมาบริจาคเลือดเยอะ ก็จะได้ไปพักผ่อน ดื่มน้ำ และรอเรียกคิวบริจาคที่ชั้น 9 อีกครั้ง และเมื่อเรียกถึงคิวเรา ก็จะต้องลงไปบริจาคที่ชั้น 2 ระหว่างรอบริจาคเจ้าหน้าที่ก็จะถามว่าสะดวกเจาะแขนข้างไหน เพื่อเช็คเตียงว่างสำหรับการบริจาค ส่วนตัวแนะนำให้เจาะแขนข้างที่ไม่ถนัดค่ะ เผื่อกรณีที่มีปัญหา เช่น การบวมช้ำ ก็จะได้เหลือข้างที่ถนัดไว้เขียนหรือใช้งานได้ แนะนำว่าก่อนบริจาคเลือดให้พยายามดื่มน้ำเยอะ ๆ นะคะ เลือดจะได้ไหลเวียนดี และช่วงป้องกันการเป็นลมได้ด้วย โดยปกติการบริจาคเลือดจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที (ถ้าเลือดไหลช้า ตอนบริจาคเครื่องจะร้อง ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด) ระหว่างบริจาคหากรู้สึกเวียนหน้า หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลยนะคะ และเมื่อบริจาคเรียบร้อยแล้วควรพักก่อนประมาณ 5 นาที แล้วจึงลุกไปห้องพักหลังบริจาคเลือดซึ่งอยู่ตรงข้ามกันขั้นตอนที่ 5 พักรับประทานอาหารหลังบริจาคโลหิตที่ห้องพักหลังการบริจาค จะมีบริการน้ำดื่ม น้ำผลไม้ ขนม และพลาสเตอร์ สำหรับผู้บริจาค เมื่อพัก 10-15 นาที แล้วรู้สึกว่าไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เจ้าหน้าที่ก็จะให้เราวัดความดันก่อนออกจากห้อง และหากค่าความดันต่าง ๆ ปกติก็สามารถกลับบ้านได้ค่ะ วันนี้ทางสภากาชาดไทยมีแจกเสื้อยืดและปฏิทิน 2566 เป็นที่ระลึกด้วยนะคะ แต่เราบริจาคช่วงเย็น ๆ เสื้อไซส์ตัวเองก็เลยหมด ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากได้เสื้อไซส์ S M L XL ประมาณนี้ก็คือให้ไปบริจาคช่วงเช้าหรือไปเร็วกันหน่อยนะคะ ^^ ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยังขาดแคลนเลือดในคลังเป็นจำนวนมาก ผู้อ่านท่านใดที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีคุณสมบัติที่สามารถบริจาคโลหิตได้ อย่าลืมมาบริจาคโลหิตกันเยอะ ๆ นะคะเครดิตภาพภาพปก : Charlie-Helen Robinson, svtdesign, Giuseppe Ramos J, sketchify จัดทำและตกแต่งโดยเจ้าของบทความด้วย CanvaFacebook โรงพยาบาลกรุงเทพตราด : ภาพที่ 5/ภาพที่ 6Fackbook ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย : ภาพที่ 2/ภาพที่ 8ภาพที่ 3/ภาพที่ 4/ภาพที่ 7ภาพที่ 1/ภาพที่ 9/ภาพที่ 10/ภาพที่ 11/ภาพที่ 12/ภาพที่ 13 : บันทึกภาพโดยเจ้าของบทความเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !