เคยสงสัยกันไหมคะว่าผักแต่ละชนิดควรกินแบบไหนจึงจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน? อย่างที่เราเคยเห็นผ่านตามาบ้างว่ามีผักที่ไม่ควรกินดิบเพราะให้โทษต่อร่างกายมากกว่าก่อประโยชน์ เช่น กะหล่ำปลี ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ผักโขม ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันทราบหรือไม่คะว่ามีผักอีกหลากหลายชนิดที่กินแบบดิบๆ จะได้สารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินที่ครบครันยิ่งกว่า วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าผักที่ควรกินแบบดิบๆ หรือกินสดได้เลยนั้นมีผักชนิดไหนบ้าง มาดูไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ พริก พริกหวานสีแดง และพริกชนิดต่างๆพริกหวาน พริกหยวก ที่เรามักเจอเป็นผักเคียงในจานสเต๊กหรือพบได้บ่อยๆ ในชามสลัดเห็นน้องเป็นแว่นๆ แบบนี้แต่ประโยชน์ของเขาเยอะมากเลยล่ะ พริกหวานสีแดงเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ และมากไปกว่านั้นคือมีวิตามินซีสูงมาก สูงกว่าผลไม้รสเปรี้ยวๆ บางชนิดเสียอีก การกินพริกหวานแบบสดจะทำให้เราได้สารอาหาร และวิตามินโดยเฉพาะวิตามินซีที่ครบครันมากยิ่งกว่า เมนูที่ทำทานได้ง่ายๆ เลยก็คือสลัดผักเพิ่มพริกหวานสีแดง เขียว เหลือง หรือจะเอามาดิปกับมายองเนส หรือครีมรสเปรี้ยวๆ ก็อร่อยมากๆบีทรูท (Beet root)ถัดมาที่ผักเนื้อกรอบ สีชมพูเข้มกันบ้าง หัวบีทรูทเป็นผักของต่างประเทศที่เราเชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยเห็นกันมาบ้างแล้วอย่างแน่นอน บีทรูทเป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและโฟเลตสูง จึงนับเป็นผักที่ดีต่อเลือด ช่วยบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การเอาบีทรูทไปผ่านความร้อนจัดๆ เช่น การต้ม การลวก จะทำให้สารสำคัญในบีทรูทสลายตัวไปได้ราวๆ 25% ดังนั้นแล้วเพื่อการรับประโยชน์อย่างเต็มที่ แนะนำว่ากินบีทรูทสดๆ จะดีกว่า ส่วนเมนูน่าสนใจจากบีทรูทคือ สลัดผัก/ผลไม้ใส่บีทรูทหั่นเต๋าหรือขูดฝอย จะช่วยเพิ่มเนื้อสัมผัสกรุบๆ กรอบๆ หรือจะเอาบีทรูทใส่ลงในน้ำปั่นผลไม้หรือสมูทตี้ก็จะช่วยเสริมประโยชน์ได้ดีมากๆหอมหัวใหญ่หอมหัวใหญ่เป็นผักอีกชนิดที่เราสามารถกินดิบได้ค่ะและมันดีมากๆ ด้วยถ้าเราได้กินดิบ เพราะหอมหัวใหญ่อัดแน่นไปด้วยสารสำคัญมากมายทั้งแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน ฯลฯ ที่เมื่อหากโดนความร้อนมากเกินไปก็จะทำให้คุณค่าลดลงได้ ส่วนคุณประโยชน์ของหอมใหญ่นั้นมีมากมาย ทั้งช่วยบำรุงกระดูก บำรุงหัวใจ มีสารช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งและยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย วิธีกินหอมใหญ่แบบสดๆ ให้อร่อยคือเอามาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วใส่ในจานสลัด หรือจะเป็นการใส่หอมหัวใหญ่ลงไปในยำเพื่อคลุกเคล้าให้รสชาติเข้มข้นมากขึ้นก็จะยิ่งกินง่าย หรือจะเป็นเมนูที่ทำให้เรากินหอมใหญ่สดง่ายมากขึ้นคือไก่ทอดซอสครีมหัวหอม ที่ด้านบนจะมีหอมใหญ่กับครีมซอสมาแบบแน่นๆบรอกโคลีไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบรอกโคลียิ่งทานสดได้ก็ยิ่งจะดีด้วยล่ะ เพราะในบรอกโคลีนั้นมีวิตามินซีสูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารซัลโฟราเฟนที่ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็ง ซึ่งการเอาบรอกโคลีไปผ่านความร้อนนานๆ จะทำให้คุณค่าตรงนี้หายไปได้ จึงมีการแนะนำให้กินบรอกโคลีแบบสดๆ หรือจะเอามาจี่หรือลวกผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างที่เราชอบทานจะเป็นผัดบรอกโคลีใส่กุ้ง โดยจะไม่เอาผักไปลวกก่อน หั่นบรอกโคลีเป็นชิ้นพอดีคำแล้วนำลงไปผัดให้พอร้อนก็เสิร์ฟได้ หรือจะเอาบรอกโคลีสดมาปั่นรวมกับแอปเปิลและสับปะรดก็จะกลายเป็นน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพที่ดื่มง่ายมากขึ้นอีกด้วยกระเทียมกระเทียมที่ชาวไทยแบบเราคุ้นเคยกันดีนี่แหละที่เหมาะกับการกินสดมากๆ เชื่อว่าใครที่ชอบกินกระเทียมเป็นชีวิตจิตใจมักจะกินกระเทียมสดกันอยู่แล้ว ด้วยรสชาติเผ็ดร้อนตีคู่มากับกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ กระเทียมนั้นมีประโยชน์หลายอย่างมากทั้งช่วยลดความดันโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ บรรเทาอาการปวดตามข้อและกระดูก ซึ่งการเอากระเทียมไปปรุงผ่านความร้อนจะทำให้เสียคุณค่าเหล่านี้ไปได้ เมนูกระเทียมสด เช่น หมูมะนาวใส่กระเทียมเยอะๆ กินกระเทียมคู่กับข้าวขาหมูยิ่งอร่อยเหาะซุกกินี (Zucchini)ซุกกินีนั้นจะว่าคล้ายแตงกวาก็คล้าย ซึ่งจะเหมือนแตงกวาญี่ปุ่นมากกว่า ส่วนเนื้อด้านในจะออกนุ่มๆ คล้ายบวบ (แต่ไม่นุ่มเท่า) ในบ้านเราสามารถหาซื้อหาทานได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในซุกกินีอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินเอ วิตามินซี แมงกานีส แมกนีเซียม ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้จะสูญเสียไปเมื่อเจอกับความร้อน ดังนั้นแล้วการทานซุกกินีสดๆ จะช่วยคงคุณค่าสารอาหารไว้มากกว่า ซุกกินีจะกินสดๆ เหมือนแตงกวาเลยก็ได้ หรือจะหั่นเป็นแว่นๆ หรือชิ้นเล็กๆ แล้วเอามาใส่ในยำก็เหมาะ ยิ่งใส่ในพวกยำปลาแซลมอน ยำปลาทูน่าคือดีมากๆ หรือจะเอามาขูดเป็นเส้นๆ เพื่อกินแทนแป้งก็ทำได้เหมือนกัน เคล็ดลับการกินผักแบบสดๆ ให้ได้ประโยชน์และดีต่อร่างกาย ล้างทำความสะอาดผักเหล่านั้นให้สะอาด สามารถล้างด้วยการแช่ผักไว้ในน้ำเกลือหรือน้ำด่างทับทิมประมาณ 5-10 นาที หรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านเพื่อกำจัดเอาเศษสกปรก แมลงหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ออกให้หมดก่อนการนำมาทานสำหรับใครที่ย่อยยาก หรือกินผักสดๆ แล้วแน่นท้อง สามารถนำเอาผักเหล่านี้ไปผ่านความร้อนเพื่อให้กินง่ายมากขึ้น แต่ไม่ควรปรุงผ่านความร้อนนานเกินไปจนทำให้สูญเสียคุณค่าทางสารอาหารนำผักไปประกอบเมนูต่างๆ เพื่อให้กินง่ายขึ้น เช่น การเอากระเทียม หอมใหญ่ไปใส่ในเมนูยำ เอามากินร่วมกับสลัดและน้ำสลัด หรือเอามาปั่นเป็นน้ำสมูทตี้ก็ดีไม่น้อยเลือกซื้อผักจากแหล่งที่ปลอดภัย ยิ่งเรารู้ว่าผักเหล่านี้มาจากสวนไหน มีกระบวนการปลูกอย่างไร หรือเพื่อความปลอดภัยให้เลือกซื้อผักปลอดสารเคมีจะดีที่สุดกินผักในปริมาณที่เหมาะสม ไม่กินมากเกินไป ถึงแม้ว่าผักจะดีต่อร่างกายแต่อะไรที่มากเกินไปก็อาจเป็นโทษได้ การกินผักมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง เพราะในผักอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำอยู่เป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีเส้นใยเหล่านี้ในทางเดินอาหารมากเกินไปจะทำให้กากใยอาหารในลำไส้จับตัวเป็นก้อนแข็งและขับถ่ายได้ยากภาพหน้าปก : ภาพที่1 โดย eskymaks ภาพที่2 โดย Professor25 ภาพที่3 โดย 5second ภาพที่4 โดย Angelique จาก pexels จาก canvaภาพในเนื้อหา ภาพที่1 โดย Rafel AL Saadi / ภาพที่2 โดย Polina Kovaleva/ ภาพที่3 โดย Alena Darmel/ ภาพที่4 โดย Pixabay/ ภาพที่5 โดย Karolina Grabowska/ ภาพที่6 โดย Angele J/ ภาพที่7 โดย Antoni Shkrabaอยากผอมหุ่นดี อยากมีซิกแพค หาอินสปายลดน้ำหนัก เข้าร่วมด่วนที่ฟิตแอนด์เฟิร์มคอมมูนิตี้