เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ใช้ทำอะไรได้ ทำงานยังไง ดูยังไง Pulse Oximeter ผู้เขียนเชื่อว่าหลายบ้านตอนนี้มีอุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วซึ่งได้มาจากโรงพยาบาลเนื่องจากเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องบันทึกภาวะสุขภาพเพื่อนำไปประเมินการทำงานของปอดด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว แต่พอหายดีแล้วเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วก็วางอยู่บ้านเฉยๆ ด้วยอาจเข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับคนป่วยเท่านั้นแต่แท้จริงแล้วเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วยังสามารถเอามาใช้สำหรับคนปกติทั่วไปในลักษณะของการบันทึกสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาพได้ ซึ่งจะเป็นคนละกรณีกันกับคนป่วยที่อาจต้องการข้อมูลเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์เชิงลึกและวางแผนการรักษา ผู้เขียนมองว่าในคนปกติธรรมดาทั่วไปยังมีความจำเป็นต้องบันทึกค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตัวเองถ้าทำได้ที่นอกเหนือไปจากการชั่งน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว โดยสมัยนี้ผู้เขียนว่าสามารถทำได้ง่ายมากแล้วและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็ออกแบบมาในอุปกรณ์หลายๆ อย่างและมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับในอดีต ผู้เขียนก็มีเครื่องมือที่สามารถวัดค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพที่บ้าน เช่น เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด การมีเครื่องมือเล็กๆ น้อยในบ้านไม่ได้หมายความว่าเราต้องป่วยก่อนเสมอไปจึงจะมีหรือเอามาใช้ เพราะผู้เขียนใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้เพื่อส่งเสริมสุขภาพตัวเอง เพื่อประเมินหาความเสี่ยงและคาดการณ์ภาวะสุขภาพของตัวเองเบื้องต้น ซึ่งคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ผิดอะไรและจะดีด้วยซ้ำเพราะเราจะเป็นคนแรกที่เห็นว่าภาวะสุขภาพเราไปไหนทิศทางไหนและผู้เขียนได้ลองใช้ Fingertip Pulse Oximeter LK-89 ที่น้องสาวได้มาจากโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งแล้ว พบว่า เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องนี้สามารถวัดชีพจรก่อนออกกำลังกาย หลังพักเหนื่อยจากการออกกำลังกาย หลังตื่นนอนและในระหว่างวันทั่วๆ ไปได้ สามารถให้ค่าออกมาได้ใกล้เคียงกับการวัดชีพจรด้วยเซ็นเซอร์วัดชีพจรในโทรศัพท์มือถือค่ะ ใช้เวลาในการวัดน้อย พกพาสะดวกยัดใส่กระเป๋าไปพร้อมได้ตอนไปออกกำลังกาย มีสายคล้องสำหรับถือ น้ำหนักเบา จัดเก็บในกระเป๋าได้ง่ายโดยไม่ต้องกลัวเซ็นเซอร์จะเสียหายง่ายเหมือนเซ็นเซอร์บนโทรศัพท์มือถือดังนั้นการบันทึกค่าชีพจรของเราในแต่ละวันด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะสะดวกและทำได้ง่ายมากขึ้นค่ะ และสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ ที่บ่งบอกถึงภาวะสุขภาพเบื้องต้นในคนทั่วไปจากที่บ้าน หลายคนมีนาฬิกาอัจฉริยะบันทึกชีพจรหรือเซ็นเซอร์วัดชีพจรในโทรศัพท์ แต่สำหรับคนที่ไม่มีแล้วอยากรู้ชีพจรของตัวเอง แต่มีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วที่บ้านก็รู้ค่าชีพจรของตัวเองได้เหมือนกันค่ะ โดยเฉพาะการวัดชีพจรในการออกกำลังกายเพื่อประเมินว่าเราออกกำลังกายหนักหรือเบาเกินไปไหม และออกแบบว่าจะออกกำลังกายประมาณไหนให้สอดคล้องกับชีพจรที่ควรจะเป็นในแต่ละคน นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวค่ะ ที่เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะเป็นประโยชน์ที่นอกเหนือไปจากการวัดค่าออกซิเจนอิ่มตัวในเลือดเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีหลักการทำงานดังนี้ ถ้าเราสังเกตดูที่เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วนั้นจะพบว่ามีแหล่งกำเนิดของแสงจำนวน 2 จุด คือด้านบนกับด้านล่างสองจุดนี้จะให้กำเนิดแสงสีที่มีคลื่นความยาวต่างกัน ปกติในเม็ดเลือดแดงของคนเราจะมีฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่นำออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เราจะเรียกว่าสภาวะนี้ว่า การมีออกซิเจนอิ่มตัวในเลือด (Saturated Oxygen; SpO2)เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความยาวของคลื่นแสง โดยในสภาวะที่ในร่างกายมีออกซิเจนเพียงพอ เมื่อเอาเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมาหนีบที่นิ้วมือที่มีการไหลเวียนเลือด จะพบว่ามีออกซีฮีโมโกลบิน (Oxyhemoglobin) ซึ่งเป็นฮีโมโกลบินที่จับกับออกซิเจน โดยออกซีฮีโมโกบินนี้จะดูดกลืนแสงสีแดง ส่วนดีออกซีฮีโมโกลบิน (Deoxyhemoglobin) ที่เป็นฮีโมโกลบินที่ไม่ได้จับกับออกซิเจนจะดูดกลืนคลื่นแสงสีอื่นเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะตรวจจับเฉพาะออกซีฮีโมโกลบินเท่านั้นและแสดงผลทางหน้าจอให้เรารู้ เราจึงสามารถเอาตัวเลขนี้ไปเป็นตัวชี้วัดภาวะสุขภาพได้ นอกจากเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะแสดงค่าออกซิเจนอิ่มตัวในเลือดแล้ว นอกจากนี้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วยังสามารถตรวจจับอัตราการเต้นของชีพจร (Pulse Rate; PR) ได้ด้วย ซึ่งเราก็จะเห็นตัวเลขจำนวน 2 ชุด อยู่บนหน้าจอที่นำมาใช้ได้ ถ้าเป็นค่าออกซิเจนอิ่มตัวในเลือด จะมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) ส่วนชีพจรจะมีหน่วยเป็นครั้งต่อนาที (Beat per minute; bmp)ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วนอนอยู่บ้านเฉยๆ จับเอาขึ้นมาใส่ถ่าน 3A จำนวน 2 ก้อน และเอาประโยชน์เพื่อส่งเสริมสุขภาพกันค่ะ อย่ารอเพียงว่าจะวัดชีพจรก็ต่อเมื่อไปโรงพยาบาลอย่างเดียวหรือตอนมีนาฬิกาอัจฉริยะเท่านั้น! ปกติผู้เขียนจะวัดชีพจรด้วยเซนเซอร์ในโทรศัพท์ซึ่งก็ใช้หลักการของคลื่นความยาวแสงเหมือนกัน จะวัดทุกวันหลังตื่นนอนเพื่อประเมินชีพจรหลังตื่นนอน และหลังออกกำลังกายเสร็จทันทีจะวัด และหลังนั่งพักเหนื่อยไปแล้วก็จะวัดซ้ำค่ะเพื่อประเมินชีพจรในขณะพัก ในระหว่างที่ใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วไปนั้นก็ควรจะสังเกตด้วยว่าเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีความผิดปกติไหม เช่น ได้ค่าที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปจากที่เคยวัดมา หรือวัดแล้วค่าไม่นิ่งหรืออะไรทำนองนี้ ก็ไม่ควรจะเชื่อในทันทีทันใดหากพบว่ามีความคลาดเคลื่อนควรตรวจวัดซ้ำหรือยืนยันการตรวจด้วยอุปกรณ์อื่นหากทำได้ เพราะเครื่องมือทุกอย่างเมื่อใช้งานไปซักระยะมักจะมีความคลาดเคลื่อน เราจึงมีการปรับเทียบกับค่ามาตรฐาน (Calibrate) เป็นระยะๆ ในเครื่องมือที่มีราคาแพง เช่น ในห้องปฏิบัติการ การปรับเทียบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วกับค่ามาตรฐานของคนทั่วไปในชีวิตจริงอาจทำได้ยาก ประกอบกับเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีราคาค่อนข้างถูก ถ้าพบว่ามีค่าคาดเคลื่อนสูงก็ไม่ควรใช้งาน การทาเล็บอาจส่งผลทำให้ได้ค่าที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงกับภาวะสุขภาพ ณ ขณะนั้นได้ผู้เขียนได้ลองหยิบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมาใช้บ้างก็พบว่ามีประโยชน์จึงอยากแนะนำให้เอามาวัดชีพจรกันค่ะ ซึ่งสามารถเชื่อถือได้ แถมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วใช้งานได้ง่ายๆ เพียงวางนิ้วมือลงไปที่ถนัดกันก็จะเป็นนิ้วชี้ จากนั้นกดเปิดเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว รอให้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอ่านค่าก่อนในช่วงนี้เราจะมองเห็นว่าเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะยังไม่แสดงตัวเลขใดๆ แต่จะเห็นเฉพาะกราฟข้อมูลวิ่งอยู่บนหน้าจอเท่านั้น หลังจากนั้นไม่นานเราจะเห็นค่าบนหน้าจอของเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วนิ่งก็ให้อ่านค่านี้ค่ะ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะดับเองโดยอัตโนมัติหลังจากเอานิ้วมือออก จึงไม่ต้องกังวลว่าจะลืมกดปุ่มปิดหลังใช้งาน ซึ่งวิธีใช้ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก ลองนำเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมาใช้ประโยชน์กันค่ะข้อมูลอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง:เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วUsing Pulse Oximeterชีพจรกับการออกกำลังกายเครดิตภาพปกจากผู้เขียน ออกแบบใน Canvaเครดิตภาพประกอบเนื้อหาจากผู้เขียนบทความอื่นที่น่าสนใจ▶️ วิธีใช้ซ้ำสายรัดพลาสติก สานตะกร้าจากสายรัดพลาสติก▶️ วิธีก่อไฟเตาถ่านด้วยไม้และขี้ไต้ ไฟติดได้ง่ายๆ▶️ วิธีเพาะถั่วงอกในขวดพลาสติกเอาไว้ทำอาหารที่บ้านง่ายๆเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !