รีเซต

3 แหล่งซื้อกองทุน ซื้อกองทุนรวมที่ไหน และวิธีเลือกสำหรับมือใหม่

3 แหล่งซื้อกองทุน ซื้อกองทุนรวมที่ไหน และวิธีเลือกสำหรับมือใหม่
Beau_Monde
2 ธันวาคม 2563 ( 11:15 )
13.3K

     อยากจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวม แต่ไม่รู้ว่าจะซื้อที่ไหน กองทุนรวมมีขายที่ไหนบ้าง แต่ละที่มีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดแตกต่างกันอย่างไร ซื้อขายกันอย่างไร รวมถึงเราจะดูอย่างไรว่าที่ไหนที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าสนใจจะซื้อกองทุนและอยากจะเลือกให้ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด วันนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้แล้วค่ะ

     สำหรับใครที่อยากจะเริ่มลงทุนในกองทุนต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มซื้อนั้นก็ต้องหากองทุนที่เราสนใจคร่าวๆ ไว้ก่อนค่ะ เมื่อได้กองทุนที่เราหมายตาแล้ว ก็สามารถเข้าไปปรึกษาและเริ่มซื้อกองทุนได้จาก 3 แหล่งหลักๆ ดังนี้ค่ะ 

 

 

3 แหล่งซื้อกองทุน ซื้อกองทุนรวมที่ไหน และวิธีเลือกสำหรับมือใหม่

1. ธนาคาร

     ที่แรกคือซื้อผ่านธนาคารในเครือของ บลจ. นั้นๆ ค่ะ โดย บลจ. ก็คือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นที่ที่ออกกองทุนและบริหารจัดการกองทุนค่ะ หากเราต้องการซื้อกองทุนในเครือของธนาคารใด ก็สามารถเดินไปที่ธนาคารนั้นๆ เพื่อเปิดบัญชีซื้อได้เลยค่ะ

     ข้อดีของการซื้อผ่านธนาคารในเครือบริษัทโดยตรงแบบนี้ คือมีสาขาให้เลือกเยอะ เราสามารถเข้าไปติดต่อตามธนาคารสาขาต่างๆ ที่เราสนใจได้ทุกสาขา และตอนนี้บางธนาคารก็สามารถซื้อแบบออนไลน์ได้แล้ว ทำให้เวลาซื้อกองทุนนั้นเราก็ไม่ต้องเดินทางไปธนาคารอีกแล้วค่ะ สามารถกดเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนในแอปพลิเคชันของธนาคารนั้นๆ ได้เลย แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าทำได้แค่บางธนาคารเท่านั้นค่ะ บางธนาคารก็ยังทำไม่ได้ และจะต้องไปติดต่อที่ธนาคารเหมือนเดิม ส่วนข้อจำกัดของการซื้อผ่านธนาคารในเครือบลจ. ก็คือจะมีขายแค่กองทุนของธนาคารนั้นๆ ไม่สามารถที่จะซื้อข้ามธนาคารกันได้ค่ะ 

 

2. ซื้อที่บริษัท บลจ. โดยตรง

     ในกรณีที่บริษัทบลจ. เป็น non Bank ค่ะ หมายถึง เป็นบริษัทจัดการกองทุนโดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในเครือของธนาคารใดๆ เราก็สามารถติดต่อซื้อได้โดยตรงเลย โดยการเข้าไปดูเว็บไซต์ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่าหากเราจะซื้อกองทุนหรือว่าเราจะเปิดบัญชีซื้อขาย บริษัทจะมีขั้นตอนอย่างไร เราต้องเตรียมข้อมูลและหลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งข้อนี้ก็คือการซื้อโดยตรงผ่านทางบริษัทค่ะ

     ข้อดีของการซื้อแบบนี้ คือเราสามารถสอบถามได้โดยตรงกับเจ้าหน้าที่ ถ้าเรามีความสงสัยในข้อมูลการลงทุน นโยบายหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็สามารถติดต่อสอบถาม ซึ่งก็จะได้คำตอบทันทีเลยหากเทียบกับการซื้อผ่านธนาคารค่ะ เพราะธนาคารคือช่องทางการจำหน่ายของบริษัทนั้นๆ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็อาจจะตอบเราได้ไม่ครบทุกคำถามค่ะ ส่วนข้อจำกัดก็คือในเรื่องของสาขาที่อาจจะไม่สะดวกเท่ากับเดินเข้าธนาคารสาขาอะไรก็ได้ เพราะว่าการซื้อผ่านบริษัทแบบนี้สาขาจะน้อย และในบางครั้งจะต้องติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะแค่ขายเฉพาะกองทุนของตัวเองค่ะ

 

3. ซื้อผ่านโบรกเกอร์ (Broker)

     สุดท้ายก็คือการซื้อผ่านนายหน้าหรือว่าตัวแทนจำหน่าย หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่าซื้อผ่านโบรกเกอร์นั่นเองค่ะ สำหรับโบรกเกอร์นั้นก็จะมีหลายๆ กองทุนรวบให้เราไว้ในที่เดียว ซึ่งก็จะเป็นการซื้อกองทุนและขายกองทุนผ่านแอปพลิเคชัน และเราสามารถซื้อกองทุนได้เกือบจะครบทุก บลจ. ในประเทศไทยแล้ว

     ข้อดีของการซื้อผ่านนายหน้าโบรกเกอร์ก็คือสะดวกสบายค่ะ สำหรับคนที่อยากซื้อแต่ละกองทุน ลงทุนในหลายๆ กองทุนแต่ว่าไม่อยากวุ่นวายไปเปิดที่ธนาคารบ้าง ที่บริษัท บลจ. บ้าง ก็รวมเอาไว้เลยที่เดียวคือที่โบรกเกอร์ค่ะ และข้อดีอีกหนึ่งอย่างก็คือ ทางโบรกเกอร์จะมีบทวิเคราะห์หรือว่าข่าวสารให้เราอ่านเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของเรา โดยเขาจะเขียนบทวิเคราะห์ส่งมาให้เรา เราก็มีหน้าที่อ่านแล้วก็เอาไปวิเคราะห์ว่าควรจะซื้อขายกองทุนของเราต่อไปอย่างไร ส่วนข้อจำกัดคือสาขาน้อย ส่วนมากจะต้องติดต่อผ่านทางช่องทางออนไลน์เท่านั้น เวลามีปัญหาหรือติดขัดมีข้อสงสัยก็คุยกันผ่านทางโทรศัพท์หรือติดต่อกันผ่านทางอีเมลค่ะ 

 

     จบลงไปแล้วกับแหล่งซื้อกองทุน ซึ่งหลักๆ ก็มีทั้งหมด 3 ที่ค่ะ ถ้าสงสัยว่าแหล่งไหนจะเหมาะกับเรามากที่สุด คำตอบแรกคือเราจะต้องรู้ว่าเราอยากจะซื้อกองทุนไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากว่าว่าเราจะซื้อจากที่ไหน หากเราสนใจแค่กองทุนเดียว โดยเป็นกองทุนในเครือของธนาคาร เราก็สามารถเข้าไปติดต่อธนาคารนั้นๆ ได้เลย แต่หากกองทุนที่เราสนใจนั้นไม่ได้อยู่ในเครือของธนาคารใด แต่กลับไปอยู่ภายใต้บริษัท บลจ. เราก็ติดต่อบลจ. ค่ะ ส่วนการซื้อผ่านโบรกเกอร์นั้นก็ในกรณีที่เราสนใจกองทุนแบบกระจัดกระจายหลายๆ กองทุน และเราไม่อยากเปิดหลายที่ เราก็ซื้อผ่านโบรกเกอร์ได้ค่ะ

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

กองทุนรวมคืออะไร? ... 4 ข้อควรรู้ก่อนซื้อกองทุน สำหรับมือใหม่


บทความที่เกี่ยวข้อง