หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักโรคนี้ดี เพราะเคยเป็นตั้งแต่เด็ก ๆ หรือแม้แต่ตอนที่โตแล้วก็ยังกลับมาเป็นอยู่ โรคปากนกกระจอก คือโรคแผลเปื่อยที่เกิดขึ้นที่ตรงบริเวณมุมปาก อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยจะมีอาการเจ็บหรือแสบบริเวณตรงที่เป็นแผลตอนที่อ้าปาก ทำให้รับประทานอาหารลำบากหรือพูดได้ไม่เต็มที่ แต่โรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเท่าไหร่นัก อาจแค่ทำให้เกิดความรำคาญบ้างเวลาจะรับประทานอาหาร เพราะเจ็บหรือระคายเคืองมุมปาก โดยเฉพาะหากรับประทานอาหารรสจัดยิ่งทำให้ปวดแสบปวดร้อนได้(เครดิตภาพ Freepik) ก่อนอื่นเราต้องรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอกกันก่อนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยทั่วไปเกิดมาจากกินอาหารไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ชอบกินแต่ขนม ไม่กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ทำให้ขาดวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี 2 นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงเป็นโรคปากนกกระจอกกันเยอะ เพราะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนนั่นเอง(เครดิตภาพ Freepik) นอกจากนั้นยังเป็นได้จากสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น ปากแห้ง ปากเป็นเชื้อรา การแพ้สารเคมีบางอย่าง ผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์ตรงซึ่งเคยเป็นปากนกกระจอกเพราะแพ้ลิปมัน เนื่องจากเป็นคนปากแห้ง ทำให้ริมฝีปากมีอาการปากแตกลอกเสมอ เมื่อเผลอแกะปากเข้า จึงทำให้ปากเริ่มระคายเคือง เป็นแผลปริแตกที่มุมปาก ดังนั้นผู้เขียนจึงมีแนวทางในการดูแลรักษาตัวเองเมื่อเป็นปากนกกระจอกมาฝากกัน(เครดิตภาพ Racool_studio - Freepik) วิธีการดูแลตัวเองนั้นก็ไม่ยากเลย เพราะเรารู้สาเหตุกันแล้วว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง สำหรับเด็ก ๆ พ่อแม่ก็ควรดูแลด้านอาหารการกินให้ดี อย่าตามใจให้กินแต่ขนมมากไป เพราะแม้โรคนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าไม่ดูแลดี ๆ กว่าจะหายก็ใช้เวลานานเหมือนกัน สำหรับคนที่ปากแห้งอยู่แล้ว ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ จะได้เป็นการรักษาความชุ่มชื้นให้ร่างกายโดยเฉพาะริมฝีปากได้ จะใช้ลิปมันก็ดูส่วนผสมดี ๆ มีมีสารอะไรที่เราแพ้หรือไม่ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นไปหาหมอ ยกเว้นว่าเป็นเรื้อรังไม่ยอมหายสักที แบบนั้นควรไปหาหมอดีกว่า จะได้หาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาให้หาย จะได้ยิ้มและรับประทานอาหารได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม