วิธีสร้างความอบอุ่นใจ (บทความสุขภาพจิต) ภาพจาก : sarahbernier3140 / pixabay “หนูรู้สึกอบอุ่นใจมากเมื่ออยู่กับครอบครัว ซึ่งมีทั้งคุณพ่อและพี่ชายที่คอยปกป้องคุ้มครองหนูมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อไปทำกิจกรรมใดๆตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสืออยู่ก็จะมีคุณพ่อหรือพี่ชายไปรับไปส่งหนูเสมอ และแม้เกิดเหตุการณ์คับขันใดๆในชีวิตก็มีคุณพ่อและพี่ชายคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้ตลอดมา นอกจากนั้นครอบครัวของเรายังไปโบสถ์ด้วยกันทุกวันอาทิตย์ เรามีพระเจ้าสถิตย์อยู่กับเราตลอดเวลาและเราวางใจในการทรงนำของพระองค์เสมอคะ” นั่นเป็นคำพูดของผู้รับการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงบรรยากาศความอบอุ่นใจของเธอที่มีต่อครอบครัว คำว่า “ความอบอุ่นใจ” เป็นคำไทยๆ ของเราที่มีความหมายเป็นนามธรรมมาก เป็นความหมายของความรู้สึกที่ใกล้เคียงกันกับหลายคำ เช่น ความรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลายใจ และไว้วางใจ เป็นต้น โดยมีความสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยบางอย่าง ดังตัวอย่างจากคำกล่าวในวรรคแรกของบทความนี้ ความอบอุ่นใจเป็นความรู้สึกทางบวก(Positive Feeling) อย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกทางลบ (Negative Feeling) เช่น ความวิตกกังวล ความหวาดระแวง ความเคลือบเคลงใจ เป็นต้น ความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นความรู้สึกที่ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางใจ และสัมพันธ์กับเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจบางอย่างที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน อาจเป็นได้ทั้งบุคคล เช่นพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆเช่นสัตย์เลี้ยงที่ตนเองรักและชื่นชอบ หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เช่นเครื่องรางของขลัง รูปเคารพต่างๆ ไปจนถึงความเชื่อและหลักธรรมทางศาสนาต่างๆที่แต่ละคนนับถือ ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจที่ต่างกันแต่ที่เหมือนกันก็คือความรู้สึกอบอุ่นใจนั่นเอง ความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นรากฐานทางความรู้สึกที่พัฒนาไปสู่ความอิ่มเอิบใจซึ่งเป็นพลังทางสุขภาพจิตที่เข้มแข็งยั่งยืน เป็นภูมิต้านทานปัญหาทางจิตและชีวิตทุกรูปแบบ ภาวะที่คนเราอิ่มเอิบใจนั้นเป็นภาวะปีติยินดีสงบสุขจากภายในจิตใจ ซึ่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมามาก มนุษย์จึงรู้สึกปีติสุขและอิ่มเอิบเบิกบานใจ มั้นใจและไร้ความกังวลใจในที่สุด ความอบอุ่นใจสามารถสร้างได้ด้วย3หลักการดังนี้ ภาพจาก : Ijcor / pixabay 1)แสวงหาใครสักคนและสักกลุ่มที่เชื่อมั่นได้ว่ารักและจริงจังจริงใจต่อเราจริงๆแม้ในยามยากเข็น การมีใครสักคนหรือสักกลุ่มดังกล่าวนี้ จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้คนเราเกิดความอบอุ่นใจ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดีหรือร้ายใดๆ ก็เชื่อมั่นว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่เคียงข้างเราเสมอนั่นเอง อาจเป็นพ่อแม่ พี่น้องเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน องค์กรต่างๆ ทั้งชมรม สมาคม สโมสร หมายรวมไปถึงองค์กรทางสังคมที่ช่วยเหลือบุคคลในยามทุกข์ยาก เช่น บ้านพักใจ มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรี เป็นต้น 2)มีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน สืบเนื่องจากข้อหนึ่งจะนำมาสู่การสร้างและมีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนต่อกันทั้งในยามปกติและยามทุกข์ยากลำบากกายใจ มิติของการมีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนนี้เป็นการขยายข้อหนึ่งออกมาให้เป็นพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการสานสัมพันธ์ทั้งในลักษณะของการไปมาหาสู่และทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตร่วมกัน ที่แสดงออกในลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลและชื่นชมยินดีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ 3)มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจที่ไร้ตัวตน การมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจที่ไร้ตัวตนในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มิใช่บุคคลแต่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่แต่ละคนนับถือ อาทิ พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้า พระธรรม ทวยเทพเทวา เป็นต้น เช่น บางคนไปนอนค้างคืนในที่เปลี่ยวและน่ากลัวก่อนนอนจะสวดมนต์ไหว้พระหรือสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และยังมีพระเครื่องหรือไม้กางเขนคล้องคอจะช่วยให้รู้สึกอบอุ่นใจยิ่งขึ้น และที่ลึกซึ้งที่สุดคือการศึกษาวิทยาการด้านศาสนาปรัชญาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งใช้หลักธรรมในศาสนาที่แต่ละคนนับถือนั้นมาเป็นเครื่องมือทางความคิดในการดำรงชีวิต จะช่วยให้เกิดความอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี ดังมีคำกล่าวที่ว่า”มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่”นั่นเอง หลักการทั้ง 3 ข้อ ที่กล่าวมานั้น เป็นการนำเสนอจากมุมมองเพื่อแสวงหาแก่ตนและให้ได้สิ่งนั้นมาเพื่อสนับสนุนตน แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ซึ่งในทางตรงกันข้าม ตัวเราเองก็ควรเป็นใครสักคนให้คนอื่นรู้สึกว่าเรารักและจริงจังจริงใจต่อเขาจริงๆแม้ในยามยากเข็นและพึงเป็นสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน เพื่อให้เราเป็นบุคคลอันเป็นที่รักและศรัทธาและไว้วางใจได้ในความรู้สึกของผู้อื่นด้วยนั่นเอง ภาพจาก : PublicDomainPictures /pixabay หากทุกคนทำได้ทั้งสามประการณ์ดังกล่าวมา เมื่อนั้นเราทุกคนต่างคนก็ต่างจะเป็นเหตุปัจจัยเพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้กันและกันได้ทั้งสังคม และสังคมก็จะเป็นสังคมที่รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ไร้ความกังวลใจและไว้วางใจกันได้ในที่สุด “แล้ววันนี้คุณได้สร้างความอบอุ่นใจในชีวิตกันแล้วหรือยัง” ภาพปก : Pexels /pixabay รศ.ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิตและศาสนาปรัชญานักเขียนสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มติชน,อมรินทร์ธรรมะ,ซีเอ็ด,ดีเอ็มจีและวิชบุ๊คประธานสถาบันพัฒนาบุคลากร wuttipong academy ,ไอดีไลน์ac6555 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !