ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ขัดแย้งกับตัวเอง เซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายคนก็สามารถทำลายตัวเองได้เช่นกัน หนึ่งในโรคที่เกิดจากการที่เซลล์ทำลายตัวเองคือ โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroid) แบบ Grave's Disease ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราโดยปกติจะสร้างแอนติบอดีมากำจัดเซลล์ไม่ดีที่เข้ามาในร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่เป็น Grave's disease ระบบภูมิคุ้มกันกลับสร้างแอนติบอดีตัวนึงคือ Thyroid-Stimulating Immunoglobulin (TSI) ขึ้นมาและมันไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินระดับปกติซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา คนที่ไม่ได้เป็นอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่ Grave's Disease เป็นไทรอยด์ชนิดที่พบได้มากที่สุด ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมาก่อนจะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนปกติ และยังพบว่าเพศหญิงเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย แล้วฉันเป็นโรคนี้ไหม? หากวันหนึ่งคุณรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ เหงื่อออกมากกว่าปกติ ใจเต้นเร็ว อ่อนเพลียและหงุดหงิดง่าย คุณลองสังเกตตัวเองในกระจก แล้วดูว่าน้ำหนักคุณลดแบบผิดปกติหรือเปล่า ตาคุณโปนไหม หรือเมื่อคุณยกแขนสองข้างขึ้นมาข้างหน้าระดับหัวไหล่กางนิ้วมือออก มือหรือนิ้วมือของคุณมีการสั่น ที่สำคัญลองจับต่อมไทรอยด์ตรงคอของคุณดูว่ามันโตหรือไม่ ถ้ามีอาการลักษณะนี้ มีความเป็นไปได้ที่คุณจะเป็น hyperthyroid ชนิด Grave's disease หากฉันมีอาการตามนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์ไหม? คำตอบคือจำเป็น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายที่จะเป็น Grave's disease คุณควรลองไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยดู เนื่องจากโรคนี้ยิ่งตรวจเจอไวยิ่งดี เพราะหากปล่อยไว้นานมันมีโอกาสนำไปสู่มะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ โรคนี้รักษาได้ไหม? ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากไปพบแพทย์ตอนที่เป็นใหม่ๆ การรักษาจะทำได้ง่ายกว่า โดยวิธีการรักษาหลักคือการรับประทานยาปรับฮอร์โมนไทรอยด์ตามที่แพทย์สั่ง และการไปตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอจะทำให้แพทย์สามารถปรับยาตามระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องได้มีประสิทธิภาพ ทำไมถึงเขียนเรื่องนี้? เพื่อนของผู้เขียนคนนึงพบว่าตนเองเป็น Hyperthyroid ชนิด Grave's disease ตอนอายุ 20 กว่า โดยตรวจเจอหลังจากเพื่อนได้ทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อนนอนตีสองตีสามเกือบทุกวัน บางวันก็ไม่ตื่นมากินข้าวเช้าข้าวกลางวัน และยังต้องเครียดเวลาดีลงานกับคนอื่นอีก เพื่อนทำกิจกรรมนี้อยู่ประมาณเดือนกว่าจะจบ เพื่อนเล่าว่า ตอนหมอบอกว่าเป็นไทรอยด์ เพื่อนดิ่งมากเพราะไม่คิดว่าจะเป็นโรคอะไรตอนอายุยังน้อย เพื่อนเสียศูนย์ไปเลย แต่มันก็ทำให้เพื่อนกลับมามองสิ่งที่เขาลืมไป เขาลืม 'ตัวเอง' เขาประมาทใช้ชีวิตแบบที่คิดว่าร่างกายรับได้ ฝืน biological clock จนร่างกายเสียสมดุล จากนั้นเขาเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ กับตัวเอง ใส่ใจการกินอาหารให้ครบ เลือกทานสิ่งที่มีประโยชน์ พยายามนอนก่อนสี่ทุ่ม เพื่อนบอกว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่ปรับพฤติกรรมเลย สิ่งสำคัญที่เพื่อนของผู้เขียนได้จากการเป็นโรคนี้คือ ในการใช้ชีวิตทุกๆวัน 'อย่าลืมตัวเอง' อะไรที่มากไป อะไรที่น้อยไปสามารถส่งผลต่อสมดุลร่างกายของคนและเมื่อสมดุลเปลี่ยน ร่างกายของคนก็จะมีกลไกส่งคำเตือนออกมา มันเป็นเช่นนั้น และเราไม่ควรเพิกเฉยต่อคำเตือนของร่างกาย ไทรอยด์คือเพื่อนที่ผ่านมาเตือนคุณว่าอย่าลืมตัวเอง อ้างอิงเนื้อหา Pobpad.com ที่มารูปภาพ KinKaid N. (2011). Thyroid Gland. Retrieved from https://flic.kr/p/aMU6WT Sukanya S. (2018). Hyperthyroidism. Retrieved from https://flic.kr/p/26kLLTW https://www.freepik.com/free-photos-vectors/people