วิธีเลือกเสื่อโยคะ แบบไหนดี เหมาะกับการออกกำลังกาย | บทความโดย Pchalisa ปัจจุบันโยคะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงพบว่าการเลือกซื้อเสื่อโยคะเอามาไว้ใช้งาน กลายเป็นประเด็นที่เราต้องได้เกี่ยวข้อง จริงไหมคะ? เสื่อโยคะไม่ใช่แค่เพียงอุปกรณ์เสริมนะคะ แต่เป็นตัวช่วยสำคัญในการฝึกโยคะที่ดีเลยทีเดียว และการเลือกเสื่อโยคะที่เหมาะสมจะช่วยให้เรารู้สึกสบายขึ้น ป้องกันการบาดเจ็บ และช่วยให้คุณผู้อ่านสามารถทำท่าโยคะได้อย่างเต็มที่ด้วยค่ะ ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนอยากส่งต่อเคล็ดลับเลือกเสื่อโยคะ ที่เป็นข้อมูลง่ายๆ อ่านจบมองเห็นภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย เพราะผู้เขียนเองก็ได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเหมือนกันค่ะ จนได้เสื่อโยคะสีชมพูหวานแหววที่นุ่มสบายและยืดหยุ่นดี พื้นผิวไม่ดูดซึมน้ำ ขนาดกว้าง 61 เซนติเมตร ยาว 183 เซนติเมตร และหนา 8 มิลลิเมตร ที่ได้มาตรฐาน มอก. เอามาใช้งาน เสื่อโยคะผืนนี้ป้องกันการลื่นไถลได้ดีค่ะ โดยเสื่อโยคะของผู้เขียนสั่งซื้อมาจากแอปสีส้ม ผลิตจาก NRB ซึ่งคำนี้ย่อมาจากคำว่า Nitrile Butadiene Rubber ค่ะ NRB เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ผลิตเสื่อโยคะนะคะ โดยเฉพาะเสื่อโยคะที่มีความหนาแน่นสูง ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักโยคะหลายคนด้วย เพราะเสื่อโยคะแบบนี้มีความแข็งแรง ทนทานต่อการฉีกขาด และสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี มีพื้นผิวที่ให้การยึดเกาะที่ดี ทำให้ร่างกายไม่ลื่นไถลขณะทำท่าโยคะท่าต่างๆ มีความนุ่มสบาย ช่วยลดแรงกระแทกต่อข้อต่อและกล้ามเนื้อ มีคุณสมบัติในการป้องกันกลิ่นอับ ช่วยให้เสื่อโยคะของผู้เขียนสะอาดอยู่เสมอค่ะ แต่ถ้าต้องการทำความสะอาด ก็ยังสามารถทำความสะอาดได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดเท่านั้นเอง ซึ่งเสื่อโยคะแบบนี้ทนต่อการใช้งานในระยะยาวมากกว่าเสื่อโยคะที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ด้วย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมค่ะ นี่คือเสื่อโยคะของผู้เขียนนะคะ และต่อไปนี้คือแนวทางสำหรับเลือกซื้อเสื่อโยคะค่ะทุกคน 1. พิจารณาวัสดุ PVC: ทนทาน ราคาถูก แต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจมีกลิ่นแรงด้วยค่ะ TPE: เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืดหยุ่นสูง ไม่ลื่น แต่ราคาอาจสูงกว่า PVC ยางธรรมชาติ: ยึดเกาะดี แต่ราคาสูงและอาจมีกลิ่นยางได้บ้าง Microfiber: บางเบา พับเก็บง่าย แต่ไม่ทนทานเท่าวัสดุอื่นๆ นะคะ 2. ความหนา เสื่อบาง (1-3 มม.) เหมาะสำหรับผู้มีประสบการณ์ เน้นการทรงตัวค่ะ เสื่อหนาปานกลาง (4-6 มม.) จะเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นและผู้ที่มีอาการปวดข้อ เสื่อหนา (6 มม.ขึ้นไป) เหมาะสำหรับการฝึกโยคะแบบร้อนหรือต้องการการรองรับแรงกระแทกสูง 3. พื้นผิว พื้นผิวขรุขระ: ยึดเกาะดี ป้องกันการลื่น พื้นผิวเรียบ: เหมาะสำหรับการทำท่าโยคะที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างนุ่มนวล 4. ขนาด ความกว้าง: ควรเลือกให้กว้างพอที่จะเหยียดแขนขาได้อย่างสบาย ความยาว: ขึ้นอยู่กับความสูงของคุณ 5. น้ำหนัก การตัดสินว่าเสื่อโยคะเหมาะสมไหม? ให้พิจารณาถึงความสะดวกในการพกพาค่ะ ที่ไม่ควรหนักเกินไป สำหรับเสื่อโยคะของผู้เขียนมีน้ำหนักเบาค่ะ แต่ก็ยังไม่เคยพกไปไหน เพราะส่วนใหญ่ทำโยคะที่บ้านเป็นหลัก แต่ก็สามารถแขวนกับราวแขวนเสื้อผ้าในห้องได้แบบสบายๆ ค่ะ 6. ราคา ก่อนซื้อต้องมีการกำหนดงบประมาณในใจที่เราต้องการ มาประกอบกับคุณสมบัติอื่นๆ ด้วยนะคะ สำหรับของผู้เขียนเลือกในราคาร้อยต้นๆ ค่ะ ก็ถือว่าไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพของเสื่อโยคะที่ได้มาใช้งาน 7. ความยืดหยุ่น คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? เสื่อโยคะที่ดีควรมีความยืดหยุ่นพอสมควร ที่ต้องมองหาลักษณะแบบนี้ก็เพื่อให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระค่ะ ที่ผู้เขียนซื้อมาก็ถือว่ามีความยืดหยุ่นดีจนเป็นที่น่าพึงพอใจค่ะ 8. การดูแลรักษา ก็เป็นเรื่องปกตินะคะ ที่พอเราใช้เสื่อโยคะไปสักระยะ ก็มักมีความสกปรกเกิดขึ้น ดังนั้นควรเลือกเสื่อที่สามารถทำความสะอาดได้ง่ายๆ จะดีกว่ามาก 9. ลองใช้จริง ก่อนตัดสินใจซื้อควรลองเหยียบ ยืน และทำท่าโยคะเบาๆ บนเสื่อดูก่อนนะคะ ถ้าสามารถทำได้นะคะ การทำแบบนี้ก็เพื่อประเมินดูว่าเรารู้สึกสบายและมั่นคงหรือไม่ คือก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปที่ฟิตเนสของโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ก็มีโอกาสได้ไปสัมผัสและใช้งานมาค่ะ เลยมองภาพออกว่ายืดหยุ่นดีคือแบบไหน? มีกลิ่นยางและไม่มีกลิ่นเป็นแบบไหน? จึงมีข้อมูลส่วนนี้มาช่วยอีกตอนซื้อเสื่อโยคะค่ะ สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติม: ผู้เริ่มต้น: ควรเลือกเสื่อที่มีความหนาปานกลาง พื้นผิวขรุขระและทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีอาการปวดข้อ: ควรเลือกเสื่อที่หนาและนุ่ม ผู้ที่ชอบโยคะแบบร้อน: ควรเลือกเสื่อที่ทำจากวัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกเหงื่อ และทั้งหมดนั้นคือเทคนิคที่ต้องนำมาคิดตอนจะเสื่อโยคะค่ะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ? ยังไงนั้นคุณผู้อ่านต้องลองนำข้อมูลในนี้ ไปจับกับการทำโยคะที่เราสนใจ รวมไปถึงพื้นฐานสุขภาพของตัวเราเองในตอนนั้นด้วย และการเลือกเสื่อโยคะที่ดีที่สุดก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และความต้องการส่วนตัวของเราค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😁 เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย Dmytro จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://women.trueid.net/detail/07x4GpZnX037 https://women.trueid.net/detail/A4VEMwKeEbl6 https://women.trueid.net/detail/1j1xGgOV1vn4 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !