สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน ทุกๆคนเคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่าทำไมญาติผู้ใหญ่ของเราบางท่านถึงชอบมีอาการน้อยอกน้อยใจเรา หรือบางทีก็มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ บางคนชอบเฮฮากับลูกหลาน บางคนก็จะชอบเก็บตัวเงียบ และบางคนชอบไปวัดทำบุญ แน่นอนว่าสาเหตุเหล่านี้มีที่มาที่ไปเสมอ วันนี้ซันจะขอพาทุกคนไปค้นใจในวัยชรา ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คนในวัยชรา เกิดพฤติกรรมต่างๆเหล่านั้นค่ะวัยชราหรือวัยสุดท้ายของช่วงชีวิต หากเราลองคิดภาพตามง่ายๆนะคะ การที่เราจะเข้าสู่วัยชราได้ เราต้องผ่านมาตั้งแต่วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน วัยผู้ใหญ่ ช่วงวัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แหละค่ะเป็นตัวหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมในวัยชราขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตใจของทั้งวัยชราทั้งสิ้น วันในเมื่อวานยังหล่อหลอมเราให้เป็นเราในวันปัจุบัน สำหรับคนวัยชราก็เช่นกันค่ะต่อไปซันจะขอพูดถึงปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของคนวัยชรานะคะสิ่งแรกคือการเสื่อมถอยของร่างกายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสายตาที่พร่ามัวขึ้น หูที่ความสามารถในการได้ยินชัดเจนน้อยลง ระบบความคิดและความจำที่เริ่มเสื่อมประสิทธิ ลองคิดดูนะคะว่าถ้าเป็นเรา หากเราเคยใช้ร่างกายทำสิ่งต่างๆง่ายๆได้ดี แต่พอมาวันหนึ่งเรากลับทำไม่ได้แล้ว เราเองก็คงรู้สึกแย่ไม่ใช่น้อยและสิ่งที่สองจะตามมาคือ การไม่ยอมรับความความเปลี่ยนแปลงของตนเองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น การซ่อมแซมของที่เสียหายต่างๆเองภายในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการเปลี่ยนหลอดไฟต่างๆ โดยปกติเรามักจะห้ามไม่ให้เขาทำ เพราะเป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเขา แต่คนวัยนี้มักจะชอบแอบทำเองบ่อยๆนั้นเป็นเพราะว่า ในความคิดของคนวัยนี้เขามักจะคิดว่าการซ่อมแซมสิ่งต่างๆที่เขาทำนั้น เขาทำมาโดยตลอด และไม่เคยเป็นอะไรเลยจากประสบการณ์ในชีวิตที่เขาทำมา ซึ่งสิ่งที่เขาคิดมีความถูกต้องอยู่นะคะแต่ไม่ทั้งหมด คนในวัยชราจะมีระบบความจำหนึ่งที่แม่นและไม่เลื่อนหาย ซึ่งส่วนนั้นได้มาจากประสบการณ์ตรงหรือการกระทำโดยชำนาญ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขามั่นใจในการซ่อมแซมของตนแต่เพราะด้วยความเสื่อมถอยทางร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นทางสายตา การวิงเวียนศีรษะเมื่อจ้องหรือทำสิ่งใดนานๆ หรือเรื่องของพละกำลังต่างๆที่ไม่เท่าเดิม จึงมักทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง และเมื่อเป็นแบบนั้นเราจึงมักถกเถียงกับท่านทุกทีแต่ถึงอย่างนั้นที่ท่านทำไปทั้งหมดเพราะท่านแค่อยากจะช่วยเราในสิ่งที่ท่านทำได้ก็ ลองหาทางคุยกันดูนะคะแต่ถ้าหากคุยกันไม่ได้จริงๆ เราลองเปลี่ยนเป็นนัดวันกับท่านให้ทำตอนเราอยู่ จะได้ระวังอุบัติเหตุให้และถือเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันบ้างสิ่งที่สาม คือการรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า การที่คนเรามีความสามารถหรือมีสิ่งที่ทำได้มาเกือบตลอดชีวิต แต่พอวันหนึ่ง เราต้องหยุดทำไปหรือไม่สามารถทำมันได้อีก อาจส่งผลให้คนวัยนี้รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าได้นะคะ ยิ่งบางคนที่ออกจากงานมาแล้วไม่มีเงินเดือนเหมือนเมื่อก่อน หรือคนที่บาดเจ็บจากการทำงานทางร่างกายจนไม่สามารถทำสิ่งต่างๆเองได้ท่านจะยิ่งรู้สึกผิดค่ะ ในเมื่อก่อนเรามักจะได้ยินข่าวว่าคนวัยชรามักถูกหลอกให้เสียเงินต่างๆ เพื่อจำนวนเงินที่มากกว่าในภายหลัง นั้นเป็นเพราะจริงๆแล้วท่านแค่อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์บ้างแค่นั้นเองค่ะ ท่านแค่อยากช่วยเราแบ่งเบาภาระและทำตนให้มีประโยชน์ รวมถึงการไหว้วานคนอื่นทำธุรกรรมการเงินจนเกิดการโดนหลอกนั้นอาจจะเป็นเพราะ ท่านแค่ไม่อยากเพิ่มภาระให้เรา ซันว่าถ้าเรามองถึงเหตุผลในการกระทำของเขามากกว่าผลลัพธ์ เราอาจจะเข้าใจกันมากขึ้นนะคะและสิ่งสุดท้ายที่จะขอพูดถึง คือการสูญเสียค่ะ ขึ้นชื่อว่าการสูญเสียแล้วไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหนก็เป็นเรื่องยากที่จะทำใจใช่มั้ยคะ การสูญเสียในที่นี้ อาจจะเป็นหน้าที่การงานที่เคยได้ทำ การสูญเสียทางร่างกายพละกำลัง และการสูญเสียคนที่รัก การที่วัยชราต้องสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปในชีวิตถึงจะเป็นการสูญเสียตามวัย และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำใจได้เสมอไปนะคะ หากญาติผู้ใหญ่ของเรายังยึดติดในการสูญเสียสิ่งต่างๆนั้น ย่อมส่งผลทางลบต่อจิตใจอยู่แล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการแสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น ผู้ที่สูญเสียคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง หรือลูกหลาน หากไม่สามารถทำใจยอมรับได้อาจส่งผลให้ เกิดอาการโศกเศร้าเสียใจจนไปถึงการซึมเศร้า ท้อแท้ หรือหดหู่ใจได้ค่ะ ปัญหาสุขภาพใจที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัญหาหลักๆ จากปัญหาทั้งหมดที่คนวัยชราต้องพบเจอ เมื่อผู้อ่านทราบดังนี้แล้ว ซันอยากให้ผู้อ่านหมั่นใส่ใจสุขภาพจิตใจของคนวัยชราให้มากขึ้นนะคะ อย่าหลงลืมไปว่าสักวันหนึ่งเราเองก็ต้องเข้าสู่วัยชราเช่นกัน หากเราได้เรียนรู้ปัญหาสุขภาพใจของคนวัยนี้มาก่อน พอถึงคราวของเรา เราก็จะพร้อมปรับตัวและอยู่ในช่วงวัยนี้อย่างมีความสุขค่ะ ภาพถ่ายที่ 1 โดย Andrea Piacquadioภาพถ่ายที่ 2 โดย Matthias Zomer จาก Pexels: ภาพถ่ายที่ 3 โดย Karolina Grabowska จาก Pexels ภาพถ่ายที่ 4 โดย Anna Shvets จาก Pexelsภาพถ่ายปกบทความโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !