สงขลา เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของปักษ์ใต้ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ มาช้านาน ซึ่งความเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ก็ทำให้มีศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นผลิตภัณฑ์โอทอปชุมชน ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเกาะที่เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองสงขลากับอำเภอสิงหนคร โดยมีสะพานเปรมติณสูลานนท์ อันเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ผ้าทอเกาะยอ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเกาะยอ ที่สร้างสรรค์การทอผ้าจากชีวิตประจำวัน ให้มีลวดลายสวยงามตามความคิดจินตนาการของผู้ทอ โดยลายผ้า ที่รู้จักและยอมรับในความงามของผ้าทอเกาะยอ คือ ผ้าทอเกาะยอลายราชวัตร เล่ากันว่า เป็นชื่อพระราชทานของในหลวงรัชการที่ 5 ครั้งทรงประพาสเมืองสงขลา จนเป็นที่มาของความภาคภูมิใจของชาวสงขลา เกี่ยวกับผ้าทอนี้ ปัจจุบันผ้าทอเกาะยอได้แปรรูปไปเป็นเสื้อผ้าร่วมสมัย และประชาชนยังใช้นุ่งในวันเทศกาลสำคัญทางศาสนา รวมทั้งมีแนวคิดของจังหวัดส่งเสริมให้ใส่ผ้าเกาะยอ ที่มีลวยลายงดงามในศุกร์ของสัปดาห์ ทำให้เกิดความนิยมในผ้าทอเกาะยอ จากการส่งเสริมของผู้คนในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ที่ได้มีการประยุกต์งานหัตถกรรมเหล่านี้ ไปสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน จนเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว ปัจจุบันผ้าทอเกาะยอ มีการพัฒนาให้เกิดลวดลายใหม่ ๆ หลากหลายร่วม 50 กว่าลาย กลายเป็นของฝากที่นิยมของผู้ชื่นชมในแฟชั่นผ้าทอ ที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของชุมชน ซึ่งใช้กรรมวิธีในการทอมือที่สืบสานมาแต่โบราณ สำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวผ่านเมืองสงขลา เชิญชวนให้ซื้อหาผ้าทอเกาะยอเป็นของฝากติดไม้ติดมือเป็นของที่ระลึกแฟชั่นท้องถิ่นใต้ ในส่วนของผ้าทอเกาะยอ ลายราชวัตร เดิมเรียกกันในชื่อลายคอนกเขา เพราะมีลักษณะคล้ายลายคอนกเขาชวา ตามความเล่าสืบกันมา เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จเยือนสงขลา แล้วมีผู้นำผ้าทอดังกล่าวทูลเกล้าถวาย เมื่อทรงทอดพระเนตรแล้ว ทรงประทับใจ จึงพระราชทานชื่อผ้าให้ใหม่ว่า ลายราชวัตร อันเป็นความปราบปลื้มของชาวเกาะยออย่างหาที่สุดไม่ได้ ความเป็นไทยท้องถิ่นปักษ์ใต้ ที่ถูกสืบสานไว้ในลายผ้าทอเกาะยอ สงขลา จะแสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมทางความคิดที่งดงาม ของผู้คนที่คิดประดิษฐ์งานหัตถกรรม ที่ผ่านกาลเวลากลายเป็นแฟชั่น ที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้สวมใส่ และยังกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อภูมิปัญญาที่นำมาสร้างสรรค์ลวดลายอันวิจิตรบนผืนผ้าเหล่านี้