สถานการณ์ โควิด19 ทำให้คนในสังคมเครียดจากหลายด้าน หลายคนมองถึงเรื่อง การงาน การเงิน แต่ในอีกมุมหนึ่งสถานการณ์นี้ ส่งผลกับผู้ป่วยจิตเวชอย่างเช่น คนป่วย โรคซึมเศร้า หลายคนอาจไม่คิดว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ เพราะป่วยอยู่ก่อนแล้ว แต่คุณอาจไม่ทราบ ผู้ป่วยโรคนี้บางคนมี อาการดาวน์ (คำที่ใช้กันในกลุ่มผู้ป่วย) คือสภาพจิตใจแย่กว่าเดิม จากการที่ต้องอยู่ในสภาวะ ล็อคดาวน์ และ เคอร์ฟิวส์ ซึ่งเราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องดูแล ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อยากจะ แบ่งปัน วิธีรับมือ คนป่วย โรคซึมเศร้า กับ อาการดาวน์ ในช่วง โควิด19 หากใครที่ต้องดูแลคนป่วยโรคนี้ แล้วมีอาการอารมณ์ไม่คงที่ จะทำอย่างไร วิธีรับมือ คนป่วย โรคซึมเศร้า ที่เกิดอาการดาวน์ ในช่วง โควิด19 ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ภาวะจิตใจไม่คงที่ หรือ อาการดาวน์ ในผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน ดังนั้นจะต้องดูอาการแต่ละคนก่อน แล้วลองเอาคำแนะนำ หรือ วิธีแก้ปัญหาที่เรารับมืออยู่ไปปรับใช้ อาการดาวน์ของ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยที่เราดูแล เกิดอาการเบื่อ เรียกว่าเบื่อทุกอย่าง ออกไปไหนไม่ได้เพราะ ไวรัสระบาด จะไปไหนก็กลัว เบื่อกลางคืนเพราะออกไปไหนไม่ได้ (ปรกติหากหิวตอนกลางคืนยังออกไป 7-11 หน้าปากซอยบ้าน ) ตอนช่วงเกิดสถานการณ์แรก ๆ อาการยังปรกติ แต่พอเริ่มมีเคอร์ฟิวส์ อาการก็เริ่มเปลี่ยน เริ่มหงุดหงิดกับการที่ไปไหนมาไหนไม่ได้เหมือนปรกติ แม้ว่าจะพาออกไปตลาดบ้าง ไปซุปเปอร์มาเก็ตบ้าง แต่เขารู้สึกว่าสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยน พอต้องอยู่ติดบ้านแบบต้องเข้าออกตามเวลา ก็เริ่มเบื่อโลก เริ่มนอนไม่เป็นเวลา ทั้ง ๆ ที่รับประทานยาตามปรกติ กิจวัตรประจำวันเริ่มเปลี่ยน มีอาการเหมือนตอนที่ป่วยใหม่ ๆ คือ ไม่สนใจตัวเอง กินอาหารไม่เป็นเวลา เหมือนกับคุมตัวเองไม่ได้ คือจะกินตอนไหนก็ต้องได้กิน นอนบ้างไม่นอนบ้าง เริ่มกระสับกระส่าย อยากจะออกนอกบ้าน บางวันพอหมดเวลาเคอร์ฟิวส์ตอนตีสี่ ก็เดินออกจากบ้านไปหน้าปากซอยบ้าง เดินรอบซอยบ้าง นี่คือสองอาการหลักที่เป็นในตอนนี้ ซึ่งเราบอกเลยว่าคุมยากมาก กับการที่จะให้คนป่วยไม่เบื่อ พยายามหาอะไรให้ทำ พยายามปลอบ แต่เหมือนจะไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ บางวันเงียบ บางวันบ่นเบื่อทั้งวัน แนวทางการดูแล ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่มีอาการ ภาวะจิตใจไม่คงที่ เบื้องต้น 1.เช็คคนป่วยว่ายังรับประทานยาปรกติเหมือนเดิมหรือไม่ 2.พยายามเปลี่ยนบรรยากาศ ซึ่งวิธีที่เราเลือกคือ พาคนป่วยออกนอกบ้าน เช้า กลางวัน เย็น เพราะเขาอยากออกนอกบ้านบ้าง เช่นตอนเช้าชวนไปซื้อกับข้าวที่ตลาด แต่ต้องเปลี่ยนตลาดหรือเปลี่ยนสถานที่ไป แต่เลือกใกล้บ้านไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ไม่ไปในจุดที่คนเยอะมาก กลางวันชวนออกไปซื้อของ 7-11 ดูเหมือนจะสิ้นเปลืองใช่ไหม แต่เราให้งบไม่เกิน 50 บาทจะไปจุดไหนก็ได้ ในละแวกบ้านให้เขาได้ออกนอกบ้าน เย็นก็ซื้อกับข้าวชวนทำกับข้าว ให้เลือกเมนูเอง ก่อนถึงเวลาเคอร์ฟิวส์ พาออกไปซื้อขนมให้เลือกว่าจะไปตรงไหน งบเท่าเดิม ซึ่งข้อนี้ต้องแล้วแต่อาการแต่ละคน รวมถึงความสะดวกแต่ละคนด้วย ที่เราเลือกแบบนี้เพื่อให้เขาลดอาการเบื่อจากการที่อยู่แต่ในบ้าน แม้ว่าก่อนหน้านั้นก็อยู่บ้าน แต่การมีโรคระบาดทำให้เขาเครียด กับสภาพแวดล้อมที่ดูเปลี่ยนไป บางอย่างหายไปเช่น เคยไปหาเพื่อนที่บ้าน (ไม่ไกลละแวกบ้าน ) ก็ไปไม่ได้ เพื่อนเคยมาหาก็มาไม่ได้ ต่างคนต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้เขาเหมือนถูกบีบในวงจำกัด และเกิดความเครียด ฟุ้งซ่าน สิ่งที่พอจะทำได้ตอนนี้ก็คือวิธีที่กล่าวมา 3.โทรสอบถามกับโรงพยาบาลว่าควรจะทำอย่างไร (รักษาที่ไหนถามที่นั่น) การถามกับพยาบาล หรือ หมอที่รักษาประจำจะดีที่สุด แจ้งอาการให้ละเอียดเพื่อให้พยาบาลประเมินว่าควรจะเข้าพบแพทย์หรือไม่ หรือ จะสามารถปรับยาที่รับประทาน และหากจะเพิ่มยาบางตัวเพื่อปรับสภาพจิตใจ จะสามารถทำได้หรือไม่ จะรับยากันแบบไหน ต้องเดินทางไปเอง หรือ ใช้บริการเดลิเวอรี่ เพื่อลดความเสี่ยงจาก สถานการณ์ โควิด19 คำแนะนำจากการโทรปรึกษาโรงพยาบาลที่รักษา หลังจากที่สังเกตุอาการคนป่วยมา 1 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอารมย์เปลี่ยนแปลง จึงตัดสินใจโทรสอบถามกับ โรงพยาบาลที่รักษา ซึ่งเบื้องต้นทาง พยาบาลได้ให้คำแนะนำคือ สามารถพามาหาหมอก่อนถึงวันนัดได้ หากกังวลเรื่องโรคระบาด หรือ กลัวผู้ป่วยจะเครียดจากการเดินทาง รวมทั้งต้องระวังเรื่องการติดเชื้อไวรัส ญาติสามารถมาพบหมอแทนได้ เพื่อรับคำปรึกษา และ รับยาแทน หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นเลย หลังจากที่โทรปรึกษาแล้ว สังเกตุอาการเพิ่มเติมแล้ว ให้รีบพามาพบแพทย์ หวังว่าข้อมูลที่ แบ่งปัน วิธีรับมือ คนป่วย โรคซึมเศร้า กับ อาการดาวน์ ในช่วง โควิด19 จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน โดยเฉพาะใครที่มีคนป่วยโรคนี้ในครอบครัว หรือ มีใครเสี่ยงที่จะมีอาการจิตตก มีภาวะเครียด เบื่อ กับสภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม จะต้องดูแลกันใกล้ชิดกว่าเดิม ที่สำคัญคือคนดูแลต้องคุมอารมย์ ตัวเองให้ได้ด้วย ไม่ว่าคนป่วยจะเหวี่ยงขนาดไหน จะบ่นเบื่อจนนับครั้งไม่ถ้วน ก็ต้องอดทน และ ใจเย็น พยายามทำตัวเองให้มีความสุขก่อน พยายามทำให้ตัวเองยิ้มได้ในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะมีแรงรับมือกับคนป่วย ซึ่งมันยากมากแต่ต้องทำ เพราะถ้าหากคนดูแลไม่เข้าใจ ไม่เข้มแข็ง จิตตกตามไป จะกลายเป็นทำให้คนป่วยอาการแย่ลงกว่าเดิม หากอาการไม่ดีขึ้นเลยไม่ว่าจะพยายามด้วยวิธีไหนแล้วสิ่งที่ควรทำที่สุดคือ รีบพาไปพบแพทย์ หมายเหตุ ภาพปก CR. Volodymyr Hryshchenko via unsplash ภาพประกอบ 1 CR. Annie Spratt via unsplash ภาพประกอบ 2 CR. Kristina Tripkovic via unsplash ภาพประกอบ 3 CR. Online Marketing via unsplash ภาพประกอบ 4 CR. Zwaddi via unsplash