ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจเสื้อผ้า เป็นอีกธุรกิจที่มีสีสันในประเทศไทย มีผู้ผลิตและผู้ซื้อจำนวนมาก ทั้งขายในโลกออฟไลน์ และโลกออนไลน์ ดังนั้นการออกแบบเสื้อผ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับความนิยม ในบทความนี้ผู้เขียนจะมานำเสนอ 5 แนวคิด ในการออกแบบเสื้อผ้าสร้างเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นของตนเอง ในการออกแบบเสื้อผ้าให้แปลก แหวกแนว และเป็นที่ต้องการของคนในตลาดการซื้อขายซื้อผ้า ผ่านการนำวัฒนธรรมมาประยุกต์ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ดังนี้ครับ 1. เอกลักษณ์ทางจิตรกรรม โดยอาจจะยึดลายเส้น หรือการเขียนของคนในอดีต โดยดูได้จากวัดวาอาราม นำมาเขียนลงบนเสื้อผ้า ออกแบบให้มีความสมัยนิยม จะทำให้มีมูลค่ามายิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังสร้างจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคนั้น ๆ แบบเฉพาะตัว เช่น ฮูปแต้มชาวอีสาน การเขียนลายผ้า ภาพถ่ายโดย PublicDomainPictures ลิงก์ https://pixabay.com/th/photos/ผ้า-รูปแบบ-พื้นหลัง-สีฟ้า-315801/ 2. เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ผ่านการเอาจุดเด่นของสถาปัตยกรรมนั้น ๆ มาออกแบบปรับประยุกต์เป็นลวดลาย เช่น วัดพระแก้ว พระธาตุพนม แต่เราอาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องความเชื่อด้วยนะครับ เช่น รูปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่นิยมนำมาทำเป็นกางเกง หรือของที่ต่ำกว่าลำตัว แต่โดยปกติหากนำมาเขียนเป็นลายเสื้อก็ย่อมทำได้ 3. เอกลักษณ์ด้านหัตถกรรม ส่วนมากจะเป็นการบูรณาการออกแบบจากส่วนนี้ โดยเฉพาะลายผ้า หรืองานฝีมือของชาวบ้าน เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าทอนาหมื่นศรี นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อกันหนาว หรือเสื้อแขนยาวจกลายผ้าอีสาน ผ้าพื้นเมือง ภาพถ่ายโดย sasint ลิงก์ https://pixabay.com/th/photos/แบบ-เอเชีย-มีเสน่ห์-ผู้ใหญ่-สวย-1822567/ 4. เอกลักษณ์ด้านประเพณีท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยว เราจะเห็นการออกแบบโดยอิงกับประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ คือ มีคนนำมาออกแบบเป็นลายเสื้องานบุญผีตาโขน งานบุญบั้งไฟ ส่วนมากเราจะเห็นเสื้อแบบนี้ขายในสถานที่ท่องเที่ยว แต่ถ้าสามารถออกแบบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ก็จะทำให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น 5. เอกลักษณ์ด้านเครื่องแต่งกายท้องถิ่น เช่น ผ้าซิ่น ชุดของคนเมือง ชุดของชาวเขา นำมาออกแบบตัดเย็บให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยมีเค้าโครงของเครื่องแต่งกายนั้น ๆ คงอยู่ให้เห็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ การแต่งกายของชนเผ่า ภาพถ่ายโดย hoperocketeer ลิงก์ https://pixabay.com/th/illustrations/นักเต้น-sinulog-1888631/ ผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ ว่าเราสามารถดึงไอเดียใกล้ตัวมาสร้างเป็นสินค้า เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้เราได้ โดยการประยุกต์จากจิตรกรรม สถาปัตยกรรม หัตถกรรม ประเพณีท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว และเครื่องแต่งกายท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย สร้างรายได้ให้กับชุมชนไปพร้อมกันด้วย