ภาพปก https://bit.ly/3akuVQD บันทึกรักถึงลูกน้อย จากแม่ตั้งครรภ์ด้วย"ภาวะรกเกาะต่ำ" การรอคอยที่จะมีลูกน้อยมานานถึง 10 ปีหลังแต่งงาน หาตัวช่วยทุกทางรวมถึงยอมทุ่มเงินเก็บเพื่อใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่าง IVF เข้าช่วยแก้ปัญหาภาวะ "มีบุตรยาก" เป็นความเครียดและลุ้นระทึกที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่ "พีค" เท่ากับการตั้งครรภ์แรกสำเร็จ กลับมีภาวะ "แท้งคุกคาม" มาด้วยตลอดอายุครรภ์ ภาพโดยผู้เขียน แน่นอนว่า ความรู้สึกครั้งแรกที่รู้ตัวว่า "ตั้งครรภ์" อย่างที่หวัง สร้างออร่าแห่งความสุขไปยังทุกคนในครอบครัว ทุกคนตื่นเต้น ตั้งตารอ พร้อม ๆ กับเตรียมแผนรับทารกตัวน้อยที่จะออกมาเป็นสมาชิกใหม่ในช่วง 8-9 เดือนข้างหน้าอย่างมีความหวัง การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น ดูดี ตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น จนกระทั่งช่วงสัปดาห์ที่ 8-9 ก็เริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้น ด้วยการมี "เลือดออก" พร้อมกับปวดท้องคล้ายกับช่วงมีประจำเดือน ว่าที่คุณแม่คนใหม่ รีบกระวีกระวาดไปพบคุณหมอ เพื่อให้ตรวจละเอียด และก็พบว่ามีภาวะ "แท้งคุกคาม" คุณหมอรีบสั่งการให้ลดกิจวัตรประจำวันลง 50%โดยเฉพาะการเดิน แต่ยังเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามอายุครรภ์ ขอบคุณภาพ freepik https://bit.ly/3dsUu3S สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือเชื่อฟังและทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเดียวที่ทำไม่ได้ คือ "เครียดและกังวล" หลายครั้งที่นั่งร้องไห้ เสียใจ กังวลใจจนนอนไม่หลับเพราะคิดไปว่าอาจไม่ได้อุ้มลูกคนนี้แล้ว ประกอบกับการที่จะต้องเข้ากระบวนการ "เจาะน้ำคร่ำ" ตรวจหาความผิดปกติของทารกเนื่องจาก เป็นการตั้งครรภ์ในช่วงที่คุณแม่มีอายุ 35 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงที่ลูกในครรภ์จะมีความผิดปกติ ทุกเรื่องประดังประเดเข้ามาจน "จิตตก" แต่ยังดีที่ได้กำลังใจจากว่าที่คุณพ่อและทุกคนในครอบครัว จึงสามารถผ่านจุดคัดกรอง "ตรวจน้ำคร่ำ" มาได้อย่างสบาย ๆ ยิ่งผลการตรวจโครโมโซมลูกเป็นปกติ ก็ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้นแม้ว่า จะต้องระมัดระวังกิจกรรมประจำวันเพราะยังมีภาระ "แท้งคุกคาม" อยู่ก็ตาม โดยพยายามปรับพฤติกรรมรอบด้านให้ดีที่สุด แม้แต่การซื้อของเข้าบ้าน หรือซื้อของใช้เด็กอ่อนเตรียมไว้ ก็จะนั่งรถ Wheel Chair ที่ห้างต่าง ๆ มีไว้ให้ยืม โดยไม่ยอมเดินอย่างเด็ดขาด ขอบคุณภาพ freepik https://bit.ly/2QMId0y เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนอายุเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 6-7 ผลการตรวจครรภ์ละเอียดพบว่ามีภาวะ "รกเกาะต่ำ" เพิ่มเข้ามา ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกและพัฒนาตามการเติบโตของทารกในครรภ์ รกที่ขดตัวอยู่ในครรภ์ของเราเกาะแน่นอยู่กับผนังมดลูกบริเวณด้านล่างปิดแน่นสนิท และเป็นเหตุให้มีเลือดออกบ่อย ๆ สิ่งที่คุณหมอแจ้งไว้ล่วงหน้าคือ ต้องลดกิจกรรมลงอีก และยืนยันว่าไม่สามารถคลอดลูกน้อยได้เองตามธรรมชาติ ต้องผ่าตัดเท่านั้น จำได้ว่าความรู้สึกตอนนั้นเข้มแข็งและพร้อมมากที่จะเจอกับอะไรก็ได้ขอให้ลูกออกมาปลอดภัย คุณหมอยังได้วางแผนสำรองเผื่อไว้ให้ ทั้งกรณีที่ต้องคลอดก่อนกำหนด และต้องเข้ามานอนรอคลอดอยู่ในโรงพยาบาลล่วงหน้าเป็นเดือน เพื่อประคองอายุครรภ์ให้ครบตามกำหนดให้ได้มากที่สุด ภาพโดยผู้เขียน กระทั่งอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 36 ความไม่ปกติมาเยือนอีกครั้งโดยเฉพาะการปวดท้องที่รุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ต้องใช้ยาที่คุณหมอจ่ายให้เพื่อช่วยลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้คุณหมอตัดสินใจว่าควรต้องให้ลูกน้อยคลอดดีกว่าอยู่ในครรภ์ต่อ ก่อนที่เราต้องเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดตั้งแต่เช้า คืนนั้นเราได้จดบันทึกทุกเรื่องราวการต่อสู้กับ ภาวะรกเกาะต่ำ ไว้ให้ลูก คิดว่าหากทุกอย่างพลิกผัน ลูกจะได้อ่านว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่าง 8-9 เดือนที่พ่อกับแม่ประคับประคองทุกอย่างเพื่อรอวันที่ลูกได้ออกสู่โลกกว้างอย่างปลอดภัย ภาพโดยผู้เขียน โชคดีที่การผ่าตัดเป็นไปราบรื่น เด็กผู้ชายน้อยที่เป็นนักสู้ แข็งแรงและอดทนที่สุดคนนึง ก็ลืมตามาดูโลกได้อย่างปลอดภัยสมกับชื่อ "วินเนอร์" ภาพโดยผู้เขียน