เมื่อไม่นานมานี้ อยู่ดี ๆ ผมก็ตื่นขึ้นมาพร้อมอาการ ปวดข้อมือบริเวณใต้โคนนิ้วโป้ง สักพักอาการดีขึ้น แต่จะปวดเมื่อมีการหยิบจับพร้อมกับมุมข้อมือมีการบิดที่ไม่ปกติ เช่น บิดผ้า หรือเอื้อมหยิบของในมุมแปลก ๆ เลยได้ลองเสิร์ชดู จึงพบว่าเป็นอาการของโรค "ปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ" ปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ De-Quervain's Disease Edited Image from Henry Gray (1918) ปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ เป็นอาการที่เกิดจากเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ มีการรับน้ำหนักและเสียดสีค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการอักเสบบวม มีอาการเจ็บเพราะเส้นเอ็นโดนบีบ ขยับได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ต้องใช้งานข้อมือส่วนนี้ทั้งนั้น สาเหตุของโรค Photo by Afif Kusuma on Unsplash เกิดจากการ "ใช้นิ้วโป้งหรือข้อมือมากเกินไป" เช่น การเหยียดนิ้วโป้ง การหนีบนิ้วโป้งอย่างหนัก อาจจะเป็นการใช้งานมือถือที่ใช้นิ้วโป้งในการพิมพ์นาน ๆ การบิดผ้า การวาดภาพแบบจิตกร การเล่นกีฬาที่ใช้ข้อมือ (ของผมน่าจะเป็นเพราะเล่นเกมมือถือหนักเกินไป) การรักษา ควรไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการ โดยแพทย์อาจให้ยาแก้อักเสบ ฉีดเสตียรอยด์ และให้ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือและนิ้วโป้ง ไปถึงขั้นผ่าตัดในกรณีที่เป็นมากและเรื้อรัง แล้วแต่การวินัจฉัยของแพทย์ แต่หากไม่ได้เป็นมากและยังไม่สะดวกไปพบแพทย์สามารถใช้การ พักการใช้งานท่าทางที่จะก่อให้เกิดอาการเจ็บ และ กายภาพ โดยข้อสำคัญ คือห้ามไปยืดซ้ำที่เดิมบริเวณที่เจ็บ คือห้ามทำท่ายืดสบัดข้อมือแบบฟันดาบหรือตีแบดดังภาพ เพราะอาการบาดเจ็บจะหนักขึ้น ควรจะพักการใช้งานนิ้วโป้งหรือข้อมือ หากท่าทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวด ให้งดทันทีและควรหา "อุปกรณ์พยุงข้อมือ" มาใส่ ซึ่งมีหลากหลายแบบสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป การกายภาพ การกายภาพจะช่วยบรรเทาอาการปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบได้ **แต่ต้องทำโดยไม่ให้รู้สึกตึงหรือเจ็บ** หากทำแล้วตึงหรือเจ็บให้งดทันที 1. ขยับนิ้วมือเข้าและออก 2. ยืดพับข้อมือขึ้นลง หากได้ทำตามที่บอกแล้วใน 3-4 วัน ยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ แต่ หากสะดวกไปพบแพทย์ควรไปพบแพทย์ให้แพทย์วินิจฉัยจะดีที่สุด ทั้งนี้การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขรักษาในภายหลัง การป้องกันคือการใช้ข้อมืออย่างระมัดระวัง ไม่ออกแรงหรือบีบจับอะไรที่รุนแรงหรือนานเกินไป และการออกกำลังข้อมือก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันครับ