“โรคหลงผิด” คุณอาจเป็นอยู่ก็ได้ (บทความสุขภาพจิต) ภาพจาก : geralt / pixabay ผู้เขียนพบผู้ป่วยจิตเวชหญิงคนหนึ่งที่แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพของโรงพยาบาลจึงเข้าไปสนทนากับเธอ จากการสนทนาเบื้องต้นพบว่าเธอมีความเป็นมิตรและดูมีเหตุผลดี จากนั้นเมื่อผู้เขียนพบกับเจ้าหน้าที่แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพจึงถามไปว่า “ผู้ป่วยหญิงคนนั้นผมสนทนาด้วยดูเหมือนเธอมีอาการดีขึ้นแล้วนะครับ เหตุใดจึงยังไม่ได้กลับบ้าน”เจ้าหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพตอบว่า “อาจารย์ลองคุยด้วยนานๆสิครับแล้วจะรู้ว่าเพราะเหตุใดเธอจึงยังไม่ได้กลับบ้าน”เมื่อผู้เขียนกลับไปสนทนากับเธออีกครั้งและถามว่า “คุณอยากกลับบ้านหรือเปล่าครับ” เธอตอบว่า “หนูอยากกลับบ้านมากค่ะหนูมานอนโรงพยาบาลได้หลายวันแล้ว และหนูคิดว่าหนูมีอาการดีแล้ว แต่หมอไม่ยอมให้หนูกลับบ้าน หนูเป็นห่วงทางบ้านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นห่วงทหารในเครืออาณานิคมที่หนูต้องดูแลอยู่”ผู้เขียนจึงถึงบางอ้อว่า เธอมีอาการหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธแห่งประเทศอังกฤษนั่นเอง โรคหลงผิด(Delusional Disorder)เป็นโรคชนิดหนึ่งทางจิตเวช หรืออาการหลงผิด(delusion)เป็นอาการที่พบในผู้ป่วยโรคจิตเภท( Schizophrenia )ร่วมกับอาการอื่นๆ โรคหลงผิดหรืออาการหลงผิดเป็นความผิดปกติทางความคิดที่ตัวผู้ป่วยเองคิดและเชื่ออย่างฝังหัวว่าตนเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ อาการหลงผิดมีหลายชนิดเช่น ภาพจาก : anaterate / pixabay 1 หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นเจ้าหรือเทพเจ้า อาการหลงผิดชนิดนี้มักจะพบว่าผู้ป่วยคิดว่าตนเองเป็นเจ้า เป็นพระราชวงศ์ต่างๆ เป็นเทพเจ้า เป็นเทวดาองค์นั้นองค์นี้ที่บุคคลทั่วไปนับถือมีอำนาจและมีฤทธานุภาพต่างๆ ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมาแต่ต้น 2 หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญกลับชาติมาเกิด ผู้ป่วยหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญกลับมาเกิด มักจะพบว่าผู้ป่วยหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นพระราชวงศ์ พระราชินี พระราชาองค์ต่างๆกลับชาติมาเกิด ไม่เคยพบว่ามีผู้ป่วยรายใดที่บอกว่าตนเองเป็นบุคคลที่ต่ำต้อยด้อยค่ากลับชาติมาเกิด 3 หลงผิดชนิดหวาดระแวง อาการหลงผิดชนิดหวาดระแวงนี้มักจะพบว่าผู้ป่วยมีอาการหวาดระแวงต่างๆ เช่น หวาดระแวงว่าตนเองถูกปองร้าย หวาดระแวงว่าหุ้นส่วนจะคดโกง หรือหวาดระแวงว่าคู่สมรสมีชู้ เป็นต้น อาการหลงผิดชนิดนี้มักเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ 4 หลงผิดคิดว่าตนเองเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆในสังคม เช่นอ้างว่ารายการโทรทัศน์นำเรื่องของตัวเองไปพูดทุกรายการ หรือหนังสือพิมพ์นำเรื่องของตนเองไปตีพิมพ์นำเสนอ เป็นต้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่มีปรากฏการณ์เช่นนั้นเลย 5 หลงผิดคิดว่าสมองถูกฝังไมโครชิพ อาการหลงผิดชนิดนี้ผู้ป่วยจะบอกผู้ที่อยู่ใกล้ชิดรวมทั้งแพทย์พยาบาลว่าเขาถูกฝังไมโครชิพไว้ที่สมอง และมีคนติดตามเขาอยู่ตลอดเวลา กระทั่งมีคนรู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ อาการหลงผิดประเภทนี้พบไม่มากนักเท่าสี่ประเภทแรกที่ผ่านมา ภาพจาก : geralt / pixabay โรคหลงผิดหรืออาการหลงผิดสามารถรักษาให้หายได้ถึงแม้จะเป็นอาการที่รักษายากที่สุดในวงการจิตเวชก็ตาม แต่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งการรักษาด้วยยา รักษาด้วยไฟฟ้าพร้อมทั้งทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดร่วมด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือการจะพาผู้ป่วยโรคหลงผิดหรือมีอาการหลงผิดเข้ารับการรักษานั้นไม่ง่ายเลย เพราะผู้ป่วยจะไม่ยอมรับว่าตนเองมีความผิดปกติ ส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาคือเป็นอาการร่วมที่พบในโรคจิตเภท(Schizophrenia) หรือมีความคิดหลงผิดจนกระทั่งเกิดผลกระทบต่างๆในชีวิตประจำวันที่สร้างความเดือดร้อนแก่ทั้งตนเองและผู้อื่นแล้ว จึงมักถูกจับส่งเพื่อเข้ารับการรักษานั่นเอง หากใครมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปปรึกษาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชใกล้บ้านท่านได้ทั่วประเทศ เช่นโรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลศรีธัญญา และแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกจังหวัด ตลอดจนภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย ภาพจาก : Graehawk / pixabay ภาพปก : Clard /pixabay รศ.ดร. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิตและศาสนาปรัชญานักเขียนสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มติชน,อัมรินทร์ธรรม,ซีเอ็ด,ดีเอ็มจีและวิชบุ๊คประธานสถาบันฝึกอบรมบุคลากร wuttipong academy ,ไอดีไลน์ ac6555อัปเดตสาระดี ๆ มีประโยชน์อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !