12 เมนูอาหารอ่อนย่อยง่าย หลังผ่าตัด เพื่อพักฟื้นสุขภาพให้หายดีสวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่กำลังมองหาตัวอย่างของเมนูอาหารอ่อนย่อยง่ายทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ปรุงอาหารและเตรียมให้กับคนป่วยที่กลับมาพักฟื้นที่บ้าน เพื่อดูแลให้สุขภาพกลับมาอยู่ในสภาวะปกติเหมือนเดิมก่อนการผ่าตัดค่ะ โดยในบทความนี้ผู้เขียนอยากส่งต่อประสบการณ์ตรงของตัวเองค่ะ ที่มีโอกาสได้ดูแลพ่อของผู้เขียนเองหลังจากได้รับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อตัดไส้ติ่งอักเสบออกและระบายหนองในช่องท้องค่ะ โดยประสบการณ์ในส่วนของไส้ติ่งอักเสบและหนองในช่องท้องนี้เดี๋ยวจะมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันในบทความอีกบทความแล้วกันนะคะ แต่บทความนี้ลงลึกเรื่องอาการการกินกันก่อนค่ะ😀 อาหารอ่อนย่อยง่ายเป็นชนิดของอาหารประเภทหนึ่งในหลายๆ ประเภทที่คนบางกลุ่มมีความจำเป็นต้องกินค่ะ ที่นอกจากไปจากการได้แหล่งพลังงานให้กับร่างกายแล้ว อาหารอ่อนย่อยง่ายยังส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดหรือบาดแผลหรือโรคที่กำลังเป็นอยู่ จะพูดว่าไม่ทำให้เพิ่มปัญหาใหม่ให้กับร่างกายในระหว่างเยียวยาให้หายดีก็ว่าได้ค่ะ อย่างไรก็ตามอาหารอ่อนย่อยง่ายนี้ยังเหมาะสมกับคนบางกลุ่มอายุด้วยนะคะ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือคนทั่วไปที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยดังนั้นเวลาเราพูดถึงอาหารอ่อนย่อยง่ายจึงกลายเป็นหัวข้อที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของเราค่ะ เพราะคนปกติที่ไม่ได้รับการผ่าตัดในบางสถานการณ์ก็ยังมีความจำเป็น เช่น ไอและเจ็บคอ ท้องอืดบ่อย เป็นต้น พอคนเหล่านี้หันมากินอาหารอ่อนย่อยง่ายก็ทำให้อาการที่เป็นอยู่ทุเลาขึ้นหรือรู้สึกสุขสบายมากขึ้นและสามารถกินข้าวได้มากขึ้นค่ะ อาหารอ่อนย่อยง่าย หมายถึง อาหารที่เป็นมิตรกับกระเพาะอาหารโดยอาหารเหล่านั้นต้องสามารถย่อยได้ง่ายๆ ที่กระเพาะอาหารค่ะ และในระหว่างเตรียมอาหารอ่อนย่อยง่ายให้กับคนที่ได้รับการผ่าตัดนั้น มีอีกอย่างที่เราต้องนำมาคิดค่ะ นั่นคือ อาหารจะต้องส่งเสริมการหายของแผลและให้พลังงานสูงค่ะ เพราะหลังผ่าตัดนั้นผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับการงดน้ำงดอาหารเป็นเวลานานหลายวัน จึงพบว่ามีน้ำหนักลดลงและอ่อนเพลียกว่าปกติด้วยค่ะ พูดมาซะยาวแล้ว‼️😄 งั้นเรามารู้กันดีกว่าค่ะว่ามีเมนูอะไรบ้างที่เราสามารถนำมาเสิร์ฟให้กับคนที่ต้องการอาหารอ่อนย่อยง่ายค่ะ1. ไข่ไก่ต้ม เป็นเมนูที่ทำได้ง่ายๆ ค่ะ ใช้เวลาน้อย เตรียมไม่ถึง 10 นาที ก็สามารถได้ไข่ต้มแบบอุ่นๆ ไปจัดเป็นอาหารให้กับผู้ป่วยแล้วค่ะแนะนำว่าควรทำไข่ต้มแบบสุกค่ะ เพราะหากเป็นไข่ต้มแบบสุกๆ ดิบๆ อาจมีความเสี่ยงทำให้มีการติดเชื้อในร่างกายได้ ซึ่งประเด็นนี้เรายังต้องให้ความสำคัญค่ะ ถึงแม้ว่าแผลผ่าตัดด้านนอกจะดีขึ้นมาบ้างแล้วก็ตามแต่ ไข่ต้มย่อยได้ง่ายค่ะเพราะตัวไข่ขาวคือโปรตีน ในส่วนของไข่แดงสุดนั้นหากใครมีปัญหาเรื่องไขมันอาจต้องจำกัดการกินไข่แดงค่ะ เนื่องจากพ่อของผู้เขียนไม่ได้มีปัญหาเรื่องไขมันจึงสามารถกินไข่ต้มได้ทั้งลูกค่ะ หลังจากลองให้กินไข่ต้มแล้วก็ได้สอบถามเรื่องท้องอืดแน่นท้อง ก็พบว่าไม่มีปัญหาเรื่องนี้ค่ะโดยไข่ต้มสามารถย่อยได้ง่ายๆ ค่ะ นอกจากไข่ไก่ต้มแล้วนะคะ ไข่ชนิดอื่นๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตามที่จะหามาได้ค่ะ หากไม่มีไข่ชนิดอื่นก็ไข่ไก่ค่ะเพราะบ้านเราไข่ไก่หาได้ง่ายและราคาถูกด้วย2. แกงจืด เมนูประเภทแกงจืดสามารถนำมาเตรียมให้กับคนป่วยหลักพักฟื้นจากการผ่าตัดได้หมดค่ะ เช่น แกงจืดฟักแฟงหมูสับ แกงจืดแตงกวาหมูสับ แกงจืดผักกาดขาววุ้นเส้น เป็นต้น โดยอาหารประเภทแกงจืดมีน้ำค่อนข้างมากจึงสามารถกินได้ง่ายๆ และในผู้สูงอายุยิ่งทำให้กินได้ง่ายขึ้นไปอีกค่ะ เพราะนอกจากจะย่อยง่ายแล้วยังสามารถเคี้ยวได้ง่ายอีกด้วยค่ะ และแกงจืดมีส่วนทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นเพราะเป็นอาหารที่มีน้ำมาก การซดน้ำแกงจืดอุ่นๆ ยังทำให้ผู้ป่วยที่เจ็บคอรู้สึกสุขสบายขึ้นมากขึ้นด้วยค่ะ3. โจ๊ก เมล็ดข้าวที่มีขนาดเล็กๆ ถูกนำมาต้มจนละเอียดเข้ากันดีและปรุงรสให้อร่อยขึ้น เราเรียกว่าโจ๊กค่ะ โจ๊กที่ควรนำมาเสิร์ฟให้กับผู้ป่วยพักฟื้นหลังผ่าตัดควรงดการปรุงเผ็ดและไม่ควรใส่น้ำส้มสายชูค่ะ เพราะความเผ็ดและความเปรี้ยวมีส่วนอย่างมากที่ไประคายเคืองกระเพาะอาหาร ในส่วนของเนื้อสัตว์ที่นำมาเติมในโจ๊กแนะนำเป็นไข่ต้มสุก หมูสับ ตับหมู เนื้อปลา และเนื้อไก่ค่ะ ให้งดเครื่องในหมูที่ย่อยได้ยาก เช่น ไส้หมู กระเพาะอาหารหมู เพิ่มเติมอีกนิดในกรณีของเนื้อไก่ที่ต้องงดนำมาเติมในโจ๊กหากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องเกาต์นะคะ4. ข้าวต้ม เมนูข้าวต้มสามารถใช้ได้ทั้งข้าวต้มกุ๊ยและข้าวต้มเครื่องคะ แนะนำให้นำกับข้าวที่สามารถกินกับข้าวต้มมาจัดแทรกเข้าไปร่วมกับข้าวต้มในบางมื้อค่ะ เพื่อไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อและเพื่อให้อาหารมีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้นและชวนให้น่ากินมากขึ้นด้วยค่ะ ข้าวต้มเหมาะสำหรับนำมาเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าและอาหารเย็นค่ะ ในบางวันหากอากาศเย็นๆ ข้าวต้มยังสามารถนำมาเสิร์ฟได้ดีตลอดทั้งวันค่ะ จากที่ผู้เขียนได้เตรียมข้าวต้มให้กับพ่อที่อยู่ในช่วงพักฟื้นให้หายดีจากการผ่าตัดนั้น พบว่า หากวันไหนเตรียมข้าวต้มให้กินทั้งวัน ข้าวต้มสามารถย่อยได้ง่ายค่ะจนรู้สึกหิวบ่อยขึ้น ทำให้ในวันเดียวกันนั้นต้องเพิ่มอาหารว่าง 2 เวลาแทรกเข้ามา โดยอาหารว่างจะจัดให้ผู้ป่วยประมาณ 10 โมงเช้ากับช่วงประมาณบ่ายสองโมงเย็นค่ะ และในช่วงที่กินข้าวต้มไม่มีปัญหาเรื่องท้องอืดเลยค่ะ5. ขนมวุ้น เต้าฮวยนมสดหรือขนมอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้สามารถใช้ได้ค่ะ โดยขนมวุ้นเราสามารถทำเองได้นะคะ เพราะผู้เขียนได้ลองทำวุ้นนมสดและนำมาเสิร์ฟใน 2 ลักษณะค่ะ คือ เสิร์ฟวุ้นนมสดเป็นของว่างและเสิร์ฟร่วมกันอาหารหลักเช้า เที่ยงหรือเย็นค่ะ ก็พบว่าผู้ป่วยกินได้ ไม่มีอาเจียนและท้องไม่อืดนะคะ หากใครมีปัญหาเรื่องการย่อยนมให้ตัดนมออกและใช้ส่วนผสมอย่างอื่นแทนค่ะ อาจเป็นน้ำสมุนไพรกับกะทิ หรือน้ำกะทิอย่างเดียว หรือวุ้นน้ำหวานกับกะทิก็ได้ค่ะ สำหรับเต้าฮวยนมสดสามารถหาซื้อได้ง่ายๆ ที่เซเว่นมีค่ะ 6. แกงเห็ด หลายคนเวลาต้องเตรียมอาหารอ่อนย่อยง่ายมักไม่อยากเตรียมเพราะส่วนใหญ่ไปคิดว่าต้องหาสิ่งที่อยู่ไกลตัว เช่น หูฉลาม หรือซุปอะไรต่างๆ ที่ฝรั่งเขาทำ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลยค่ะ เราต้องเตรียมจากสิ่งใกล้ตัวจากสิ่งที่เรามี เพราะผู้เขียนเองก็ได้ทำแกงเห็ดรวมมิตรค่ะ เพราะช่วงนี้เห็ดออกเยอะมาก พอนำมาทำแกงเห็ดที่มีผักและสมุนไพรเป็นหลัก จึงทำให้ผู้ป่วยได้รสชาติอาหารที่แปลกใหม่และซดอร่อยมากเลยค่ะ หลังกินแกงเห็ดไม่มีเรื่องท้องอืดค่ะ เพราะผู้ป่วยเข้าห้องน้ำปกติและไม่มีท้องเสียให้เห็นค่ะ7. ปลานึ่ง เมนูนี้ทำได้ง่ายมากๆ ค่ะ เพราะปลาที่ตลาดเวลาไปซื้อมาพ่อค้าแม่ค้าก็ทำปลาให้พร้อมแล้ว เรามีหน้าที่เพียงนำปลามาล้าง จากนั้นทาเกลือนิดหน่อยและนำไปนึ่งด้วยการใส่สมุนไพรที่เพิ่มความหอมและดับกลิ่นคาวค่ะ เนื่องจากเนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยได้ง่ายจึงเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัยค่ะ และปลานึ่งสดๆ มักมีความอร่อยที่ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องจิ้มน้ำจิ้มอะไรเลยก็ได้ค่ะ เมนูนี้เป็นเมนูที่พ่อของผู้เขียนชอบมากที่สุดค่ะ8. ผัก ในส่วนของผักนี้บางชนิดมีความจำเป็นต้องต้มให้เปื่อยนะคะ โดยเฉพาะหากต้องเตรียมอาหารอ่อนย่อยง่ายให้กับผู้สูงอายุ บางชนิดจำเป็นต้องหั่นให้ชิ้นเล็กลงเพื่อลดการใช้ฟันกัดผัก ผักบางชนิดสามารถเพิ่มเข้าไปในเมนูอื่นๆ ได้ค่ะ เช่น ข้าวต้ม แกงต่างๆ โดยส่วนใหญ่ผักมีส่วนช่วยอย่างมากในระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายค่ะ และผักสดๆ ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับวิตามินและคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว ที่เราต้องการในระหว่างพักฟื้นหลังผ่าตัดก็คือ วิตามินซี วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระและอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยทำให้กระบวนการหายของแผลเกิดขึ้นได้ตามปกติ พอกินผักจึงส่งเสริมให้แผลผ่าตัดหายได้เร็วขึ้นค่ะ สุขภาพของผู้ป่วยหลังพักฟื้นจึงดีขึ้นตามลำดับที่ควรจะเป็น9. เครื่องดื่มให้พลังงานชนิดต่างๆ สำหรับเครื่องดื่มนั้นให้เน้นที่เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงนะคะ เพราะว่าผู้ป่วยหลังผ่าตัดมักมีน้ำหนักตัวลดลง โดยเฉพาะคนที่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารจำนวนหลายวัน เราสามารถทำเครื่องดื่มให้พลังงานสูงได้เองค่ะ เช่น น้ำสมุนไพรชนิดต่างๆ การทำนมข้าวโพด น้ำฟักทอง น้ำเต้าหู้ หรือจะเป็นเพียงการผสมน้ำหวานก็ได้ค่ะ ถ้าใครไม่สะดวกสามารถซื้อเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนค่ะ เพราะผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้องการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ สำหรับเครื่องดื่มให้พลังงานสูงนี้สามารถเสิร์ฟเป็นอาหารว่างก็ได้หรือจะนำมาให้ผู้ป่วยดื่มหลังอาหารมื้อหลักก็ได้ค่ะ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวหรือต้องจำกัดน้ำก็สามารถดื่มได้ตามปกติค่ะ แต่ควรงดการดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงจำนวนมากก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้รบกวนการนอนเนื่องจากต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะในห้องน้ำค่ะ10. ขนมปัง แนะนำเป็นขนมปังที่มีส่วนผสมของธัญพืชหรือขนมปังสูตรเพื่อสุขภาพค่ะ เพราะจะได้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากทำให้อิ่มเพียงอย่างเดียว ขนมปังสามารถนำมาทาแยม ราดนมข้นหวานหรืออื่นๆ ได้ตามใจชอบค่ะ โดยขนมปังสามารถนำมาประยุกต์เป็นเมนูหลักก็ได้หรือนำมาทำเป็นเมนูอาหารว่างก็ได้ค่ะ จากที่ผู้เขียนได้สังเกตพ่อของผู้เขียนหลังกินขนมปัง พบว่า ไม่มีท้องอืดค่ะ ขับถ่ายก็ปกติ ส่วนมากพ่อชอบกินขนมปังแผ่นราดนมข้นหวานในตอนเช้าค่ะ11. ผลไม้ บ้านเราผลไม้ค่อนข้างหลากหลายค่ะ ดังนั้นการนำผลไม้มาเสิร์ฟให้กับผู้ป่วยพักฟื้นหลังผ่าตัดจึงสามารถทำได้ง่ายๆ ผลไม้ที่มีน้ำมากมีส่วนช่วยทำให้ผู้ป่วยกินได้ง่ายมากขึ้นค่ะ เช่น แก้วมังกร เงาะ แตงโม แคนตาลูป ส้มเขียวหวาน กล้วยหอม จากที่ผู้เขียนได้ลองหาผลไม้มาให้พ่อกินในระหว่างพักฟื้น พบว่า พ่อสามารถกินผลไม้ได้ค่ะ ไม่มีอาเจียน ไม่มีท้องอืด ระบบขับถ่ายปกติ โดยตั้งแต่พักฟื้นมาได้นำผลไม้ดังต่อไปนี้มาให้ผู้ป่วยลองกินค่ะ เช่น แคนตาลูป แตงโม แก้วมังกร ลองกอง กล้วยน้ำว้า 12. ก๋วยเตี๋ยว เป็นอีกหนึ่งเมนูที่น่าสนใจค่ะ เพราะว่าหลายคนชื่นชอบมากพอหลังผ่าตัดก็อยากจะกินก๋วยเตี๋ยวอีก ก๋วยเตี๋ยวสามารถนำมาให้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้ค่ะ แต่ให้งดการปรุงเผ็ดและงดน้ำส้มสายชู เมนูอื่นๆ ที่คล้ายคลึงก๋วยเตี๋ยวก็สามารถนำมาเสิร์ฟได้นะคะ เช่น เกาเหลาลูกชิ้น เกาเหลาโบราณ โดยเกาเหลาโบราณนี้ต้องตัดเครื่องในหมูที่ย่อยยากออกค่ะ จากที่ผู้เขียนได้ลองนำก๋วยเตี๋ยวมาให้ผู้ป่วยกิน พบว่า ส่วนมากน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวจะหมดค่ะ กับผักชิ้นเล็กๆ จำพวกถั่วงอก และลูกชิ้นถูกกินไปเยอะกว่าเนื้อหมูค่ะ ไม่มีท้องอืด และสามารถขับถ่ายได้ตามปกติค่ะและทั้งหมดคือตัวอย่างของเมนูอาหารอ่อนย่อยง่ายที่คนธรรมดาๆ คนหนึ่งสามารถเตรียมให้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้ง่ายๆ ที่บ้านค่ะ เพราะหลายคนอาจมองว่ายากจัง‼️ ถ้าต้องเตรียมอาหารอ่อนย่อยง่ายที่บ้าน แต่ถ้าคุณผู้อ่านลองอ่านและทำความเข้าใจดีๆ นั้น จะพบว่าจริงๆ แล้วเมนูที่เป็นอาหารอ่อนย่อยง่ายเยอะมากค่ะ บางเมนูเป็นเมนูที่เราทำกินประจำอยู่แล้วด้วยซ้ำไปค่ะ และบางเมนูที่ได้แนะนำไว้ในนี้คืออ่านจบมองเห็นภาพเลยค่ะว่าต้องทำอะไรดี จึงหวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านค่ะ อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายเมนูที่จัดว่าเป็นอาหารอ่อนย่อยง่ายที่ยังไม่ได้พูดถึง ยังไงให้ลองนำมาเทียบเคียงดูว่าเมนูนั้นเข้ากับเมนูในกลุ่มไหนค่ะ โดยให้เน้นเรื่องการปรุงสุกและสะอาดเป็นสำคัญ อื่นๆ ก็ให้ปรับไปตามพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้ป่วยในแต่ละคนค่ะ เพราะทั้ง 12 เมนูในบทความนี้ผู้เขียนพยายามทำให้มองให้เห็นความหลากหลายที่จะทำให้คนเตรียมอาหารมีตัวเลือกมากขึ้นค่ะ เพราะการเตรียมอาหารอ่อนย่อยง่ายยังมีความจำเป็นต้องเตรียมให้หลากหลายและหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปค่ะ เนื่องจากผู้ป่วยหลังผ่าตัดมักมีความอยากอาหารน้อยลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมาพักฟื้นยังพบว่าสามารถเบื่ออาหารได้ง่ายขึ้นจากเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ ค่ะเครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปก โดย jenvit keiwalinsarid จาก Pexelsภาพประกอบเนื้อหาโดย ผู้เขียนออกแบบภาพปกใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจรีวิวโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพ ดัชชี่ส้มยุสุ โพรไบโอติก มี LPC-37 6 อาหารที่สามารถทำให้ท้องเสียได้ อาหารที่เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ7 ข้อดีของการกินผักและผลไม้ ความจำเป็นต่อสุขภาพที่ต้องรู้‼️หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !