ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) นั้นเป็นยาที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จัก แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นยาชนิดนี้ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี และปัจจุบันยาวาร์ฟารินก็ยังเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในคนไข้ที่มีข้อบ่งใช้ ยาวาร์ฟารินคืออะไร มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ในบทความนี้จะพาทุกท่านมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะการค้นพบยาวาร์ฟารินการค้นพบยาวาร์ฟารินนั้นเป็นไปโดยบังเอิญ เรื่องราวเริ่มต้นมาจากการที่มีคนไปพบว่าวัวที่กินหญ้าชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Sweet Clover ซึ่งปกติจะใช้หญ้าชนิดนี้ในการเป็นอาหารสัตว์ แต่ทว่าหญ้าที่พวกวัวกินเข้าไปนั้นเป็นหญ้าที่ขึ้นรา และทำให้วัวจำนวนมากเกิดอาการเลือดออกในอวัยวะภายในและตายอย่างผิดปกติ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์เข้าไปทำการศึกษาหาสาเหตุของเหตุการณ์ประหลาดนี้ จนได้ทราบว่าแท้จริงแล้วนั้นการที่วัวพากันเลือดออกล้มตายเกิดจากสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Coumadin (คัวมาดิน) ซึ่งถูกเปลี่ยนรูปมาจากสาร Dicoumarol (ไดคัวมารอล) ในหญ้า Sweet Clover นั่นเอง ซึ่งก็ต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นที่ช่วยค้นหาคำตอบให้พวกเราได้สำเร็จ ว่าการที่วัวพากันล้มตายแถมยังมีเลือดไหลออกมามากมายนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากฝีมือของสิ่งเล้นลับแต่อย่างใดแต่การค้นหาคำตอบก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ แล้วนำสาร Dicoumarol มาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้มีฤทธิ์ที่แรงขึ้น แล้วนำสารที่พัฒนาได้ไปใช้เป็น “ยาเบื่อหนู” และตั้งชื่อว่ายา Warfarin ตามชื่อของบริษัทที่ทำการคิดค้นวิจัยยาชนิดนี้ ยาเบื่อหนูที่ชื่อว่า Warfarin นั้นถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญอีกที่ว่ามีทหารรายหนึ่งต้องการจะฆ่าตัวตายด้วยการคิดยาเบื่อหนูชนิดนี้เข้าไป แต่ปรากฏว่าเขาไม่ตาย จึงได้มีการศึกษาถึงฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินนี้ต่อไปในมนุษย์ และจากความบังเอิญทั้งหลายนี้ ในที่สุด วงการแพทย์ก็ได้มีการนำยาวาร์ฟารินมาใช้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดจนถึงปัจจุบันประโยชน์ของยาวาร์ฟารินจากฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดดังที่ได้กล่าวไป ปัจจุบันยาวาร์ฟารินก็ได้ถูกใช้สำหรับรักษาภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวผิดปกติในโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดดำใหญ่อุดตัน ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันลิ้นหัวใจในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ใช้สำหรับป้องกันภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันผิดปกติในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้นกลไกการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินถึงแม้ว่ายาวาร์ฟารินนั้นจะเคยถูกใช้เป็นยาเบื่อหนูมาก่อน แต่สำหรับในมนุษย์นั้น ยาวาร์ฟารินถือเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและมีความสำคัญในการป้องการการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ยาจะออกฤทธิ์โดยการเข้าไปยับยั้งกระบวนการการสังเคราะห์สารช่วยให้เลือดแข็งตัวซึ่งจะถูกสร้างขึ้นที่ตับ เมื่อตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ตามปกติ การเกิดลิ่มเลือดอุดตันก็จะลดน้อยลงไป ทั้งนี้ การรับประทานยาวาร์ฟารินให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อดูค่าการแข็งตัวของเลือดค่าหนึ่งที่มีชื่อว่า Prothrombin Time (โปรธรอมบิน ไทม์) หรือ PT หากค่านี้มีค่าสูงมากก็อาจจะทำให้ผู้ที่รับประทานยาชนิดนี้เกิดภาวะเลือดออกรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้การติดตามประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยาวาร์ฟารินจะต้องอาศัยการพิจารณาจากค่าการแข็งตัวของเลือดเท่านั้น ไม่สามารถใช้การตรวจดูอาการเพียงอย่างเดียวได้ ดังนั้นจึงมีการกำหนดค่าการแข็งตัวของเลือดโดยรายงานผลค่า PT ออกมาเป็นค่าอัตราส่วนที่เรียกว่า International Normalized Ratio หรือ INR ซึ่งหากหลังรับประทานยาวาร์ฟารินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีระดับ INR อยู่ในช่วง 2.0-3.0 (หรืออยู่ในช่วง 2.5-3.5 สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเป็นชนิดลิ้นโลหะ) นั้นจะถือว่าการรักษาเป็นไปตามเป้าหมาย คือไม่เสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และไม่เสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงข้อจำกัดของยาวาร์ฟารินถึงแม้ว่ายาวาร์ฟารินนั้นจะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี แต่ยาชนิดนี้ก็อาจทำให้ผู้ใช้เกิดอาการข้างเคียงอันตรายร้ายแรงได้ นั่นก็คือภาวะเลือดออกรุนแรงนั่นเอง ซึ่งหากรับประทานยาวาร์ฟารินมากไปจนเกิดขนาด ก็จะทำให้ผู้ใช้ยาเกิดเลือดออกในอวัยวะภายในจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับประทานยาชนิดนี้ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะต้องเจาะเลือดเพื่อติดตามดูค่าการแข็งตัวของเลือดอย่างสม่ำเสมอนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินได้ เช่น การใช้ยาอื่น ๆ ที่อาจไปเสริมฤทธิ์หรือยับยั้งฤทธิ์ของยาวาร์ฟาริน ภาวะการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรืออาหารบางชนิดก็อาจมีผลรบกวนการทำงานของยาวาร์ฟารินได้ ดังนั้นเพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายและปลอดภัยจากการใช้ยามากที่สุด ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาร์รินจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรณ์อย่างเคร่งครัดทั้งนี้ หากรับประทานยาไม่สม่ำเสมอหรือหยุดรับประทานยาเอง ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันขึ้นมาได้ในระหว่างที่ขาดยา ซึ่งหากตำแหน่งที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันเป็นตำแหน่งสำคัญเช่นในหลอดเลือดสมอง ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเนื้อสมองตาย อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้เขียนก็เคยประสบกับเหตุการณ์ที่ญาติซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยให้ผู้ป่วยหยุดยาวาร์ฟารินเองเนื่องจากกลัวอาการข้างเคียงของยาที่ระบุไว้ข้างกล่อง วันที่มาตรวจก็พบว่าค่าการแข็งตัวของคนไข้นั้นลดต่ำลงมาก ซึ่งเป็นโชคอันดีที่ผู้ป่วยรายนั้นยังไม่ได้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันผิดปกติเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ยานี้ไม่ควรจะหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด หากมีความประสงค์ที่จะหยุดยาจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง มิเช่นนั้นแล้วก็อาจจะเกิดอันตรายดังที่ได้กล่าวไว้ได้สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับยาวาร์ฟารินนั้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับยาวาร์ฟารินอีกมากมาย เช่น อาหารชนิดใดบ้างที่มีผลต่อยาวาร์ฟาริน และระหว่างที่ใช้ยาวาร์ฟารินนั้นจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งหากใครที่สนใจอยากติดตามเรื่องราวเหล่านี้ต่อก็จะต้องรอติดตามกันได้ในบทความหน้านะคะแหล่งอ้างอิงข้อมูลประกอบการเขียนบทความ : แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ภาพประกอบจาก freepik : ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3 / ภาพที่ 4ภาพถ่ายโดยผู้เขียน : ภาพปก / ภาพที่ 5บทความอื่นเกี่ยวกับเรื่องยา💊 งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับการใช้ยา Lopinavir–Ritonavir ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง💊 ยาพ่นแบบ MDI คืออะไร และใช้อย่างไรให้ถูกต้อง ?💊 เก็บยาอย่างไร ให้ถูกวิธี มั่นใจยาไม่เสื่อม💊 ยาตีกัน (Drug Interactions) หมายถึงอะไรนะ ?💊 เลือกยาแก้แพ้แบบ “ง่วง” หรือ “ไม่ง่วง” แบบไหนดีกว่ากันนะ ?💊 ประเภทความเสี่ยงของยาที่ใช้ใน "หญิงตั้งครรภ์" เรื่องที่ว่าที่คุณแม่ต้องรู้💊 กินยา "พาราเซตามอล" อย่างไร ให้ปลอดภัย💊 ยาชุด ยาอันตรายถึงตาย ไม่ว่าใครก็ควรหลีกเลี่ยง !💊 วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอด ชนิดเม็ด แบบไม่มีอุปกรณ์ช่วยสอด💊 รู้ไว้ใช่ว่า กับเรื่องของ "ยาน้ำ"💊 {เภสัชขอเล่า} ทำไมยาบางตัวจึงต้องกินหลังอาหาร”ทันที”!💊 "เชื้อดื้อยา" ป้องกันได้ แค่กินยาให้ครบ💊 ควรทำอย่าไรเมื่อ "ลืมกินยา"💊 จริงหรือไม่ ? กินยามากไปแล้วทำให้ "ไตวาย"💊 "แพ้ยา" เป็นอย่างไร เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องรู้💊 ปัญหาการกินยาที่พบบ่อยใน "ผู้สูงอายุ"💊 เคล็ด(ไม่)ลับ แก้ปัญหา "ลืมกินยาบ่อย"💊 ใช้ "ยาหยอดตา" อย่างไรให้ถูกวิธี