วิธีคลายความเหนื่อยล้า สำหรับคนดูแลผู้สูงอายุ | บทความโดย Pchalisaเมื่อสักประมาณปลายเดือนก่อนเห็นจะได้ ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งเป็นผู้ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ จากที่ลูกพี่ลูกน้องมาเล่าให้ฟังว่า เขารู้สึกเบื่อกับการที่ต้องใช้เวลากับย่าของเขา นี่ขนาดว่าเขาใช้เวลากับย่าแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ยังรู้สึกว่าไม่มีความสุขเลย หนักไปกว่านั้นก็คือคนที่ดูแลย่าของเขาแบบเต็มเวลา ที่เป็นลูกคนสาวคนเล็กของคุณยายคนนี้ถึงขนาดร้องไห้ รู้สึกปลงตกกับชีวิตเพราะรู้สึกหมดไฟ และเหนื่อยล้ากับการดูแลผู้สูงอายุมากๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ผู้เขียนได้เห็นและได้ยินมาค่ะ แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ ตัวอย่างคล้ายๆ แบบนี้ที่คนในบ้านต้องดูแลผู้สูงอายุที่เป็นทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงกันและเป็นญาติด้วยและจากที่บางคนมาโพสต์ถึงความเครียดที่ตัวเองเจอในแต่ละวันที่บ้าน ซึ่งนานวันเข้าสิ่งเหล่านี่หากไม่ได้รับการจัดการก็สามารถคุกคามสุขภาพของคนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุได้นะคะ ที่ยังไม่ต้องถึงขนาดว่าสมัครไปเป็นคนดูแลผู้สูงอายุหรอกค่ะ การดูแลพ่อแม่ของเราเอง พ่อแม่ของฝั่งสามีหรือภรรยาหรือแม้แต่รุ่นปู่ย่าตายายของเราเองก็ตาม ถ้ามองภาพไม่ออกหรือไม่ได้มีใจรักการบริการดูแลผู้สูงอายุ จะแบบไหนก็มีปัญหาตามมาทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความเครียด ความเหนื่อยล้าและบางคนก็มีปัญหาด้านสุขภาพของตัวเองตามมาจากการสะสมความเครียดวันแล้ววันเล่า แต่ที่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่นะคะ โดยในบทความนี้ผู้เขียนต้องการส่งต่อการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ที่เป็นการดูแลตัวเองในระหว่างดูแลผู้สูงอายุมาฝากค่ะ เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยก็เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ การเกิดมีน้อย วัยแรงงานมีจำกัดและคนในบ้านอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นผู้สูงอายุ ที่ต้องมีลูกหลานคอยดูแล และต่อไปนี้คือแนวทางคร่าวๆ ในการดูแลตัวเองในระหว่างดูแลผู้สูงอายุค่ะ1. ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือจ้างผู้ช่วยจริงๆ วิธีการนี้ผู้เขียนได้แนะนำให้กับลูกพี่ลูกน้องไปค่ะ โดยให้จ้างญาติที่ว่างงานที่พอจะมาดูแลย่าของเขาได้ให้เขามาช่วยดูแลอีกที ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านหรือบริการดูแลผู้สูงอายุ ก็ได้ทั้งหมดนะคะ ซึ่งการจ้างผู้ช่วยจะช่วยให้เรามีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะเขาสามารถมาแบ่งปันภาระในการดูแลผู้สูงอายุค่ะ สำหรับในกรณีของผู้เขียนนั้นลูกทุกคนก็แบ่งกันไปใช้เวลาพ่อและแม่ที่อายุมากแล้วตามโอกาสจะเอื้อค่ะ 2. จัดตารางเวลาให้ดีหลายๆ อย่างมันง่ายขึ้นตอนเรามีตารางชัดเจนว่า ตอนไหนต้องทำอะไรในการดูแลผู้สูงอายุค่ะ เช่น 10.30 น. และ 14.30 น. อาจเป็นเวลาของอาหารว่างสำหรับผู้สูงอายุ 17.00 น. เป็นเวลาบริหารร่างกาย เป็นต้น การพยายามจัดตารางเวลาการนอนให้เป็นประจำก็มีผลดีทำให้เราไม่เหนื่อยมากนะคะ แต่ทั้งนี้เราต้องรู้ก่อนด้วยว่ารูปแบบการนอนหลับของผู้สูงอายุจะเปลี่ยน และเรามีหน้าที่จัดตารางกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับการดูแลผู้สูงอายุค่ะ เพราะการทำแบบนี้ตัวเราเองก็จะมีเวลาพักผ่อนในตอนกลางวันด้วย และตอนกลางคืนก็ยังสามารถนอนหลับพักผ่อนได้ตามปกติอีก ดังนั้นตารางกิจกรรมต่างๆ ทำให้เรามองภาพออกและง่ายในการใช้เวลาดูแลผู้สูงอายุค่ะ3. หาเวลาอยู่กับตัวเองคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า!? บางครั้งความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความเครียด และความหงุดหงิดรำคาญใจก็มักเกิดจากการที่ตัวเรายุ่งจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง การใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง จะช่วยให้คุณได้คิดทบทวนและสามารถจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งยังเป็นไปได้ในระหว่างดูแลผู้สูงอายุ เช่น ตอนผู้สูงอายุนอนพักในตอนกลางวัน ลองให้เวลาในช่วงนี้กับตัวเราเองค่ะ แบบนี้ก็จะช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้ในช่วงสั้นๆ 4. เรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายการฝึกหายใจลึกๆ เป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการลดความเครียดค่ะ ยังไงลองนำวิธีการนี้มาใช้ตอนเราว่างๆ จากการดูแลผู้สูงอายุได้ การทำสมาธิก็สามารถช่วยให้จิตใจสงบและมีความสุขได้นะคะ ซึ่งจากที่ผู้เขียนเคยได้สังเกตมานั้น ตอนผู้สูงอายุพักผ่อนเราสามารถใช้เวลานี้ ทำให้ตัวเราหายเหนื่อยและผ่อนคลายได้ค่ะ5. เข้าร่วมกลุ่มหรือชุมชนที่แชร์ประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จะช่วยให้คุณรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและได้รับคำแนะนำที่ดีได้ค่ะ เพราะบางครั้งเราเองก็จะได้ความรู้หรือเทคนิคที่ดีๆ เอามาใช้ในสถานการณ์ของตัวเองได้ด้วย จึงขอแนะนำให้คุณผู้อ่านลองใช้สื่อโซเซียลต่างๆ มาเป็นประโยชน์ การอ่านเอาความรู้ออนไลน์แบบนี้ก็ใช้ได้นะคะ6. หาเวลาทำกิจกรรมที่ชอบการทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ การทำกิจกรรมที่ชอบจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขได้นะคะ สำหรับผู้เขียนชอบทำอาหาร อ่านหนังสือ ทำสวนผักรั้วกินได้ ถ่ายภาพธรรมชาติ โดยเวลาที่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านี้ ตัวเราจะสบายใจและมีความสุขค่ะ จึงเป็นกิจกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลังเหนื่อยๆ จากการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผ่อนคลายและลดความเครียดลงค่ะ7. ออกกำลังกายต่อให้เราจะเหน็ดเหนื่อยจากการดูแลผู้สูงอายุแล้วก็ตามนะคะ การพาตัวเองไปออกกำลังกายให้ได้ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อเราออกกำลังกายเราจะแข็งแรงขึ้นค่ะ พอแข็งแรงขึ้นแล้วก็จะไม่เหนื่อยง่าย จึงสามารถลดความเมื่อยล้าลงได้หากต้องมาดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งบางคนอาจได้พลิกตัวผู้สูงอายุเป็นระยะเพราะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้นการหันมาทำให้ตัวเองสุขภาพดีคือแนวทางลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ค่ะ8. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่สุขภาพดีก็ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งค่ะ เพราะการดูแลผู้สูงอายุก็ยังต้องการคนที่มีสุขภาพดี เพราะอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีพลังงานในการทำงานได้ อีกทั้งคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ค่ะ อย่าคิดว่าการแนะนำให้ทานอาหารที่ดีเป็นแค่คำแนะนำพื้นๆ ที่ได้ยินบ่อยจนชินชาแล้ว แต่ง่ายๆ แบบนี้หลายคนก็ยังทำไม่ได้เลยนะคะ พอเราไปดูแลผู้สูงอายุเดี๋ยวก็เจอปัญหาใหม่ว่าตัวเองปวดท้องหิวข้าวบ้างล่ะ รู้สึกหน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลมบ้างล่ะ แบบนี้เลยจะแย่กันไปหมดทั้งผู้สูงอายุและคนดูแลค่ะ ส่วนมากแล้วข้อนี้ผู้เขียนยึดหลักว่า ถ้าตัวเราพร้อมโดยดูแลตัวเองเรื่องการทานอาหาร การดูแลผู้สูงอายุก็จะเป็นเหมือนเราไปทำงานค่ะ เพราะถ้าเราทานอาหารให้ดีครบถ้วน ตัวเราก็จะมีพลังงานเอามาไว้ในระหว่างวันแบบเพียงพอ ทำให้ไม่เหน็ดเหนื่อยง่ายด้วยและมีแรงมาดูแลผู้สูงอายุค่ะสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและความรักนะคะ ที่ต่อให้จะเป็นคนในบ้านเราเองหรือเราไปทำงานดูแลผู้สูงอายุ เราก็ต้องดูแลตัวเองแบบเดียวกันหมด ที่เราจะไปโฟกัสแค่เพียงทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพดีเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ตัวเราเองก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยเช่นกัน เมื่อเรารู้สึกดีขึ้น มีพลังกายดีขึ้น เราก็จะสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุขมากขึ้นตามมาค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว การขอความช่วยเหลือตากคนอื่น และการดูแลตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีความสุขนะคะอีกทั้งควรปรับเปลี่ยนทัศนคติ ควรฝึกการมองโลกในแง่ดี เพราะสิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุขกับช่วงเวลาที่ได้อยู่กับผู้สูงอายุค่ะ ควรให้กำลังใจตัวเองด้วย เพราะการให้กำลังใจตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อรู้สึกท้อแท้ให้คิดถึงเหตุผลที่เราต้องทำหน้าที่ เพราะถ้าผู้สูงอายุที่เรากำลังดูแลเป็นพ่อและแม่ของเราเอง นี่ก็คือการตอบแทนบุญคุณค่ะ พ่อแม่ดูแลเราได้จากอายุ 0-20 ปี แล้วทำไมเราจะดูท่านจาก 60 ปี ขึ้นไปไม่ได้ ลูกหลายคนก็ช่วยกันดูแลค่ะ และหากเหนื่อยล้าและเครียดๆ ก็ลองปรับใช้แนวทางในนี้ให้เกิดประโยชน์ค่ะ พอหายเหนื่อยมีแรงก็มาทำหน้าที่ของเราใหม่ก็เท่านั้นเองเพราะผู้เขียนเองก็ได้ปรับใช้ค่ะ เนื่องจากก็มีโอกาสที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่เป็นพ่อกับแม่ของตัวเองเหมือนกัน แต่ไม่ได้หนักมากเพราะผู้สูงอายุที่นี่ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเองค่ะ จริงๆ ถ้าผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราต้องให้ผู้สูงอายุทำเองก่อน ส่วนเราช่วยเหลือในจุดที่อันตรายและทำได้ยาก เพราะในส่วนของผู้เขียนก็จะเน้นเรื่องการทำอาหารให้ทาน คอยเตือนหากมีนัดไปโรงพยาบาล และอื่นๆ ตามสมควร การทำแบบนี้ก็จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมของตัวเองด้วย ตัวเราเองก็จะได้ไม่เหนื่อยมากด้วยนะคะ และถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นงานหนัก แต่ผู้เขียนก็ยังไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองก่อนและให้พร้อมเสมอค่ะ เพราะถ้าเราแข็งแรงดีเราก็มีแรงไปดูแลผู้สูงอายุในบ้านได้แน่ๆ จริงไหมคะ!? ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😀เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปก โดย Andrea Piacquadio จาก Pexelsภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดย Breakingpic จาก Pexels, ภาพที่ 2 โดย Oleksandr P จาก Pexels และภาพที่ 3-4 โดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/Dw6Mvan4ZNWA https://intrend.trueid.net/post/341858 https://intrend.trueid.net/post/362438เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !