รีวิวบริจาคเลือด ที่โรงพยาบาลของรัฐ กรณีเร่งด่วน | บทความโดย Pchalisaหลายคนอาจจะเคยเห็นโพสต์ในสื่อโซเซียลต่างๆ ว่า เนื่องจากนายนั้นนางนี้เข้าโรงพยาบาลด้วยโรค.... ตอนนี้ต้องการเลือดเร่งด่วน เพื่อทำการรักษาตามแผนการรักษาของแพทย์ ผู้ใดเห็นโพสต์นี้และมีเลือดกลุ่ม.....ที่สามารถมาบริจาคเลือดให้กับนาง/นาย.....ได้จะขอบคุณเป็นอย่างมาก ขอให้แชร์ให้ด้วยนะคะ ประโยคประมาณนี้ค่ะซึ่งต้องบอกว่าก่อนหน้าที่ผู้เขียนเอง ก็เป็นอีกคนที่เจอมาแบบนี้มาเหมือนกันค่ะ ก็เคยคิดนะคะว่าโพสต์เล่นหรือเปล่า แต่ลึกๆ ก็แอบดูว่ามีใครแสดงตัวตนไปบริจาคเลือดไหม หลายคอมเมนต์ส่วนมากจะให้กำลังผู้ป่วยและญาติ แต่ก็มีบางคอมเมนต์บอกว่าไปได้ แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นกับตาค่ะว่าคนเหล่านั้นไปบริจาคเลือดกันไหม จริงๆ ตอนอ่านก็อยากไปบริจาคค่ะแต่สำหรับบางคนไกลจากบ้านตัวเองมากเลยไปไม่ได้‼️แต่อยู่มาวันหนึ่งก็เจอเข้ากับตัวค่ะ กลายเป็นว่าคนแถวบ้านโพสต์ขอรับบริจาคเลือดกับเขาบ้าง ไม่ได้รู้จักกันแบบสนิทสนมเป็นการส่วนตัว แต่คุ้นๆ เหมือนเคยเห็นหน้าเพราะเป็นคนในอำเภอเดียวกัน เขามาโพสต์ขอรับบริจาคเลือดในกลุ่มเฟสบุ๊ก ให้แม่ที่กำลังป่วยและรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐค่ะ โดยผู้ป่วยคนนี้เป็นหญิงไทย ผู้สูงอายุ มีเลือดกรุ๊ปเอ ที่เป็นกรุ๊ปเลือดเดียวกันกับกรุ๊ปเลือดของผู้เขียนค่ะด้วยความสงสัยบวกกับความต้องการอยากจะช่วย เลยส่งข้อความไปหาน้องคนที่เขาลงโพสต์ ปรากฏว่าเป็นเรื่องจริงค่ะ และกลายเป็นว่าเป็นน้องสาวของคุณครูของหลานที่สอนเด็กชั้นปฐมวัย จากนั้นผู้เขียนเลยให้น้องสาวโทรไปหาคุณครูขอหลานอีกทีเพื่อยืนยันค่ะ จึงได้ความว่าเป็นจริงที่ต้องการเลือดกรุ๊ปเอ และตอนนี้ยังไม่มีใครไปบริจาคเลย จากนั้นผู้เขียนเลยแสดงความจำนงขอบริจาคเลือดให้กับผู้ป่วยตามชื่อที่แจ้งไว้ในโพสต์ค่ะปกติผู้เขียนสามารถบริจาคเลือดได้ถ้าห่างจากครั้งล่าสุด 3 เดือน และไม่มีอยู่ในช่วงเป็นประจำเดือน ซึ่งปกตินั้นข้อบ่งชี้อื่นๆ ที่สามารถบริจาคเลือดได้ตัวเองไม่ค่อยติดค่ะ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ได้ทานอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ได้ทานยาปฏิชีวนะ เพราะส่วนตัวทานอาหารครบหลัก 5 หมู่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยู่แล้ว และออกกำลังกายเป็นประจำ เลยเหมือนกับว่าพร้อมตลอดสำหรับการบริจาคแบบเร่งด่วนค่ะ ซึ่งการบริจาคเลือดแบบเห็นคนลงโพสต์ในเฟสบุ๊กนั้น ต้องบอกว่าประสบการณ์ในบทความนี้คือครั้งแรกในชีวิตค่ะ เพราะปกติก็บริจาคตามโอกาสจะเอื้อแบบคนทั่วไปพากันไปบริจาคโดยในวันนั้นก็ได้บริจาคจริงๆ ค่ะ แต่ค่อนข้างมีขั้นตอนยาวหน่อย เนื่องจากว่าผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลของรัฐอีกแห่ง แต่ผู้เขียนอยู่อีกที่ที่ต้องมีการเดินทางไปประมาณ 40 กิโลเมตร และด้วยความที่ไม่อยากให้ไปแล้วเสียเวลา เลยไปที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านก่อน เพื่อให้ห้องเก็บเลือดตรวจดูความเข้มข้นของเลือดให้ค่ะ แต่ไม่ได้เอาใบรายงานผลนะคะ ที่เป็นการช่วยตรวจยืนยันเท่านั้นเองว่าเราไปแล้วคนป่วยได้ประโยชน์แน่ๆ ซึ่งในวันนั้นความเข้มข้นของเลือดได้ค่ะ จากนั้นจึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยต้องการเลือดพอไปถึงนะคะ ผู้เขียนก็เข้าไปที่ห้องเก็บเลือดของโรงพยาบาลนั้นเลย เพราะว่าตัวเองรู้แล้วว่าอยู่ตรงไหน จากนั้นวัดความดันเลือดเองค่ะ และไปยื่นผลการวัดกับบัตรประจำตัวประชาชนที่ห้องเก็บเลือดค่ะ แจ้งบอกเจ้าหน้าที่ว่าเรามาบริจาคเลือดให้นาง...... เชื่อไหมคะทุกคนร้องอ๋อ เนื่องจากว่าในตอนนั้นญาติผู้ป่วยก็เดินวนไปวนมา กระวนกระวายใจอยากรู้ว่าใครจะมาบริจาคได้บ้าง เลยคล้ายกับว่าทุกคนก็กำลังคิดช่วยกันหาทางออก เพราะโพสต์ไป 2 วันก็เงียบเหมือนเป่าสาก แต่พอมีความหวัง ความเป็นไปได้ก็ตามมาจริงๆ ค่ะ เพราะพอไปถึงตรวจโน่นนี่นั่นเสร็จ ผู้เขียนสามารถบริจาคเลือดได้หลังจากนั่งรอสักพัก ก็ได้เข้าไปอีกห้องที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสำหรับรับบริจาคเลือดค่ะ ปกติผู้เขียนเลือกบริจาคเลือดฝั่งแขนซ้าย เนื่องจากเส้นก็หาง่าย และตอนกลับมาบ้านเราจะได้ไม่เจ็บตัวเพิ่มเติมหากเราบริจาคฝั่งแขนขวามือค่ะ เพราะตัวเองถนัดขวา บริจาคเลือดมาแล้วก็ยังต้องทำโน่นทำนี่เหมือนเดิมนะคะ แต่จะไม่ยกอะไรหนักๆ ในช่วงแรก และพอผ่านไปวันเดียวก็ไม่มีอะไรน่าห่วงแล้วค่ะโดยในวันนั้นผู้เขียนได้บริจาคเลือดไป 300 ซีซี และผู้ป่วยก็ใช้เลือดนี้ได้เลย และมาทราบอีกทีหลังจากนั้นก็คือผู้ป่วยดีขึ้นและหมอให้กลับบ้านได้ ซึ่งในวันที่ไปบริจาคเลือดนั้นภาพยังติดตาค่ะ กับภาพที่เห็นคุณครูของหลานน้ำตาคลอเบ้า และเดินเข้ามาขอบคุณผู้เขียนพร้อมกับส่งขนมและนมให้ แถมยังเดินไปกอดน้องสาวของผู้เขียนด้วยและพูดว่าขอบคุณมากๆ อ่านมาขนาดนี้แล้วหลายคนอาจคิดในใจว่า ก็อยากบริจาคเลือดบ้าง แต่เห็นคนลงโพสต์แล้วมันคนละกรุ๊ปกับของตัวเอง ซึ่งจริงๆ นั้นต้องขอเล่าต่อค่ะว่า จากที่ผู้เขียนได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ห้องเก็บเลือดมานั้น ได้ข้อมูลมาว่า กรุ๊ปอื่นที่ไม่ตรงกับกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยที่เร่งด่วนในตอนนั้น ก็สามารถบริจาคได้ แต่จะเป็นการบริจาคเลือดเพื่อทดแทน โดยคำนี้หมายความว่า เจ้าหน้าที่จะเอาเลือดของเราไปเก็บในคลังแทน โดยเขาจะดึงเลือดในคลังที่เป็นกรุ๊ปเดียวกันกับของผู้ป่วยออกมาใช้นั่นเองค่ะถึงตรงนี้บางคนอาจพูดต่อว่า อ้าว! ไหนบอกไม่มีเลือด ก็มีอยู่นั่นไง! ในประเด็นนี้ไม่เถียงค่ะ แต่เลือดในคลังก็คือใช้กรณีเร่งด่วนฉุกเฉินให้พร้อมตลอดต่อการรักษา และการขอรับบริจาคเลือดจากญาติหรือผู้ที่มีจิตอันเป็นกุศลยังถือเป็นแนวทางปฏิบัติก่อน เพื่อป้องกันปัญหาขาดเลือดในโรงพยาบาล ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนก็มองเห็นภาพและเข้าใจนะคะ ถึงได้ยอมสละเวลาเดินทางไปบริจาคเลือดตามที่ได้เล่ามาข้างต้นค่ะบริจาคเลือดของโรงพยาบาลของรัฐดีค่ะ เจ้าหน้าที่ทำงานคล่องแคล่วว่องไวดี สอบถามอาการความผิดปกติตลอด ไม่ทิ้งหายให้เราอยู่คนเดียว หลังบริจาคเลือดก็มีขนมและน้ำดื่มให้พร้อม บันทึกข้อมูลครั้งที่บริจาคเลือดให้พร้อม เครื่องมือครบครัน สะอาดและเป็นระเบียบดีค่ะ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนบริจาคเลือดมาตลอดชีวิตนั้น ก็จะเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งหมด โดยทั้งหมดก็ให้บริการดีค่ะ และตัวอย่างของหน่วยงานที่ผู้เขียนได้ไปบริจาคเลือดมาแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลมหาสารคาม คลังเลือดกลาง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลโนนดินแดง โรงพยาบาลนางรอง โรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคเลือดของสภากาชาดไทยที่หอประชุมอำเภอค่ะ และก่อนจะจบบทความนี้ ก็ขอเชิญชวนค่ะ สำหรับผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้ มาร่วมด้วยช่วยกันบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกันค่ะ โดยการบริจาคเลือดก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ กลับมาบ้านเราก็ยังได้ยาบำรุงเลือดมาทานด้วย การนอนหลับพักผ่อน การทำงาน การทานอาหารของผู้เขียนหลังจากนั้นก็ยังเกิดขึ้นได้ตามปกติค่ะ อย่างไรก็ดีผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ🙂เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปก โดย Kirill Dratsevich จาก Pexelsภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดย Vo Thuy Tien จาก Pexels, ภาพที่ 2 โดย Luis Quintero จาก Pexels และภาพที่ 3-4 โดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://intrend.trueid.net/post/428984 https://intrend.trueid.net/post/332307 https://intrend.trueid.net/post/399246เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !