ยังจำได้ว่า ก่อนการบริจาคโลหิตครั้งแรกในชีวิตเมื่อตอนเรียน ม.ปลาย ผมได้รับคำถามลักษณะเป็นการแซวว่า มีเลือดบริจาคด้วยเหรอ เพราะตอนนั้นมีรูปร่างผอมบางมาก ซึ่งคงทำให้คนที่พบเห็นเข้าใจว่ามีสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงนัก แต่ในความเป็นจริงแม้จะผอมแต่ก็มีสุขภาพสมบูรณ์ จึงตั้งใจที่จะร่วมบริจาคโลหิตในตอนนั้น ซึ่งครั้งแรกของการบริจาคโลหิตนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี ส่งผลให้มีความมั่นใจมากขึ้นในการบริจาคครั้งต่อ ๆ มา และหลังจากนั้นมา ก็ยังคงร่วมบริจาคโลหิตมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน แม้บางช่วงเวลาอาจจะไม่ต่อเนื่องหรือสม่ำเสมอ แต่ก็ยังสะสมจำนวนครั้งได้ 42 ครั้ง ในระยะเวลาประมาณสิบกว่าปี (อุ้ย ! เหมือนจะเผยถึงช่วงวัยของตัวเอง อิอิ) โดยจากการสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเอง ที่ผ่านการบริจาคโลหิตแล้ว รู้สึกได้ว่า มีพัฒนาการของสุขภาพร่างกายดีขึ้นตามจำนวนครั้งของการบริจาคโลหิตที่มากขึ้น ซึ่งแม้ว่าอาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การดูแลสุขภาพ การพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่สำหรับผม มองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น ก็เป็นผลมาจากการบริจาคโลหิต กล่าวคือ 1. อย่างที่ทราบกันว่า การบริจาคโลหิต เป็นการถ่ายเทโลหิตเดิมของเราออกไป โดยร่างกายจะผลิตโลหิตใหม่ขึ้นทดแทน ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมจะเป็นผลดีต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ที่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากระบบหมุนเวียนของโลหิต เนื่องจากมีโลหิตที่มีความสดใหม่เข้ามาหมุนเวียนหล่อเลี้ยง เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยผมเองสังเกตได้ว่า ในช่วงแรก ๆ หลังจากการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง จะรู้สึกว่าร่างกายเบาสบาย มีความสดชื่นตื่นตัว (ส่วนกรณีที่บางครั้งอาจจะมีความอ่อนเพลียบ้างก็ไม่ใช้เรื่องผิดปกติ) คล้าย ๆ กับความรู้สึกหลังจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ร่างกายขับเหงื่อออกมา 2. ในการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง ย่อมมีการตรวจเลือด ทั้งก่อนการบริจาคและหลังจากการบริจาคไปแล้ว เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพและความสมบูรณ์ของโลหิตที่บริจาค ซึ่งจะสะท้อนถึงสุขภาพร่างกายของเจ้าของโลหิตนั้นด้วย ว่ามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เพียงใด โดยอาจประเมินได้จากความเข้มข้นของโลหิต หรือขนาดของเม็ดเลือด หรือตรวจสอบว่ามีโรคหรืออาการป่วยใด ๆ หรือไม่ อันอาจทราบได้จากการตรวจเลือด แต่ทั้งนี้ ผมไม่สนับสนุนให้ใช้การบริจาคโลหิตเป็นช่องทางเพื่อให้ได้รับการตรวจเลือด ทางที่ดี ควรมีการตรวจสุขภาพ (ซึ่งรวมถึงการตรวจเลือด) มาก่อนบริจาคโลหิต หากพบหรือรู้ตัวว่าสุขภาพไม่แข็งแรงสมบูรณ์ หรือมีอาการป่วยใด ๆ ก็ต้องงดการบริจาคโลหิต เพราะไม่เป็นผลดีทั้งต่อผู้บริจาคและผู้ที่ได้รับบริจาคโลหิตนั้นไป 3. หลังจากการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง หน่วยงานที่รับบริจาคจะมอบยาเม็ดบำรุงโลหิตให้ไปรับประทาน เพื่อเสริมสร้างธาตุเหล็กอันจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดใหม่ทดแทนโลหิตที่เสียไป และเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยอมรับว่า ยาเม็ดบำรุงร่างกายที่ได้รับจากการบริจาคโลหิต มีคุณภาพในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการไปบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อันเป็นศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่ ที่จะได้รับยาเม็ดบำรุงร่างกายมาถุงใหญ่ เพียงพอต่อการรับประทานเพื่อฟื้นฟูและบำรุงร่างกายจนถึงวงรอบการบริจาคโลหิตครั้งต่อไป (สามเดือน) เลยทีเดียว 4. นอกจากผลโดยตรงต่อร่างกายแล้ว การบริจาคโลหิตแต่ละครั้งยังมีผลต่อความรู้สึก ที่ก่อให้เกิดความอิ่มเอม ปลื้ม และภาคภูมิใจ กับการได้เป็นผู้สละโลหิตในกายเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่น ซึ่งเป็นความรู้สึกดียิ่งกว่าการทำทานโดยสละเงินหรือทรัพย์สินเสียอีก เพราะความรู้สึกของการบริจาคโลหิต คือ การแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในร่างกาย ที่อาจกล่าวได้ว่ามีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพื่อเป็นการส่งเสริมหรือช่วยเหลือด้านสุขภาพร่างกายหรือชีวิตของผู้รับ ความรู้สึกนี้เป็นพลังงานด้านบวก ซึ่งเป็นอารมณ์หนึ่งที่น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟิน อันเป็นสารแห่งความสุข ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการทำงานของร่างกาย จึงอาจถือได้ว่า เป็นการส่งเสริมสุขภาพร่างกายทางอ้อมอีกทางหนึ่ง จากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับพัฒนาการด้านสุขภาพ ที่เชื่อได้ว่ามีปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากการบริจาคโลหิต ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผมวางแผนในการบริจาคโลหิตต่อไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะบริจาคให้ได้จำนวนครั้งเป็นสองเท่าของอายุ เช่น เมื่ออายุ 50 จะบริจาคให้ได้จำนวน 100 ครั้ง ซึ่งแม้จะไม่อาจกำหนดได้ว่าจะทำตามเป้าหมายได้หรือไม่ เมื่อใด แต่ก็จะตั้งใจทำไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ผลดีก็เกิดแก่ตัวเราเอง แล้วยังมีผลเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนป่วยเจ็บที่ต้องการเลือดเพื่อรักษาร่างกายหรือชีวิต โลหิตที่เราแบ่งปันซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือพวกเขา ก็เป็นเหมือนการทำบุญอย่างหนึ่ง ที่เป็นพลังงานสะท้อนกลับมาหาเราให้ได้รับสุขภาพที่ดี และผมก็อยากให้พวกคุณ (ผู้อ่าน) ได้รับสุขภาพที่ดีนั้นด้วย ถ้างั้น...เรามาบริจาคโลหิตด้วยกันนะครับ ภาพประกอบ โดย 31singha ภาพปกบทความโดย David Schwarzenberg จาก Pixabay